ทาสทางเทคโนโลยี

ทาสทางเทคโนโลยี

อัลกอริทึมของโซเชียลมีเดียออกแบบให้ผู้ใช้เกิดอาการ “เสพติด” และใช้เวลาอยู่ในแพลตฟอร์มมากขึ้นเรื่อยๆ ท้ายที่สุดเราก็จะเปลี่ยนบทบาทการเป็นเจ้าของเทคโนโลยีมาสู่การเป็นทาสของมันอย่างที่นึกไม่ถึง

หากสำรวจแผงหนังสือ หรือค้นหาบทความที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัล เราจะพบเรื่องของความคาดหวังต่อเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ที่เข้ามาปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของเราเป็นส่วนใหญ่ ทั้งหมดจะเน้นเรื่องของการปรับตัวไปตามกระแสเทคโนโลยีและใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงนั้นให้มากที่สุด

แนวคิดดังกล่าวสะท้อนเป็นค่านิยมในสังคมที่เน้นให้ทุกคนต้องใช้เทคโนโลยีอย่างเต็มพิกัด ไม่ว่าจะเป็นในด้านการทำงาน การใช้ชีวิต รวมไปถึงเรื่องส่วนตัวที่ทำให้เราต้องพึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่เกิดมาพร้อมกับเทคโนโลยีเหล่านี้ แต่บทบาทของเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลนั้นก็นำมาซึ่งคำถามมากมาย โดยเฉพาะการเป็นเจ้าของเทคโนโลยีซึ่งหมายความว่าเราต้องเป็นคนควบคุมและตัดสินใจว่าจะใช้เวลากับเทคโนโลยีเหล่านี้อย่างไร แต่มันเป็นแบบนั้นจริงหรือ

เพราะจากสถานการณ์ปัจจุบันดูเหมือนทุกอย่างจะกลับด้านกันไปหมด นั่นคือเรากลับต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ในแต่ละวันไปตามที่เทคโนโลยีชี้นำ โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียที่เราใช้เวลากับมันหลายชั่วโมงต่อวัน ไม่ว่าจะใช้เรื่องงานหรือส่วนตัว จนดูเหมือนเราจะกลายเป็น “ทาสของเทคโนโลยี” มากกว่าจะเป็นเจ้าของเหมือนในอดีต

จะมีก็เพียงแต่กลุ่มผู้นำธุรกิจ หรือเจ้าของกิจการที่ประสบความสำเร็จเท่านั้นที่ดูจะไม่หวั่นไหวไปตามกระแสเทคโนโลยีดังกล่าว นั่นคือจำกัดการใช้งานเท่าที่จำเป็นเพราะพวกเขารู้ว่าทรัพยากรที่สำคัญที่สุดและจะไม่มีวันปล่อยให้เทคโนโลยีเข้ามาแย่งชิงไปโดยเด็ดขาด 

นั่นคือ “เวลา” ไม่มีใครปฏิเสธบทบาทของเทคโนโลยีดิจิทัลที่กลายเป็นแรงขับเคลื่อนธุรกิจสมัยใหม่ รวมถึงเทคโนโลยีการสื่อสารที่เปลี่ยนโฉมไปอย่างมหาศาล จนทุกวันนี้เราสามารถติดต่อกับผู้คนจากทั่วโลกผ่านแอพพลิเคชันมากมายโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศอีกต่อไป

แต่แอปพลิเคชันเหล่านั้นก็ทวีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นซูเปอร์แอพและดึงดูดให้เราใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับแอพเหล่านี้มากขึ้นทุกวันนหลาย ๆ คนมีข้อความผ่านไลน์หรือว็อทแอปส์วันละเป็นพันข้อความ ไม่ต่างอะไรกับอีเมลในอดีต ข้อความที่ส่งมาเหล่านี้ปะปนกันทั้งข้อความที่สำคัญและจำเป็นจริง ๆ กับข้อความที่ส่งต่อ ๆ กันมาเฉย ๆ โดยไม่มีความสลักสำคัญอะไร แต่สำหรับผู้รับที่จำเป็นต้องแยกแยะว่าอะไรจำเป็นหรือไม่จำเป็นนั้น

ต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงต่อวันจนกระทบเวลาการทำงานโดยไม่รู้ตัว คนที่เข้าใจปัญหาดังกล่าว จะไม่ยอมปล่อยให้ตัวเองอยู่ในวังวนเหล่านั้นแต่จะหาวิธีจัดการที่มีประสิทธิภาพ และใช้เทคโนโลยีสื่อสารอย่างเฉพาะเจาะจงและไม่ยอมเสียเวลาไปกับเทคโนโลยีอย่างโซเชียลมีเดียเป็นอันขาด เพราะเขารู้ดีว่าอัลกอริทึมของโซเชียลมีเดียนั้นออกแบบให้ผู้ใช้เกิดอาการ “เสพติด” และใช้เวลาอยู่ในแพลตฟอร์มของเขาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นการใช้งานแทบจะทั้งวัน เพราะมีเรื่องให้อยากรู้สื่อออกมาในฟีดให้เห็นตลอดทั้งวัน

การอยากรู้อยากเห็นเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่เราปฏิเสธไม่ได้ แต่การปล่อยตัวไปตามสัญชาติญาณจะทำให้เราต้องเสียเวลาไปกับเรื่องไม่เป็นเรื่องมากขึ้นทุกขณะ และกลายเป็นการเสพติดที่ทำให้เราใช้เวลากับผู้คนรอบข้างน้อยลง ๆ โดยไม่รู้ตัว

ท้ายที่สุดเราก็จะเปลี่ยนบทบาทการเป็นเจ้าของเทคโนโลยีมาสู่การเป็นทาสของมันอย่างที่นึกไม่ถึง ทั้งที่เดิมคิดว่ามันมีอยู่เฉพาะในนิยายวิทยาศาสตร์เท่านั้น...

แล้วเราจะต้องทำอย่างไรเพื่อเปลี่ยนบทบาทให้กลับไปเหมือนเดิม ติดตามต่อในฉบับหน้าครับ