หาผลตอบแทนอย่างไร เมื่อโลกเต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลง

หาผลตอบแทนอย่างไร เมื่อโลกเต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลง

เราผ่านปี 2023 มากันเกือบครึ่งทางแล้ว และเจอกับการเปลี่ยนแปลงหลายๆ ด้าน ทั้งในด้านดีจากการที่ธนาคารกลางทั่วโลกชะลอการขึ้นดอกเบี้ย จีนเปิดประเทศ รวมถึงผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนที่โดยรวมยังเติบโตได้ดีกว่าที่นักลงทุนเป็นกังวล

ส่งให้ตลาดหุ้นเกือบทุกประเทศสร้างผลตอบแทนเป็นบวกได้ แม้ระหว่างทางจะมีการเคลื่อนไหวในเชิงลบบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวิกฤตสภาพคล่องในภาคธนาคาร เศรษฐกิจจีนที่ฟื้นตัวน้อยกว่าคาด รวมถึงความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งล้วนสร้างความผันผวนให้ตลาดไม่น้อย และในตอนนี้ ทั่วโลกก็กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ อีกหลายด้าน

สิ่งแรกที่จะกระทบต่อตลาดการเงินคงหนีไม่พ้นทิศทางการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED)  หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดออกมาแข็งแกร่งกว่าคาด ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขเงินเฟ้อ PCE ที่คำนวณจากรายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล ในเดือนเม.ย.ปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่าตลาดคาดที่ +4.4% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน จากราคาทั้งในหมวดสินค้าและบริการที่สูงขึ้น

 ด้านตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานก็ออกมาน้อยกว่าคาด สะท้อนตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง ตลอดจนตัวเลข GDP ไตรมาส 1/2023 ที่ขยายตัว +1.3% QoQ สูงกว่าประมาณการณ์ครั้งก่อน โดยมีแรงหนุนจากการบริโภคภายในประเทศ ประกอบกับบันทึกการประชุม FED เดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ที่คณะกรรมการบางท่านเปิดทางสำหรับการขึ้นดอกเบี้ยได้ในอนาคต ทำให้ตลาดบางส่วนประเมินว่า FED จะขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% สู่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมเดือนมิ.ย.นี้ ต่างจากเดิมที่คาดการณ์อย่างกว้างขวางว่า FED สิ้นสุดการขึ้นดอกเบี้ยไปแล้วในเดือนพ.ค.

อีกหนึ่งประเด็นที่อยู่บนหัวข้อข่าวมาเกือบหนึ่งเดือนก็คือประเด็นเพดานหนี้ ที่แม้จะผ่านมาหลายครั้ง นักลงทุนต่างก็ยังกังวลว่าสหรัฐฯ อาจจะผิดนัดชำระหนี้ ล่าสุดได้คลี่คลายลงแล้ว โดยคาดว่าจะผ่านการลงมติในสภาคองเกรสได้ก่อนเส้นตาย และหลีกเลี่ยง Government Shutdown ได้ โดยมีข้อตกลงที่จะระงับเพดานหนี้จนถึงต้นปี 2025 และกำหนดเพดานการใช้จ่ายของรัฐบาลในบางโครงการที่ไม่เกี่ยวกับกองทัพในปีงบประมาณ 2024-2025 รวมถึงเพิ่มเงื่อนไขเพิ่มเงื่อนไขสำหรับผู้ที่จะขอรับสวัสดิการในโครงการอาหารและความช่วยเหลือทางสังคมซึ่งรวมถึงด้านสาธารณสุขและการแพทย์

ข้ามมาที่ฝั่งจีน หลังประกาศเปิดประเทศ ทั่วโลกก็ต่างตั้งความหวังว่าจะเป็นพระเอกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก แต่แล้วเศรษฐกิจจีนก็ไม่ได้ขยายตัวดีตามที่หวัง โดยตัวเลขล่าสุดในเดือนเมษายนออกมาขยายตัวน้อยกว่าตลาดคาด ทั้งภาคการบริโภค การผลิต รวมถึงการลงทุน นอกจากนั้นอัตราการว่างงานของเยาวชนจีน ก็พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 20.4%

สะท้อนการฟื้นตัวที่ยังเปราะบาง ทำให้นักวิเคราะห์บางสำนักเริ่มปรับลดคาดการณ์ GDP ลง และทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวลงแรง โดยเฉพาะหุ้นจีนที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกง (ดัชนี HSCEI) ที่ปรับลงราว 20% จากจุดสูงสุดในปีนี้  แต่ยังคงคาดว่า GDP จีนปีนี้สามารถเติบโตได้ประมาณ 5% บรรลุเป้าหมายของทางการ หนุนจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมาเป็นปกติหลังเปิดประเทศ ประกอบกับการผ่อนคลายข้อบังคับในหลายอุตสาหกรรม

ด้านประเทศไทยบ้านเรา ก็มีเหตุการณ์สำคัญเช่นกัน นั่นก็คือการเตรียมจะเปลี่ยนผ่านรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง จากพัฒนาการในช่วงที่ผ่านมาประเมินได้ว่ามีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ แต่ต้องยอมรับว่ายังมีความไม่แน่นอนทางการเมืองอยู่ และต้องจับตาผลกระทบจากนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ ในแง่ของการลงทุน จึงแนะนำลงทุนในหุ้นไทยขนาดกลาง-เล็ก ที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง มีผลดำเนินงานเติบโตต่อเนื่อง และได้รับผลกระทบจากนโยบายของพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลจำกัด

ทั้งนี้หัวใจสำคัญท่ามกลางสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเช่นนี้ คงหนีไม่พ้นการกระจายความเสี่ยงในหลายสินทรัพย์ทั้งตราสารหนี้และหุ้นทั่วโลก สินค้าโภคภัณฑ์ รวมไปถึงดัชนีความผันผวนของตลาด และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปรับพอร์ต เราแนะนำลงทุนผ่านกองทุนผสมที่มีกลไกเพิ่มและลดสัดส่วนการลงทุนได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งมีการขยายขนาดเงินลงทุนผ่านการสร้างอัตราทด โดยเพิ่มการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความผันผวนลดลงและลดสัดส่วนการลงทุนเมื่อสินทรัพย์นั้นๆ เผชิญกับความผันผวนสูงสะท้อนความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น เพื่อสร้างผลตอบแทนสม่ำเสมอในระยะยาว