"ประยุทธ์"หารือนายกฯญี่ปุ่น 6 ประเด็น ครอบคลุมเศรษฐกิจ - ความมั่นคง

"ประยุทธ์"หารือนายกฯญี่ปุ่น 6 ประเด็น ครอบคลุมเศรษฐกิจ - ความมั่นคง

"ประยุทธ์" หารือ นายกฯญี่ปุ่น 6 ประเด็น ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลง มุ่งยกระดับความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ไทย-ญี่ปุ่นอย่างรอบด้านและครอบคลุม พัฒนาร่วมมือทั้งอนุภูมิภาคและภูมิภาค

วันนี้ ( 2 พฤษภาคม 2565) เวลา 18.35 น. ณ ตึกสันติไมตรีหลังใน ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลง 3 ฉบับ พร้อมกล่าวถ้อยแถลงในการแถลงข่าวร่วมกับ นายคิชิดะ ฟูมิโอะ (H.E. Mr. KISHIDA Fumio) นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในโอกาสเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาลไทย ภายหลังเสร็จสิ้นการแถลงข่าวร่วม นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลง 3 ฉบับ ได้แก่ 1. หนังสือแลกเปลี่ยนว่าด้วยความร่วมมือทางการเงินระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่น 2. ความตกลงว่าด้วยการมอบยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศระหว่างรัฐบาลประเทศญี่ปุ่นกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย 3. หนังสือแลกเปลี่ยนว่าด้วยความช่วยเหลือแบบให้เปล่าของรัฐบาลญี่ปุ่นภายใต้โครงการสนับสนุนเร่งด่วนสำหรับการรับมือกับสถานการณ์โควิด-19  

ในส่วนของถ้อนแถลงนายกรัฐมนตรีกล่าวยินดีที่ได้ต้อนรับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ซึ่งมีความหมายอย่างยิ่งสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ เนื่องจากปีนี้เป็นการครบรอบ 135 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ญี่ปุ่น และเป็นช่วงที่ไทยดำรงตำแหน่งประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น ซึ่งจะครบรอบ 50 ปีแห่งมิตรภาพและความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่นในปีหน้า พร้อมทั้งเป็นปีที่ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค ทั้งนี้ จากการหารือร่วมกันระหว่างนายกรัฐมนตรีกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ทั้งสองฝ่ายได้หารือประเด็นสำคัญร่วมกัน 6 ประเด็น ดังนี้

1. การพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น นโอกาสครบรอบ 135 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตและครบรอบ 10 ปี หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทย-ญี่ปุ่นในปีนี้ ทั้งสองฝ่ายจะยกระดับความสัมพันธ์ความสัมพันธ์จาก “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” เป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน” ต่อไป

2. การเสริมสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจสู่อนาคต ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะเสริมสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับญี่ปุ่นให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยอยู่ระหว่างการจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์ร่วมด้านเศรษฐกิจในการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในระยะ 5 ปี โดยหนึ่งในประเด็นที่ทั้งไทยและญี่ปุ่นให้ความสำคัญ คือการเพิ่มความเชื่อมโยงด้าน supply chain ให้ครอบคลุมสาขาต่าง ๆ มากขึ้นตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ เช่น เศรษฐกิจ BCG เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ เทคโนโลยีการโทรคมนาคมสื่อสาร 5G ความร่วมมือในด้านปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ การพัฒนายานยนต์ที่ใช้พลังงานสะอาดและชิ้นส่วนอุปกรณ์ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และความร่วมมือด้านวิจัยและค้นคว้ารวมถึงการตั้งศูนย์ฝึกอาชีพเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประชาชนไทย

 

3. การเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูประเทศจากสถานการณ์โควิด-19 นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณรัฐบาลญี่ปุ่นที่มอบความช่วยเหลือในรูปแบบต่าง ๆ แก่ไทย โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะเสริมสร้างความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างกันให้มากขึ้นเพื่อรับมือกับโควิด-19 และโรคอุบัติใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งส่งเสริมให้ผ่อนคลายมาตรการการเข้าประเทศเป็นลำดับตามสถานการณ์โควิด-19 เพื่อให้ประชาชนของทั้งสองฝ่ายได้เดินทางไปมาหาสู่ระหว่างกันได้มากขึ้น

