'ก้าวไกล' แค่ประคองตัวไว้ 'ทักษิณ' จะช่วยหาเสียงเอง

'ก้าวไกล' แค่ประคองตัวไว้ 'ทักษิณ' จะช่วยหาเสียงเอง

การเมืองช่วงต้นปี 2567 หลังส่งท้ายปีเก่าแบบไม่มีอะไรให้ลุ้นแล้ว ถือว่าน่าติดตาม และอาจมีอะไรให้ตื่นเต้นกันอยู่พอสมควร

แม้ว่ายังไม่อาจคาดเดาว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม แต่อย่างน้อย กรณีศาลรัฐธรรมนูญ นัดฟังคำวินิจฉัยคดี พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ถือหุ้นสื่อหรือไม่ ในวันที่ 24 มกราคม 2567 เวลา 14.00 น. และ นัดฟังคำวินิจฉัยคดี “พิธา-ก้าวไกล” หาเสียงแก้ 112 วันที่ 31มกราคม 2567 เวลา 14.00 น. โดยเฉพาะคดีหลัง โทษอาจถึง “ยุบพรรค” แค่นี้ก็น่าจะทำให้ลุ้นระทึกได้แล้ว

ก่อนที่จะไปถึงสองคดีดังกล่าว มาดูสถานการณ์ปัจจุบันของพรรคก้าวไกล หลังเจอมรสุมการเมืองแทบจะรายวันมาช่วงหนึ่ง กรณีสส.พรรค และสมาชิกพรรคมีพฤติกรรมคุกคามทางเพศ ขณะเดียวกัน ยังมีปัญหาภายในในการพิจารณาลงโทษที่ไม่เท่าเทียม หรือ “อุ้มบางคน” เกิดขึ้น ทั้งหมดล้วนส่งผลกระทบต่อพรรคก้าวไกลไม่มากก็น้อย

แต่ที่เหลือเชื่อ และมันเกิดขึ้นแล้ว ก็คือ ผลสำรวจความคิดเห็นของ “นิด้าโพล” หรือ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2566 พบว่า

ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงสนับสนุน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี ชนิดคะแนนนิยมของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร รวมกัน ยังไล่ไม่ทัน

ส่วนพรรคการเมือง ที่ประชาชนนิยมสูงสุดก็ยังคงเป็น พรรคก้าวไกล ได้คะแนนนิยมนำมาเป็นอันดับ 1 เช่นกัน กล่าวคือ เมื่อถามถึงบุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้

อันดับ 1 ร้อยละ 39.40 ระบุว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (พรรคก้าวไกล) เพราะมีความเป็นผู้นำ เป็นคนรุ่นใหม่ วิสัยทัศน์ดี บุคลิกดี และเข้าถึงประชาชน

อันดับ 2 ร้อยละ 22.35 ระบุว่า นายเศรษฐา ทวีสิน (พรรคเพื่อไทย) เพราะมีความรู้ความสามารถ ตรงไปตรงมา และชื่นชอบพรรคเพื่อไทย

อันดับ 3 ร้อยละ 18.60 ระบุว่า ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้

อันดับ 4 ร้อยละ 5.75 ระบุว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย) เพราะเป็นคนรุ่นใหม่ ชื่นชอบพรรค นโยบายพรรคเพื่อไทย และชื่นชอบผลงานในอดีตของตระกูลชินวัตร....

ส่วนถามถึงพรรคการเมืองที่ประชาชนจะสนับสนุนในวันนี้

อันดับ 1 ร้อยละ 44.05 ระบุว่า พรรคก้าวไกล

อันดับ 2 ร้อยละ 24.05 ระบุว่า พรรคเพื่อไทย

อันดับ 3 ร้อยละ 16.10 ระบุว่า ยังหาพรรคการเมืองที่เหมาะสมไม่ได้

อันดับ 4 ร้อยละ 3.60 ระบุว่าเป็น พรรคประชาธิปัตย์

อันดับ 5 ร้อยละ 3.20 ระบุว่า พรรครวมไทยสร้างชาติ....

