คุยโวหรือนโยบาย | บวร ปภัสราทร

คุยโวหรือนโยบาย | บวร ปภัสราทร

ทุกกิจการมีแนวทางที่ใช้เป็นหลักในการดำเนินงาน ตั้งแต่การตั้งเป้าหมาย การตัดสินใจ ไปจนกระทั่งการลงมือทำงานให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้นั้น ซึ่งมักปรากฏให้เห็นในรูปแบบของนโยบาย

ใครที่อาสามาเป็นผู้บริหารดูแลกิจการใดมักจะต้องป่าวประกาศนโยบายที่จะใช้ขับเคลื่อนกิจการนั้นให้ผู้คนได้รับทราบ  

แต่ในหลากหลายสถานการณ์กลับมีความพยายามสร้างความคาดหวังที่เกินเลยความจริงให้กับผู้คน จนกระทั่งนโยบายหรือแนวทางที่จะใช้ขับเคลื่อนองค์กรนั้นเกินเลยไปเป็น “คำคุยโว” ที่ยากที่จะประสบความสำเร็จขึ้นมาได้จริง 

นโยบายที่นำเสนอนั้นกลายเป็นเพียงถ้อยคำแห่งความใฝ่ฝัน มากกว่าที่จะเป็นแนวทางที่นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ปรากฏขึ้นได้เป็นรูปธรรม ประเมินความสำเร็จได้จริง การแข่งขันในเรื่องนโยบายในหลายวงการ จึงกลายเป็นการแข่งขันประดิษฐ์ความใฝ่ฝันมาเสนอให้ผู้คนฝันหวานไปกับถ้อยคำเหล่านั้น

นโยบายที่ไม่ใช่คำคุยโว นโยบายนั้นต้องมีความชัดเจนว่าจะทำให้เกิดอะไรกับใคร ผลลัพธ์ที่ต้องการให้เกิดขึ้นต้องประเมินความสำเร็จได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยมีกรอบเวลาที่แน่นอน ต้องบอกได้ด้วยว่านโยบายนั้นตอบโจทย์ความต้องการใดของผู้คนที่เกี่ยวข้องกับกิจการนั้น 

ถ้าเป็นนโยบายสำหรับประเทศ จะต้องบอกได้ชัดเจนว่านโยบายนั้นเกิดผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์อย่างใดกับผู้คนกลุ่มใด ผลลัพธ์นั้นไปช่วยลดปัญหาใด หรือไปเสริมจุดเด่นใดให้กับผู้คน 

นโยบายที่ไม่ใช่คำคุยโวต้องเสนอประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับผู้คนอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ใช่แค่ป่าวประกาศนโยบายแจกบ้าง ลดบ้าง เติมบ้างโดยไม่บอกให้ชัดว่าผลลัพธ์จากการดำเนินการตามนโยบายนั้นจะนำไปสู่ประโยชน์อย่างไรกับใคร

นโยบายที่ดีจึงเน้นไปที่ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นกับผู้คน คำคุยโวที่ดีเป็นแค่ถ้อยคำว่าจะทำอะไรที่ถูกอกถูกใจผู้คนเท่านั้น

เมื่อมีความชัดเจนในเรื่องผลลัพธ์ของนโยบายนั้นว่าจะให้ประโยชน์อย่างใดกับใครแล้ว ต้องบอกต่อไปด้วยว่าจะทำตามหรือไม่ทำตามนโยบายนั้นแล้วจะมีความเสี่ยงใดๆ เกิดขึ้นมาบ้าง ไม่ทำจะเสี่ยงในเรื่องการเสียโอกาสหรือไม่ ทำแล้วจะเสี่ยงกับอุปสรรคต่างๆ ที่มาขัดขวางไม่ให้ทำสำเร็จบ้างหรือไม่ ความเสี่ยงที่ตามมากับนโยบายนั้นมีโอกาสเกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน 

หากเกิดขึ้นแล้วผลกระทบจะมากน้อยเพียงใด ผู้คนจะได้ตระหนักไว้ล่วงหน้าว่าสรรพสิ่งที่ได้มาจากนโยบายนั้น มาพร้อมกับความเสี่ยงที่คุ้มหรือไม่ที่จะเสี่ยง ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นอาจมีเยอะแยะ แต่มีความเสี่ยงกับความเสียหายมหาศาลที่อาจเกิดขึ้นตามมา 

เมื่อทราบกันดีว่าทุกนโยบายมีความเสี่ยงทั้งสิ้น คนเสนอนโยบายต้องเปิดเผยทั้งผลดีและความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น อย่าทำให้นโยบายกลายเป็นคำคุยโวโดยบอกแค่ผลดีให้ฟัง แต่ไม่ได้บอกว่ากำลังเสี่ยงกับอะไรอยู่บ้าง

ทุกนโยบายต้องการทรัพยากรในการดำเนินการ นโยบายที่ดีต้องบอกได้ชัดเจนว่าความสำเร็จตามนโยบายนั้นจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อองค์กรนั้นต้องมีทรัพยากรอะไรบ้าง อย่างน้อยที่สุดนโยบายที่ป่าวประกาศต้องมาพร้อมกับการประกาศเงินทองที่ต้องใช้ในการดำเนินการตามนโยบายนั้น 

ถ้าเป็นคำคุยโวจะมีแค่บอกว่าจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ไม่ได้บอกกันชัดๆ ว่าจะต้องใช้ทรัพยากรใดบ้าง และทรัพยากรที่ต้องการนั้นจะมาจากที่ใด รวมทั้งนโยบายนั้นต้องการบุคลากรจำนวนมากน้อยแค่ไหน แต่ละคนต้องเก่งอะไรบ้าง

เพื่อให้มั่นใจได้ว่ามีเงิน มีคนพร้อมที่จะเดินหน้านโยบายนั้นได้จริง ตรงข้ามกับการคุยโวที่จะไม่พบการกล่าวถึงทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นเงิน หรือคนให้รับรู้กันเลย

ที่น่าสังเกตเพิ่มเติมในเรื่องทรัพยากรคือ นโยบายที่เสนอมานั้นทำให้มีการใช้ทรัพยากรที่เกินเลยที่ควรจะแบกรับหรือไม่ ทำให้ต้องใช้เงินทุนมากเกินว่าที่เกิดความคุ้มค่าสำหรับผลลัพธ์ที่จะได้มาหรือไม่

ในขณะที่บางนโยบายอาจส่งผลให้เกิดความซ้ำซ้อนของทรัพยากร เป็นนโยบายที่ทำให้มีการลงทุน ลงแรงที่ซ้ำซ้อนกับที่มีอยู่แล้วหรือไม่

นโยบายฟังแล้วต้องรู้ว่าจะได้ผลลัพธ์ใดเพื่อประโยชน์ใดกับใคร เสี่ยงแค่ไหน คุ้มหรือไม่กับทรัพยากรที่ต้องลงทุนไป แต่คุยโวเป็นแค่การขายฝันในนามว่านโยบายเท่านั้น