ภาษีทรัมป์เขย่า ‘สามเหลี่ยมการค้าแปซิฟิก’

การประกาศขึ้นกำแพงภาษีนำเข้า อย่างก้าวกระโดดของประธานาธิบดีสหรัฐ โดนัลด์ ทรัมป์ เขย่าขวัญการค้าเสรีทั่วโลก ที่ค่อยๆ พัฒนาโลกาภิวัตน์ (globalization) ทางการค้ากันมานาน
ตั้งแต่การก่อตั้งองค์กรการค้าโลก (World Trade Organization, WTO) ในปี 2538 และการขยายข้อตกลงเขตการค้าเสรี (Free Trade Agreement, FTA) ที่ผู้นำประเทศต่างๆ พบปะจับมือกัน เพื่อลดภาษีการค้าทั้งระดับทวิภาคีและพหุภาคี
โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกที่มีญี่ปุ่นเป็นจ่าฝูง บินนำในโมเดลฝูงห่านป่าบิน (Flying Geese) ถูกบังคับให้ขึ้นค่าเงินเยนแบบก้าวกระโดด หลังกระหน่ำส่งออกจนได้ดุลการค้ากับสหรัฐและยุโรปเป็นเวลานาน โดยเกิดข้อตกลงพลาซา (Plaza Accord) ในปี 2528
ทำให้ต้นทุนการผลิตและค่าแรงในญี่ปุ่นเพิ่มสูงขึ้นทันที บริษัทญี่ปุ่นต้องดำเนินกลยุทธ์ออกไปลงทุนในต่างประเทศ และส่งออกจากประเทศเหล่านั้นต่อไปยังสหรัฐ และยุโรปแทน
บริษัทญี่ปุ่นเริ่มลงทุนในเกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง และสิงคโปร์ หรือสี่เสือแห่งเอเชีย (Asia Four Tigers) ก่อน ตามด้วยอาเซียน 4 (ไทย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย)
ก่อร่างสร้างห่วงโซ่อุปทานการผลิตและการค้าที่ถูกขนานนามว่า “สามเหลี่ยมการค้าแปซิฟิก (Pacific Trade Triangle)” ในทศวรรษ 1980-1990
ประกอบด้วย ตลาดสหรัฐ และตลาดยุโรปที่ขาดดุล และตลาดเอเชียที่เร่งพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออก (industrialization) กันอย่างแข็งขัน
สามเหลี่ยมนี้ยิ่งเหนียวแน่นขึ้นเมื่อจีนเข้าเป็นสมาชิก WTO ในปี 2544 และกลายมาเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกหลัก
ไม่เพียงแต่บริษัทญี่ปุ่นเอง บริษัทเกือบทุกประเทศทั่วโลกแห่แหนกันตั้งโรงงานในจีน หวังความได้เปรียบจากต้นทุนต่ำ (ค่าแรงราคาถูก) และส่งออกไปยังตลาดสหรัฐและยุโรป จนจีนถูกขนานนามว่า “โรงงานของโลก (factory of the world)”
ซึ่งต่อมาก็มีเวียดนามกับอินเดียเข้ามาร่วมในฝูงห่านป่าบินนี้อีกด้วย
เมื่อรายได้จากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในเอเชียสูงขึ้น เกิดชนชั้นกลางและการขยายตัวของเมือง (urbanization) ตลาดผู้บริโภคเอเชียมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น ทำให้การค้าการลงทุนระหว่างเอเชียกันเอง (Asianization) ขยายตัว
จากนั้นญี่ปุ่นก็เป็นตัวตั้งตัวตีให้เกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community, AEC) ในปี 2558 เพื่อลดภาษีการนำเข้าส่งออกระหว่าง 10 ประเทศอาเซียน ที่บริษัทญี่ปุ่นมีโรงงานผลิตในทุกประเทศ สามารถปรับห่วงโซ่อุปทานการผลิตภายในอาเซียน เชื่อมโยงกับโรงงานในจีนได้สำเร็จ
งานวิจัยจำนวนมากพบว่า สินค้ารถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรและอุปกรณ์ ฯลฯ ที่ประทับตราว่า Made in China หรือ Made in Thailand เกินกว่าครึ่งหนึ่งนั้นเป็นสินค้าที่ผลิตจากบริษัทญี่ปุ่น หรือบริษัทต่างชาติที่ตั้งอยู่ในจีน ไทย หรือประเทศผู้ส่งออกนั้นๆ โดยไม่ได้มาจากบริษัทท้องถิ่นทั้งหมดเสียทีเดียว
รัฐบาลทรัมป์ก็ทราบดี จึงนอกจากจะประกาศจัดเก็บภาษีต่างตอบโต้ (reciprocal tariffs) กับจีนโดยตรงแล้ว ยังจัดเก็บภาษีกับประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐ โดยหลายประเทศในเอเชียจัดอยู่อันดับต้นๆ เรียงตามอัตราภาษีที่ประกาศออกมา
ทรัมป์ไม่พอใจการขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่องของสหรัฐ ที่มีต่อจีน แต่น่าสังเกตว่าในอดีตสหรัฐสามารถตอบโต้การได้ดุลการค้าของญี่ปุ่นได้ โดยใช้เพียงนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนให้ขึ้นค่าเงินเยนก็ได้ผลชะงัด
เพราะหลังจากนั้นญี่ปุ่นก็เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ ซึ่งเป็นผลจากค่าเงินเยนที่แข็งค่า หลังฟองสบู่แตกในปี 2537 ญี่ปุ่นก็เข้าสู่ยุคสองทศวรรษที่สูญหาย ลดศักยภาพความเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลกลงไปในพริบตา
แต่กรณีของจีน ดูเหมือนว่าจะใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนให้ขึ้นค่าเงินหยวนเท่านั้นคงไม่ได้ผล ต้องใช้มาตรการขึ้นภาษี และนโยบายอุตสาหกรรม (industrial policy) กับประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่สหรัฐ ขาดดุลการค้าด้วย
คงเป็นเพราะสมัยของญี่ปุ่นนั้น ยังไม่มีการสร้างสามเหลี่ยมการค้าแปซิฟิกข้างต้นนี้ จึงน่าติดตามต่อไปว่าสามเหลี่ยมการค้าแปซิฟิกนี้จะล่มสลายหรือไม่ หรือจะเปลี่ยนแปลงไปแบบใด
รวมทั้งสหรัฐที่เคยเป็นผู้นำการค้าเสรีโลก เชื่อมั่นในมือที่มองไม่เห็นหรือกลไกตลาดที่จะเป็นตัวกำหนดผู้ชนะและผู้เล่นในอุตสาหกรรมต่างๆ
จากความสามารถในการแข่งขันของบริษัทเอกชนที่ครอบครองเทคโนโลยีขั้นสูง และต่อต้านเอเชียตะวันออกตลอดมาว่ามักใช้นโยบายอุตสาหกรรม ชี้นำกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะพัฒนา และทุ่มทรัพยากรลงไป
โดยมีรัฐทำหน้าที่เป็นมือที่มองเห็นเลือกผู้ชนะและผู้เล่นว่าด้อยประสิทธิภาพกว่าตน
แต่ในวันนี้สหรัฐกลับใช้นโยบายอุตสาหกรรมเสียเอง เพราะนอกจากจะขึ้นภาษีแยกรายอุตสาหกรรมแล้ว ยังเข้าไปแทรกแซงกำหนดด้วยว่าใครควรหรือไม่ควรเป็นผู้เล่นในบางอุตสาหกรรมด้วย
เช่น ขัดขวาง NIPPON STEEL ของญี่ปุ่นที่มีแผนซื้อกิจการ U.S. STEEL ของสหรัฐ ด้วยธุรกิจเหล็กเป็นสัญลักษณ์สำคัญแห่งความสำเร็จของสหรัฐในอดีต
หรือบังคับให้ TikTok ซึ่งบริษัทไบต์แดนซ์ (ByteDance) สัญชาติจีนเป็นเจ้าของ จะขยายบริการแอปในสหรัฐได้ต้องมีผู้ถือหุ้นชาวอเมริกันถือหุ้นเกิน 50% เป็นต้น
(ดูเพิ่มเติมในหนังสือ “การพัฒนาอุตสาหกรรมแบบไล่กวด : เส้นทางและอนาคตของเศรษฐกิจเอเชียตะวันออก”).