เห็นได้ชัดว่า กระแสความนิยมพรรคก้าวไกล ซึ่ง การเลือกตั้งทั่วไป ที่ผ่านมา ได้ที่นั่งส.ส. 151 ที่นั่ง ชนะมาเป็นอันดับ 1 ก็ยังคงมีคะแนนนิยมติดลมบน ชนิดทิ้งห่างคู่แข่งสำคัญอย่างพรรคเพื่อไทย ซึ่งเลือกตั้งที่ผ่านมาได้ 141 ที่นั่ง ตามติดมาเป็นอันดับ 2 อย่างไม่เห็นฝุ่น

เมื่อเป็นเช่นนี้ ไม่แต่พรรคเพื่อไทยเท่านั้น ทุกพรรคที่ร่วมรัฐบาลจะประมาทไม่ได้ และต้อง “พิสูจน์ฝีมือ” ชนิดสร้างผลงานลืมตายเท่านั้น จึงจะมีสิทธิ์ต่อสู้ ไม่เช่นนั้น พรรคก้าวไกลกอบโกยที่นั่งส.ส.เป็นว่าเล่นแน่

แต่ก็อย่างที่เกริ่นเอาไว้แต่ต้น ไม่ว่าจะอย่างไร พรรคก้าวไกล จะต้องผ่านด่าน “อรหันต์” สองด่านสำคัญไปให้ได้ก่อน ถ้าไม่สะดุดจนถึงขั้น “ยุบพรรค” ก็มีสิทธิ์ลุ้นกันไปยาวๆจนถึงเลือกตั้งครั้งหน้า

ด่านแรก เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญนัดไต่สวนพยานบุคคล กรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งคำร้องขอให้พิจารณาวินิจฉัย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อสารมวลชนใดๆ อยู่ในวันที่สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ เป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส. ของ “พิธา” สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) หรือไม่

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย และสั่งให้ “พิธา” หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. นับตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย

ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะนัดเข้ารับฟังคำวินิจฉัยในวันที่ 24 มกราคม 2567 เวลา 14.00 น.

ด่านที่สอง เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2566 ศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาคดีที่สำคัญและเป็นที่สนใจ กรณีนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร(ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ว่า การกระทำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้องที่ 1) และพรรคก้าวไกล (ผู้ถูกร้องที่ 2) ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. เพื่อยกเลิกประมวล กฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่

โดยวันเดียวกันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญไต่สวนพยาน รวม 2 ปาก คือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และนายชัยธวัช ตุลาธน โดยตอบข้อซักถามของศาลและของคู่กรณี คดีเป็นอันเสร็จการไต่สวน ศาลนัดแถลงการณ์ด้วยวาจา ประชุม ปรึกษาหารือ และลงมติในวันพุธที่ 31มกราคม 2567 เวลา 09.30 น. และนัดฟังคำวินิจฉัยเวลา 14.00 น.

ที่น่าสนใจไปกว่านั้น คือบทลงโทษ กรณีที่เห็นสมควรศาลรัฐธรรมนูญจะสั่งให้พรรคการเมืองระงับการกระทําใดไว้เป็นการชั่วคราวตามคําร้องขอของคณะกรรมการ นายทะเบียน หรืออัยการสูงสุด แล้วแต่กรณีก็ได้ ทั้งนี้ หากศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุบพรรคการเมืองใดแล้ว ให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นด้วย โดยไม่ได้กำหนดเวลาว่าให้ตัดสิทธิเป็นเวลานานเท่าใด หากพรรคการเมืองใดถูกยุบพรรค ให้คณะกรรมการบริหารพรรคที่ถูกยุบห้ามไปจดทะเบียนพรรคการเมืองใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคหรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคใหม่ ภายในเวลา 10 ปี หลังวันที่มีคำสั่งยุบพรรค

นี่คือ สิ่งที่คนไทย ก็เฝ้าติดตามไปด้วยกัน เพราะไม่ว่า ผลจะออกมาอย่างไร ล้วนส่งผลถึงการเมืองอย่างไม่ต้องสงสัย

นอกจากนี้ นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน ยังกล่าวถึงทิศทางการเมืองในปีหน้า เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า คิดว่าการเมืองปีหน้า ประชาชนกำลังเฝ้ารอการทำงานของรัฐบาลว่าจะมีความชัดเจน มีทิศทางที่ประชาชนจับต้องได้เป็นรูปธรรมอย่างไร ต้องยอมรับว่า 3 เดือนที่ผ่านมา การทำงานของรัฐบาลยังดูค่อนข้างที่จะสะเปะสะปะ ไร้ทิศไร้ทาง หลายสิ่งที่พูดไว้ยังไม่เห็นแผนงาน และเป้าหมายที่เป็นรูปธรรม สำหรับฝ่ายบริหาร ประชาชนก็ต้องคาดหวังรูปธรรมในการทำงานมากกว่านี้

