ปูติน-เมดเวเดฟ VS ประยุทธ์-ประวิตร | กันต์ เอี่ยมอินทรา

ปูติน-เมดเวเดฟ VS ประยุทธ์-ประวิตร | กันต์ เอี่ยมอินทรา

เปรี้ยง ๆ ดังยิ่งกว่าเสียงฟ้าฟาด เมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องกรณีกำหนดเวลา 8 ปีของตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อมกับมีคำสั่งให้นายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที ส่งผลให้รองนายกฯ อันดับ 1 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการในตำแหน่งผู้นำฝ่ายบริหารโดยพลัน

คำสั่งนี้ส่งให้บ้านเมืองที่ย่ำแย่อยู่แล้วมีความไม่มั่นคงมากขึ้นไปอีก ไทยที่อยู่ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากโควิด-19 และผลพวงจากการสู้รบในยูเครน ยังต้องมาประสบพบเจอกับปัญหาความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองอีก สมการนี้คนที่ขาดทุนที่สุด ก็คือประเทศชาติและประชาชน

ในโลกประชาธิปไตยเต็มใบที่ประชาชนฝักใฝ่ในระบบกฎหมาย หลักนิติรัฐ สิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาคเท่าเทียม มักไม่ค่อยเจอวิกฤติทางการเมืองในทำนองนี้ไม่เพียงเพราะความชัดเจนในตัวบทกฎหมาย แต่ยังมีความเข้มแข็งของภาคประชาสังคมและยางอายของนักการเมืองที่ส่งผลให้ไม่เกิดปัญหาทำนองนี้

เรียกได้ว่าน้อยมากหรือแทบจะไม่มีกรณีศึกษาใดเลยที่ประเทศเจริญแล้ว จะเกิดปัญหาทำนองนี้ เพราะ

1) วาระเท่าไหร่ก็คือเท่านั้น ตรง ๆ ตามตัวบทกฎหมาย

2) ไม่มีรัฐประหาร จึงไม่มีความกำกวมแต่แรก

ดังนั้น จึงไม่เกินเลยไปหากจะกล่าวว่ารัฐประหารเปรียบเสมือนต้นไม้พิษ ที่ยังคงออกดอกออกผลที่เป็นพิษทำร้ายประเทศและประชาชนจนกระทั่งทุกวันนี้

โดยหลักการแล้ว การกำหนดวาระของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็เพื่อหล่อเลี้ยงระบอบประชาธิปไตยให้เป็นหัวใจในการปกครอง ไม่ใช่แค่เพียงเครื่องมือหรือพาหนะสู่อำนาจ และต่ออายุหรือวาระไปเรื่อย ๆ จนกลายเป็นอำนาจนิยมในที่สุด นี่คือเหตุผลที่ทำให้หัวหน้าฝ่ายบริหารในประเทศประชาธิปไตยเต็มใบในยุคหลังสงครามโลกนั้นมีวาระที่ชัดเจน

อย่างไรก็ดี ก็ยังมีประเทศประชาธิปไตยบางประเทศที่น่าสนใจจนอาจจะสามารถเทียบเคียงได้กับกรณีของไทย นั่นคือ รัสเซีย

รัสเซียอยู่ภายใต้การปกครองโดยตรงของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน มาอย่างยาวนานกว่า 18 ปีแล้ว ตั้งแต่ช่วงปี 2543-2551 ซึ่งถือเป็นสมัยแรกที่ปูตินชนะเลือกตั้งครั้งที่ 1, 2 และอีกครั้งในช่วงปี 2555-ปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นวาระการดำรงตำแหน่งครั้งที่ 3 และ 4

สิ่งที่น่าอัศจรรย์คือ ในช่วงฟันหลอระหว่างการดำรงตำแหน่งครั้งที่ 2 และ 3 ในช่วงปี 2551-2555 นั้น ปูตินก็ถอยลงมาเป็นนายกฯ และดันอดีตนายกฯ ซึ่งเป็นลูกน้องเก่าอย่าง ดมิทรี เมดเวเดฟ ขึ้นแท่นเป็นประธานาธิบดี และในสมัยของเมดเวเดฟนี่เอง ที่แก้รัฐธรรมนูญยืดวาระอายุประธานาธิบดีจาก 4 เป็น 6 ปี และมากที่สุด 2 สมัยติด

พลันเมื่อปูตินกลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง ก็ดันให้เมดเวเดฟกลับเป็นนายกฯ เหมือนเดิม สลับกันไปมาอย่างนี้รวม ๆ แล้วก็กว่า 22 ปีแล้ว ดังนั้น หากไม่มองการเมืองอย่างไร้เดียงสาจนเกินไปก็จะพบว่า การสลับตำแหน่งไปมา การยืดอายุยืดวาระหรือใช้ช่องว่างทางกฎหมายในกรณีของรัสเซียนั้นเป็นไปเพื่อรักษาอำนาจของปูตินอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่หากถามถึงความสวยงามแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับสุนทรีย์ในการมองและคิดของแต่ละคน

มิตรภาพที่ดี ความซื่อสัตย์ที่ 2 ผู้นำรัสเซียมีให้แก่กัน มันคงจะดีและไร้ข้อทักท้วงหากเป็นธุรกิจหรือเรื่องส่วนตัว แต่พอเป็นเรื่องของบ้านเมือง เรื่องของส่วนรวม ก็อดสงสัยไม่ได้ว่า มันไม่มีคนที่ดีที่เก่งที่สุจริตกว่านี้แล้วจริงหรือ?