ประเทศไทยในมือ "ประวิตร" ผู้นำแก้วิกฤติซ้อนวิกฤติ

ประเทศไทยในมือ "ประวิตร" ผู้นำแก้วิกฤติซ้อนวิกฤติ

หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ ชั่วคราวจนกว่าจะตัดสินประเด็นดำรงตำแหน่ง 8 ปี เสร็จ ทำให้ พล.อ.ประวิตร ขึ้นเป็นนายกฯรักษาการแทน ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายเพราะตอนนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤติหลายด้าน ต้องติดตามดูว่าการแก้ไขวิกฤติเหล่านี้โดยบิ๊กป้อมจะเป็นอย่างไร

นับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นมากุมอำนาจการบริหารประเทศที่มีอำนาจเต็ม โดยเฉพาะอำนาจหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ที่ระบุอำนาจสั่งการระงับยับยั้งหรือกระทำการใดๆได้ ไม่ว่าการกระทํานั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหารหรือทางตุลาการ และให้ถือว่าคําสั่งหรือการกระทํา รวมทั้งการปฏิบัติตามคําสั่งดังกล่าวเป็นคําสั่งหรือการกระทําชอบด้วยกฎหมาย

พล.อ.ประยุทธ์ บริหารประเทศจนมีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค.2562 โดยถูกเสนอชื่อจากพรรคพลังประชารัฐให้รัฐสภาลงคะแนนเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้ได้บริหารประเทศจนถึงปัจจุบัน 8 ปี ซึ่งเมื่อรวมงบประมาณประจำปี 2557-2565 ที่ พล.อ.ประยุทธ์ บริหาร รวมไปถึงงบประมาณจากการออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาโควิด-19 รวม 2 ฉบับ วงเงิน 1.5 ล้านล้านบาท ทำให้ช่วงที่ผ่านมาบริหารงบประมาณถึง 25 ล้านล้านบาท

การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 ส.ค.2565 เมื่อศาลรัฐธรรมนูญ มีการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาคำร้องของประธานรัฐสภา ที่ขอให้วินิจฉัยเกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่งครบ 8 ปี พล.อ.ประยุทธ์ โดตุลาการยศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 5 ต่อ 4 เสียง ให้รับคำร้องไว้วินิจฉัยพร้อมกับสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ ยุติการปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีคำวินิจฉัย เป็นเหตุให้ 

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีอันดับที่ 1 ขึ้นมารักษาการนายกรัฐมนตรี

บนสถานการณ์ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจ วิกฤติพลังงานและวิกฤติโควิด-19 หัวหน้ารัฐบาลเป็นผู้มีบทบาทสำคัญสูงสุดที่จะนำพาประเทศให้ก้าวพ้นวิกฤติต่างๆ พล.อ.ประวิตร ต้องรับบทบาทหน้าที่ทั้งหมดที่ พล.อ.ประยุทธ์ ดูแล โดยเฉพาะการบริหารรัฐบาลพรรคร่วมที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากพรรคร่วมรัฐบาลในการแก้ปัญหาของประเทศ และหาก พล.อ.ประวิตร รับมือวิกฤติต่างๆ ได้จะเป็นผลงานสำคัญนับตั้งแต่ก้าวเข้าสู่การเมืองในฐานะรัฐมนตรีเมื่อปี 2551

ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงย่อมสร้างแรงกระเพื่อมให้กับส่วนที่เกี่ยวข้อง และปฏิเสธไม่ได้ว่ามีเมื่อผู้นำรัฐบาลที่ก้าวขึ้นมาแม้ว่าจะเป็นการชั่วคราวย่อมสร้างแรงดึงดูดของระบบการเมือง สิ่งที่สังคมคาดหวัง คือ การก้าวข้ามวิกฤติต่างๆ และนำไปสู่การฟื้นฟูประเทศจากความบอบช้ำในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมาที่รัฐบาลแทบจะวุ่ยวายกับการรับมือการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 เพียงอย่างเดียว จึงเป็นสิ่งที่ พล.อ.ประวิตร จะต้องตระหนักอย่างมากถึงอนาคตประเทศนับจากนี้