“ดังนั้น ถ้ารัฐบาลไม่สามารถที่จะผลักดันผลงานของตัวเอง ทำให้ประชาชนพอใจ ก็จะส่งผลกระทบต่อความนิยมของรัฐบาลด้วย ยังไม่ต้องนับว่า นโยบายเรือธงที่ยังไม่มีความชัดเจนว่า ในอนาคตจะสามารถดำเนินการได้สำเร็จหรือไม่ อย่างนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งจนถึงวันนี้ความชัดเจนก็ไม่มี ล่าสุดก็บอกว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาจะให้ความชัดเจนในปีหน้า ก็เป็นความท้าทายของรัฐบาล ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความนิยมของประชาชนอย่างแน่นอน”

ที่สำคัญ “ชัยธวัช” ชี้ว่า ประเด็นที่มีนัยสำคัญอย่างปฏิเสธไม่ได้คือ กรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็นการใช้สิทธิในการรักษาพยาบาลที่ รพ.ตำรวจ นำไปสู่คำถามว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นไปอย่างถูกต้องหรือไม่ตามหลักเกณฑ์ ตามระเบียบของกรมราชทัณฑ์หรือไม่ ถือว่าเป็นการได้รับการปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานที่เหนือกว่ากรณีทั่วไปหรือไม่ รวมถึงความไม่ชัดเจนว่าระเบียบราชทัณฑ์ใหม่ที่อนุญาตให้มีการควบคุมตัวผู้ต้องขังนอกเรือนจำได้ ซึ่งหลักการใหญ่เป็นเรื่องที่ดี ควรจะสนับสนุน แต่เรื่องนี้ เท่าที่เราเห็นระเบียบที่ออกมา มีการให้อำนาจของเจ้าหน้าที่ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ในการพินิจว่าใครจะได้รับสิทธิบ้าง พอไม่มีหลักเกณฑ์ชัดเจนก็เลยกลายเป็นใช้อำนาจโดยดุลยพินิจ ทำให้คนตั้งข้อสังเกตว่าเอื้อประโยชน์ให้คนที่มีเส้นสาย คนที่มีอิทธิพลทางการเมือง หรือคนที่มีฐานะหรือไม่

รวมถึงตัวนายทักษิณก็จะเป็นปัจจัยสำคัญในต้นปีด้วยว่า ถ้าเกิดกรณีที่ทำให้ประชาชนรู้สึกว่า เกิดกระบวนการยุติธรรมแบบอภิสิทธิ์ชนขึ้นมา ก็น่าจะส่งผลต่อรัฐบาลเช่นกัน

“จะเห็นว่าตอนนี้รัฐบาลถูกถามทุกวันเรื่องนี้ เพราะฉะนั้น ดีที่สุด รัฐบาลควรให้คำตอบ ควรชี้แจงเรื่องนี้ให้ชัดเจนให้สิ้นสงสัยให้หมด ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่รักษาตัวอยู่ที่ รพ.ตำรวจ ทำถูกทุกอย่าง และบอกได้ว่าไม่เป็นการใช้อภิสิทธิ์ทางการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น และกรณีที่จะมีการพิจารณาผู้ต้องขังที่จะไปคุมตัวนอกเรือนจำ จะไม่เอื้อประโยชน์ต่อคนใดคนหนึ่ง ถ้ารัฐบาลยังตอบเรื่องนี้ไม่ชัดเจน มันก็จะเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวได้”

ความจริง สิ่งที่หลายสำนักวิเคราะห์เห็นตรงกัน หลังจากรัฐบาลเศรษฐา และพรรคเพื่อไทย ได้อำนาจมาแบบ “ส้มหล่น” รวมทั้งเสียคะแนนนิยมกรณีตระบัดสัตย์ ร่วมรัฐบาลกับฝ่ายที่ตัวเองหาเสียงโจมตีมาตลอดว่าเป็นเผด็จการ แถมแกนนำพรรค ยังตั้งข้อรังเกียจที่จะร่วมรัฐบาลกับพรรค “2 ลุง” ท่ามกลางกระแสข่าว “ดีลลับ” นำ “ทักษิณ” กลับไทย ก็คือ รัฐบาลเศรษฐา และพรรคเพื่อไทย จะพลาดไม่ได้แม้แต่นิดเดียว ไม่ว่าเรื่องอะไร ก็ตาม

เพราะผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า กระแสความนิยมพรรคเพื่อไทย ไม่เหมือนเดิม อย่าลืมว่า พรรคเพื่อไทย เทหมดหน้าตักแล้ว ในการหาเสียง นับแต่ “ทักษิณ” เคลื่อนไหวปลุกกระแสผ่าน “คลับเฮาส์” “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร โดดลงมาเล่นเป็น “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” ในฐานะเป็นตัวแทน “ทักษิณ” คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ปรากฏตัวสนับสนุน “อุ๊งอิ๊ง” อย่างไม่เคยมีมาก่อน และได้นายเศรษฐา ทวีสิน นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชื่อดังผู้ประสบความสำเร็จอย่างสูง มาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี อีกคน

แถมซื้อใจประชาชนด้วย นโยบาย แจกเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ให้กับคนอายุ 16 ปีขึ้นไป ซึ่งใช้งบประมาณจำนวนมหาศาล ด้วยสโลแกน “คิดใหญ่ ทำเป็น”

แต่ปรากฏว่า ผลการเลือกตั้งที่ออกมา ได้อันดับ 2 รองจากพรรคก้าวไกล ซึ่งได้ที่นั่งส.ส.ห่างกันถึง 10 ที่นั่ง

ขณะที่พรรคก้าวไกล ยังคงหาเสียงตามแนวทางของตัวเอง คือ เน้นเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โครงสร้างอำนาจ ยึดมั่นในจุดยืน ส่วนที่เป็นประชานิยมสูง มีเพียงปรับเบี้ยผู้สูงอายุ เป็น 3,000 บาท ถ้วนหน้า

ไม่เพียงเท่านั้น ผู้สมัครส.ส.ของพรรคส่วนใหญ่ ก็ไม่ใช่ อดีตส.ส. คนเด่นคนดัง อย่างที่หลายพรรคสรรหา หลายคนเพิ่งลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส.ครั้งแรกด้วยซ้ำ  

แต่ปรากฏว่า ผลการเลือกตั้งออกมาเหนือความคาดหมาย ชนะพรรคเพื่อไทย ที่ตั้งเป้าชนะแบบ “แลนด์สไลด์” หรือ ถล่มทลาย ได้ส.ส.กว่า 300 เสียง อย่างไม่คาดฝัน

นี่คือ ฝันร้ายที่พรรคเพื่อไทย ไม่อาจลืมเลือนได้ ไม่อาจผิดพลาดอีก ไม่อาจทำผิดเป็นครั้งที่สอง หรือสาม

แต่ดูเหมือนว่า การกลับไทย และอยู่อย่างนักโทษเทวดา ของ “ทักษิณ” การไม่ “ยี่หระ” ต่อกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า ทำตัวเป็น “อภิสิทธิ์ชน” ใช้อำนาจบารมีเพื่อตัวเอง จนบางคนเริ่มนึกถึงการคืนชีพของ “ระบอบทักษิณ” ซึ่งลุแก่อำนาจ กำลัง “ตอกย้ำ” สิ่งผิดหรือไม่

หลายคนอดคิดไม่ได้ว่า ถ้า “อาปู” ยิ่งลักษณ์ กลับมา ถ้า “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ต่อจาก “เศรษฐา” จะด้วยเหตุอะไรก็ตามแต่ กระแสพรรคก้าวไกลจะไม่ยิ่งน่ากลัวกว่าที่เป็นอยู่หรือ

 

เอาไปเอามา พรรคก้าวไกลอาจไม่ต้องทำอะไรมาก แค่ประคองตัวเองเอาไว้ “ทักษิณ” และระบอบทักษิณ ที่ทำท่าจะเติบใหญ่ ก็จะช่วยหาเสียงให้เอง รอก็แค่ “แลนด์สไลด์” ตั้งรัฐบาลพรรคเดียวเท่านั้น หรือใครคิดว่าเป็นไปไม่ได้!?