พาณิชย์ เข้ม ราคาสินค้า หลังดีเซลลอยตัว

พาณิชย์ เข้ม ราคาสินค้า หลังดีเซลลอยตัว

“จุรินทร์” ” เข้ม "ดูแลราคาสินค้า" 18 หมวดที่ตนได้กำกับดูแลโดยใกล้ชิดยังไม่มีการอนุญาตและปรับขึ้นราคา วอนผู้ผลิตสินค้า ถ้าจะขึ้นราคาขาย ขอให้ลดส่วนต่างกำไรลงให้มากที่สุด ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคก็ยังอยู่ได้ ส่วนแก้ปัญหาอาหารสัตว์ ยังวนในอ่าง ยังถกผลประโยชน์ไม่ลงตัว

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงกรณีที่รัฐบาลอาจยกเลิกมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซล และอาจมีผลทำให้ต้นทุนการผลิต และการขนส่งปรับขึ้นราคาจนกระทบต่อราคาสินค้าว่า หากรัฐบาลยกเลิกการตรึงราคาน้ำมันดีเซลแล้ว สินค้าที่จะได้รับผลกระทบ และต้องจับตาดูเป็นพิเศษ คือ สินค้าทั้ง 18 กลุ่ม ที่ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ยังขอความร่วมมือผู้ผลิตสินค้า ให้ตรึงราคาขายอย่างต่อเนื่อง แต่หากมีต้นทุนปรับเพิ่มขึ้นจริง ได้ขอความร่วมมือผู้ผลิตว่า หากจะปรับขึ้นราคาขายปลีก ก็ขอให้ปรับเพิ่มส่วนต่างกำไรให้น้อยที่สุด หรือให้เพียงพอมีกำไร ไม่ใช่ปรับขึ้นราคาสูงมาก และได้กำไรมาก แต่ผู้บริโภคอยู่ไม่ได้

 “ต้องยอมรับว่า ขณะนี้ ต้นทุนต่างๆ ปรับเพิ่มขึ้นมาก แต่ได้ขอความร่วมมือผู้ผลิต ถ้าจะปรับขึ้นราคาขายปลีก ก็ขอให้คิดส่วนต่างกำไรน้อยที่สุด หรือขอให้เพียงพอมีกำไรบ้าง แต่ไม่ใช่ขาดทุนจนต้องหยุดผลิตสินค้า เพื่อให้ผู้บริโภคอยู่ได้ด้วย และผู้ผลิตสินค้าก็ยังทำธุรกิจต่อไปได้”

สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภค ที่จำเป็นต่อการครองชีพทั้ง 18 กลุ่มได้แก่ อาหารสด, บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป, อาหารกระป๋อง, ข้าวสารบรรจุถุง, ซอสปรุงรส, น้ำมันพืช, น้ำอัดลม, นมและผลิตภัณฑ์จากนม, เครื่องใช้ไฟฟ้า, ผลิตภัณฑ์ซักล้าง, ปุ๋ยเคมี, ยาฆ่าแมลง, อาหารสัตว์, เหล็กและผลิตภัณฑ์, ปูนซีเมนต์, กระดาษ, ยาเวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ และบริการผ่านห้างค้าปลีกค้าส่ง

ส่วนกรณีการแก้ปัญหาราคาวัตถุดิบ และอาหารสัตว์นั้น ขณะนี้ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และกรมการค้าภายใน อยู่ระหว่างการประชุมร่วม 4 ฝ่าย คือ กระทรวงเกษตร และกระทรวงพาณิชย์, ผู้ผลิตอาหาร, กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพืชไร่ ซึ่งเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ และกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นผู้ใช้อาหารสัตว์ แต่ทุกฝ่ายยังมีความเห็นขัดแย้งกันอยู่ โดยกลุ่มพืชไร่ ต้องการขายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในราคาสูงที่สุด แต่กลุ่มผู้ผลิตอาหารสัตว์ ต้องการให้ข้าวโพดราคาถูกที่สุด เพราะต้นทุนผลิตอาหารสัตว์จะได้ถูกลง และไม่ต้องขึ้นราคาขายอาหารสัตว์ ส่วนกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์ ก็ต้องการให้ราคาอาหารสัตว์ถูกที่สุด จึงยังไม่มีข้อสรุป แต่คาดว่า น่าจะได้ข้อสรุปที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันได้ในเร็วๆ นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มติเบื้องต้นของการประชุมร่วม 4 ฝ่ายล่าสุดในช่วงต้นเดือนเม.ย.65 เพื่อแก้ปัญหาราคาวัตถุดิบ และอาหารสัตว์แพง ด้วยการลดภาษีนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายใต้กรอบองค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) เป็น 0%ปริมาณ 380,000 ตัน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ เตรียมเสนอให้คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) และคณะกรรมการนโยบายอาหาร ที่มีนายจุรินทร์เป็นประธาน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ต้องนำกลับมาพิจารณาใหม่ เพราะก่อนการประชุมทั้ง 2 คณะ มีบางกลุ่มต้องการให้เพิ่มปริมาณการนำเข้าตามที่เสนอไว้ที่ 1.5 ล้านตัน รวมถึงพิจารณานำเข้าข้าวโพดจากประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลให้การประชุมทั้ง 2 คณะต้องเลื่อนออกไปจนกว่า ทั้ง 4 ฝ่ายจะหาข้อสรุปที่เป็นเอกฉันท์ได้