4. การเสริมสร้างความร่วมมือด้านกลาโหม ความมั่นคง และการยุติธรรม ทั้งสองฝ่ายยินดีที่ร่วมมือในด้านกลาโหมและความมั่นคงระหว่างไทยกับญี่ปุ่น เพื่อเสริมสร้างสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค รวมทั้งเห็นพ้องที่จะจัดทำ สนธิสัญญาว่าด้วยความช่วยเหลือซึ่งกันและกันทางอาญาเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านการยุติธรรมระหว่างกัน

5. การเสริมสร้างความร่วมมือในการพัฒนาอนุภูมิภาคและภูมิภาค ทั้งสองฝ่ายยินดีกับความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาระหว่างไทยกับญี่ปุ่น และมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความร่วมมือในด้านการพัฒนาระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในประเทศที่สาม พร้อมทั้งจะร่วมมือกันพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เพื่อส่งเสริมให้อนุภูมิภาคนี้เติบโตและก้าวไปข้างหน้าด้วยกันอย่างยั่งยืน ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ญี่ปุ่น และกรอบ ACMECS 

ในส่วนของความร่วมมือภาคใต้กรอบอาเซียน ไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่น ยืนยันความพร้อมที่จะประสานความร่วมมือในทุกด้าน ซึ่งรวมถึงการเสริมสร้างความร่วมมือในสาขาที่สำคัญภายใต้มุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (AOIP) และการเชื่อมโยงระหว่าง AOIP กับมุมมองอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างของญี่ปุ่น (FOIP) อีกทั้งนายกรัฐมนตรีได้ยืนยันความพร้อมของไทยในการเป็นที่ตั้งของศูนย์อาเซียนด้านภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ พร้อมกล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นสำหรับการสนับสนุนวาระการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปีนี้ ภายใต้หัวข้อ “Open. Connect. And Balance.” ซึ่งนายกรัฐมนตรีพร้อมที่จะต้อนรับการเยือนไทยของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นอีกครั้งในวันที่ 18-19 พฤศจิกายน นี้ เพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำเอเปค

และ 6. การเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อรับมือกับสถานการณ์ภูมิภาคและระหว่างประเทศ ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศที่สำคัญ เช่น สถานการณ์ในยูเครนและเมียนมา สำหรับสถานการณ์ในยูเครน ไทยและญี่ปุ่นย้ำถึงหลักการเคารพบูรณภาพแห่งดินแดน กฎหมายระหว่างประเทศ และกฎบัตรสหประชาชาติ โดยเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยุติการใช้ความรุนแรงและใช้ความยับยั้งชั่งใจอย่างถึงที่สุด ในส่วนของสถานการณ์ในเมียนมา ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะสนับสนุนการดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน และพร้อมร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศในการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ประชาชนทั้งชาวยูเครนและชาวเมียนมา

นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าผลการหารือในครั้งนี้สะท้อนถึงความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยและญี่ปุ่นอย่างรอบด้านและครอบคลุม พร้อมเน้นย้ำว่ารัฐบาลไทยพร้อมทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลญี่ปุ่นเพื่อสานต่อผลลัพธ์ของการเยือนครั้งนี้ให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม เพื่อประโยชน์แก่ประเทศและประชาชนไทย-ญี่ปุ่น รวมถึงภูมิภาคโดยรวมต่อไป 
 
ทั้งนี้ ภายหลังเสร็จสิ้นการแถลงข่าวร่วม นายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเยี่ยมชมนิทรรศการศิลปหัตถกรรม ณ โถงกลาง ตึกสันติไมตรี และนายกรัฐมนตรีเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ณ ตึกสันติไมตรีหลังนอก