เครื่องมือการลงทุนและผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ ในบ้านเรา

เครื่องมือการลงทุนและผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ ในบ้านเรา

นอกเหนือไปจากการติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจรวมถึงภาวะตลาดการเงินอย่างต่อเนื่อง ส่วนสำคัญของกระบวนการลงทุนและบริหารพอร์ตฟอลิโออีกอย่างหนึ่งก็คือ การศึกษาเรื่องของการลงทุนเพิ่มเติม

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการลงทุนในสินทรัพย์ใหม่ๆ เช่น กลุ่มคริปโทเคอร์เรนซีที่เกิดขึ้นมาในช่วงหลัง หรือ การลงทุนในตลาดอื่นๆ รวมถึงการศึกษาผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ ด้วย

โดยในส่วนนี้จะช่วยในเรื่องของการบริหารพอร์ตการลงทุนในหลากหลายรูปแบบ เช่น การกระจายความเสี่ยงเพิ่มเติม ต้นทุนในการทำธุรกรรมที่ถูกลง การบริหารความเสี่ยงของพอร์ตฟอลิโอที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการที่กลยุทธ์การลงทุนจะตอบโจทย์กับการเปลี่ยนแปลงของตลาดการเงินแบบถูกจุดมากขึ้นด้วย โดยตลาดการเงินเป็นตลาดที่ไม่เคยหยุดนิ่งไม่ว่าจะเป็นเรื่องของราคาที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพิ่มเติม

ในส่วนของตลาดการเงินในบ้านเรา ในช่วงหลังก็มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ ขึ้นมาด้วย เช่นกัน โดยเฉพาะในส่วนของนักลงทุนรายบุคคลที่ทางเลือกในการลงทุนอาจจะดูน้อยกว่านักลงทุนสถาบัน อย่างแรกก็คือเรื่องของการเปิดให้นักลงทุนรายบุคคลสามารถมีส่วนร่วมกับ หุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond) ได้แล้ว

โดยรุ่นแรกสำหรับนักลงทุนรายบุคคลที่เพิ่งออกไปเมื่อช่วงปลายเดือน พ.ย. ที่ผ่านมาก็ดูจะได้รับการตอบรับจากนักลงทุนที่ดีไม่น้อย อีกอย่างหนึ่งก็คือเรื่องของสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Futures) ของตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย) ที่มีการเพิ่มสินค้าใหม่อีก 2 สินค้า ได้แก่ EUR/USD Futures (สัญญาซื้อขายเงินยูโรต่อเงินดอลลาร์ สรอ.) และ USD/JPY Futures (สัญญาซื้อขายเงินดอลลาร์ สรอ. ต่อเงินเยนญี่ปุ่น) ในต่างประเทศการเทรดค่าเงินกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ยูโร เยน หรือแม้แต่ดอลลาร์ ออสเตรเลีย ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่สำหรับบ้านเราก็อาจจะนับได้ว่าเป็นก้าวที่สำคัญก้าวหนึ่งสำหรับการซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องของความยั่งยืน (Sustainability) นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดกับสังคมมนุษย์รวมถึงระบบเศรษฐกิจด้วย โดยในฐานะที่ภาคการเงินมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม การตอบโจทย์เรื่องของความยั่งยืนก็เป็นหนึ่งในบทบาทหน้าที่สำคัญที่ทุกภาคส่วนช่วยกันผลักดันอย่างเต็มที่ และการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ด้านความยั่งยืนไปด้วย ก็เป็นหนึ่งในความพยายามเหล่านั้น

ทำให้เราเห็นการเติบโตของผลิตภัณฑ์ส่งเสริมความยั่งยืนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ตราสารหนี้สีเขียว (Green Bond) ตราสารหนี้เพื่อสังคม (Social Bond) กองทุนยั่งยืน (ESG Fund) ต่างๆ ที่ออกมามากขึ้นเรื่อยๆ และยังได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนอีกด้วย โดยหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond) ที่ผลตอบแทนจะขึ้นอยู่กับความสำเร็จในการดำเนินงานตามเป้าหมายด้านความยั่งยืนของผู้ออกตราสาร ประโยชน์ที่นักลงทุนได้รับคือ การที่ผู้ออกหุ้นกู้ นำเงินไปพัฒนาโครงการที่ตอบโจทย์ด้านความยั่งยืน เช่น เรื่องของเป้าหมายทางคาร์บอนต่างๆ

โดยเฉพาะความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) เรื่องของการลดโลกร้อนและรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) รวมถึงการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) เป็นต้น ซึ่งทั้งหลายเหล่านี้จะส่งผลบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในท้ายที่สุด รวมถึงเรื่องของการที่ผู้ออกเองก็จะมีเสถียรภาพทางการเงินที่มั่นคงขึ้นจากการดำเนินกิจการที่ตอบโจทย์ด้านความยั่งยืนควบคู่ไปกับเป้าหมายทางธุรกิจต่างๆ

อย่างไรก็ตามเรื่องของการลงทุนประเภทนี้ยังนับว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่และยังคงต้องพิจารณาเป้าหมายของผู้ออกอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะกรณีของการฟอกเขียว (Green Washing) ที่ผู้ออกเน้นสร้างภาพลักษณ์ของการเป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม แต่ไม่มีการดำนเนินการที่จะตอบโจทย์อย่างจริงจัง ซึ่งก็คงต้องคอยจับตาดูพัฒนาในด้านนี้กันต่อเนื่องสำหรับผลิตภัณฑ์ลักษณะนี้ในบ้านเรา

ในส่วนของสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Futures) 2 สินค้าใหม่ ได้แก่ EUR/USD และ USD/JPY Futures นั่นก็เพิ่มทางเลือกให้กับนักลงทุนทั้งในด้านของการเก็งกำไร (Speculating) หรือ การป้องกันความเสี่ยง (Hedging) ของค่าเงินสกุลเงินต่างประเทศทั้งสองสกุลเงิน เพิ่มเติมไปจาก USD/THB ที่มีอยู่แล้ว

ซึ่งนับเป็นทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจ สอดคล้องกับภาพรวมที่มีการส่งเสริมให้นักลงทุนไทยไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นในช่วงหลัง โดยสินค้าที่เปิดให้ซื้อขายภายใต้ศูนย์ซื้อขายที่จัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ ซึ่งดำเนินการภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน ก.ล.ต. ก็จะทำให้หมดปัญหาเรื่องของความโปร่งใส่ และแชร์ลูกโซ่ที่แอบอ้างเรื่องของการเทรดอัตราแลกเปลี่ยนบังหน้าที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆ

สุดท้ายนี้ แม้ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่แน่นอนว่าจะเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ ในตลาดการเงินอาจจะดูซับซ้อน ต้องอาศัยการศึกษาและความเข้าใจเพิ่มเติมในช่วงแรก แต่การพัฒนาต่างๆ เหล่านี้ล้วนแต่มีจุดประสงค์เพื่อทำให้การลงทุน การบริหารพอร์ตฟอลิโอ และการบริหารความเสี่ยงมีประสิทธิภาพมากขึ้น และทำให้ผู้ลงทุนสามารถใช้กลยุทธ์การลงทุนที่หลากหลายมากขึ้นเพื่อตอบโจทย์สถานะการณ์ทางเศรษฐกิจและตลาดการเงินที่ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงไปมาได้เสมอครับ

หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด