เช็คลิสต์ ‘อาวุธยุทโธปกรณ์’ หมดอายุ  งบ 3 เหล่าทัพ ล่อเป้าการเมือง

เช็คลิสต์ ‘อาวุธยุทโธปกรณ์’ หมดอายุ  งบ 3 เหล่าทัพ ล่อเป้าการเมือง

งบประมาณประจำปี 2567 "กลาโหม" ตกเป็นเป้าสำคัญของฝ่ายการเมืองจ้อง หั่น ลด งบฯจัดซื้อ "อาวุธยุทโธปกรณ์"ของกองทัพ ต้องจับตาว่าจะทำได้มากน้อยเพียงใด

ปัญหางบประมาณประจำปี 2567 ล่าช้าและความจำเป็นของรัฐบาลต้องนำเงินไปใช้ช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยพิบัติ ทั้ง น้ำท่วม ไฟป่า โดยเฉพาะภัยแล้งที่คาดว่าจะยาวนานและรุนแรงในรอบหลายปี  รวมถึงนโยบายดิจิทัลวอเล็ต 10,000 บาท ส่งผลให้การจัดซื้อ"อาวุธ-ยุทโธปกรณ์" ของ "กองทัพ" ต้องเลื่อนออกไป โดยส่วนใหญ่เน้นซ่อมบำรุง อัพเกรด 

เดิมที "กองทัพบก" มีแผนจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์แบล็กฮอว์ค (Black Hawk)  จำนวน 3 ลำ ในรูปแบบโครงการความช่วยเหลือทางทหารระหว่างกองทัพบกไทยกับกองทัพบกสหรัฐฯ (Foreign Military Sales – FMS) เป็นโครงการจัดหาต่อเนื่องตามความจำเป็น

แต่สหรัฐฯต้องการนำเงินไปวางมัดจำไว้ก่อน จึงไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากความล่าช้าของ งบประมาณประจำปี 2567 ส่งผลให้ในปีนี้กองทัพบกไม่มีการจัดซื้ออาวุธ-ยุทโธปกรณ์ โครงการใหญ่ โดยจะเน้นวิธีการซ่อมบำรุงยืดอายุการใช้งาน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อภารกิจหลักของกองทัพ

ไม่ต่างกับ "กองทัพอากาศ" ที่มีการขยับการจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ฝูงใหม่ไปในปีงบประมาณ 2568 เพื่อทดแทนเครื่องบิน F-16 ที่จะทยอยปลดประจำการและสิ้นสุดอายุการใช้งานปี 2572 

สำหรับปีนี้มีโครงการใหญ่คือ การอัพเกรดโครงสร้างและหน้าปัดเครื่องบิน C - 130 ที่ใช้งานมากว่า 40 ปี ให้ยืดอายุใช้งานไปอีก 10 ปี

โดยเน้นปรับปรุงเครื่องยนต์ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับนักบินและผู้โดยสาร ประมาณ 30 เครื่องยนต์ (เครื่อง C-130 จำนวน 1 เครื่อง มี 4 เครื่องยนต์ ได้ประมาณ 7 เครื่อง) ซึ่งหากไม่รีบดำเนินการจะหาซื้ออะไหล่ไม่ได้ในอนาคต  

รวมถึงการจัดหาเรดาร์ป้องกันทางอากาศ ทดแทนของเดิมที่หมดอายุจากการใช้งาน ซึ่งปกติเรดาร์ป้องกันทางอากาศ มีอายุการใช้งานประมาณ 10-20 ปี แต่ปัจจุบัน กองทัพอากาศใช้งานมาแล้ว 25 ปี และกว่าจะมีการตรวจรับเครื่องใหม่ ซึ่งการติดตั้ง รวมขั้นตอนกระบวนการจัดหาต้องใช้เวลาอย่างต่ำ 3 ปี 

ทว่า เหล่าทัพที่จะกลายเป็นตำบลกระสุนตก คงหนีไม่พ้น "กองทัพเรือ" ที่ปัญหาเรือดำน้ำขาดเครื่องยนต์ยังคาราคาซัง หลังทำหนังสือสอบถามไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด 3 ข้อ ควบคู่ไปกับการทำหนังสือแจ้งเตือนไปยังบริษัท CSOC ของจีนต้องส่งมอบงาน 30 ธ.ค.2566 ที่ผ่านมา พร้อมขอสงวนสิทธิ์เรียกค่าปรับ 10%

และปีนี้ กองทัพเรือมีรายการจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์ 3 รายการ แบ่งเป็นจัดหาปีเดียว และโครงการงบผูกพัน คือเรือฟริเกต สมรรถนะสูง 1 ลำ ประมาณ 17,000 ล้านบาท (งบผูกพัน 3 ปี) ตามแผนยุทธศาสตร์กองทัพเรือซึ่งต้องมีเรือฟริเกต 8 ลำ ในปี 2580 เพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน

โดยปัจจุบัน กองทัพเรือมีเรือฟริเกตใช้หมุนเวียนปฏิบัติงาน 2 ฝั่งอ่าวไทยเพียง 3 ลำ ประกอบด้วย เรือหลวงภูมิพล เรือหลวงตากสิน เรือหลวงนเรศวร จากเดิมมี 5 ลำ แต่เรือหลวงกระบุรี และเรือหลวงสายบุรี โซนาร์ใช้ไม่ได้ จึงปรับภารกิจจากเรือฟริเกตให้เป็นเรือโอพีวี หรือเรือตรวจการณ์ไกลฝั่งแทน

นอกจากนี้ กองทัพเรือยังติดระบบอาวุธในเรือหลวงช้าง ที่เพิ่งรับมอบไปเมื่อปี 2566 เพื่อทำหน้าที่เป็นเรือพี่เลี้ยงเรือดำน้ำ และเรือบัญชาการในการสนับสนุนการยกพลขึ้นบกอีกจำนวน 950 ล้านบาท และการปรับปรุงเรือหลวงปัตตานี วงเงิน 400 กว่าล้านบาท 

"ปัจจุบันเรือรบของเรา ที่จัดหากันมา มีสภาพเก่าทรุดโทรมมากแล้ว เช่น เรือหลวงเจ้าพระยา เรือหลวงสายบุรี เป็นกลุ่มเรือที่มาพร้อมกับเรือนเรศวรฯ ซึ่งปัจจุบันมีอายุกว่า 30 ปีแล้ว เราจำเป็นต้องมีเรือใหม่มาทดแทน ปัจจุบันเราใช้เรือเก่าและซ่อมอยู่ ในปี 2580 เราต้องการเรือฟริเกต 8 ลำ ดังนั้นหากได้เพิ่มมาอีก 1 ลำในปีงบประมาณ 2567 นี้ก็จะเป็นการเพิ่มเขี้ยวเล็บให้กับกองทัพเรือ

เหตุผลที่กองทัพเรือต้องการเรือฟริเกตและอยากจะชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบ เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่มีน่านน้ำ 2 ฝั่ง อันดามันและอ่าวไทย จึงจำเป็นต้องมีเรือประจำการไว้ทั้งสองฝั่ง เพราะเราไม่รู้ว่าปัญหาจะเกิดขึ้นฝั่งไหน เราไม่สามารถโยกเรือไปได้ดั่งใจ จึงทำให้เรือถูกแบ่งเป็น 2 ฝั่ง" พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผบ.ทร.ระบุ

ทั้งนี้ต้องยอมรับว่า "อาวุธ-ยุทโธปกรณ์" ของ 3 เหล่าทัพ อยู่ในสภาพบักโกรกเต็มที ที่ผ่านมามีการซ่อมบำรุง อัพเกรดยืดอายุการใช้งาน ภายใต้การบริหารงบประมาณที่มีจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

จึงต้องจับตาว่า ในงบประมาณประจำปี 2567 กระทรวงกลาโหม ภายใต้การกำกับดูแล "สุทิน คลังแสง" รมว.กลาโหม ซึ่งตกเป็นเป้าสำคัญของฝ่ายการเมืองจ้อง หั่น ลด งบฯจัดซื้ออาวุธ-ยุทโธปกรณ์ของกองทัพ จะทำได้มากน้อยเพียงใด