“ความสมดุล” โจทย์ใหญ่ของการธนาคารเพื่อความยั่งยืน

โดย คุณพูนสิทธิ์ ว่องธวัชชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลสู่ความยั่งยืน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

      สวัสดีครับ

      เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาสมาคมธนาคารไทยได้แถลงข่าวเพื่อประกาศเจตนารมณ์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG Declaration โดยร่วมกันกำหนดทิศทางของอุตสาหกรรมธนาคารเพื่อแก้ปัญหาด้านความยั่งยืนในเชิงรุก ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกของธนาคารพาณิชย์ไทยที่ได้ระบุกรอบแนวทางการดำเนินการที่สำคัญในด้าน ESG อย่างค่อนข้างจะชัดเจนและครอบคลุมในด้านธรรมาภิบาล ยุทธศาสตร์ การบริหารความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน การสื่อสาร และการเปิดเผยข้อมูลทางการเงิน   

       ที่ผ่านมาการขับเคลื่อนด้านการเงินเพื่อความยั่งยืนในบริบทเศรษฐกิจขนาดเล็กแบบประเทศไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และมีข้อจำกัดด้านกรอบการดำเนินการที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ โดยนอกจากการเปิดเผยข้อมูลของธุรกิจในการดำเนินงานด้านความยั่งยืนที่ต้องมีปริมาณข้อมูลที่มากพอ และเป็นไปตามมาตรฐานทั้งในระดับประเทศและระดับโลก

       เรายังจำเป็นต้องสร้างมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจสีเขียว (Taxonomy) ที่จะทำให้ธนาคารและภาคธุรกิจนั้นพูดภาษาเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นกลไกหลักในเรื่องนี้ได้ประกาศไปก่อนหน้านี้ว่า Thailand Taxonomy สำหรับอุตสาหกรรมพลังงานและขนส่งซึ่งเป็นภาคอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณที่สูงที่สุดของประเทศ น่าจะแล้วเสร็จก่อนเป็นอันดับแรก  

    อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญยิ่งไปกว่าทิศทางและกรอบการดำเนินงาน หรือแม้แต่กลยุทธ์ที่ชัดเจน คือ การปฏิบัติจริง (Implementation and Execution) จากแนวทางที่ระบุใน ESG Declaration สมาคมธนาคารไทยยังต้องกำหนดคู่มือการปฏิบัติ ที่จะระบุรายละเอียดการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง กรอบเวลา และตัวชี้วัดผลการดำเนินงานสำหรับแต่ละองค์ประกอบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ต่อไป ซึ่งคาดว่าน่าจะนำมาใช้ได้ในกลางปี 2566 ทั้งนี้ หลายธนาคารชั้นนำโดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ที่มีความสำคัญเชิงระบบ (D-SIB) ได้เริ่มกระบวนการตั้งเป้าหมายด้านความยั่งยืน พร้อมเริ่มเดินหน้าตามกรอบเวลาที่ชัดเจนแล้ว   

         แต่ทั้งนี้ ความท้าทายที่แท้จริงของการธนาคารที่ยั่งยืนในประเทศไทย อาจไม่ใช่ความพร้อมของภาคการธนาคาร แต่เป็นความพร้อมของลูกค้าธุรกิจ ธนาคารพาณิชย์ที่ได้เริ่มพูดคุยกับลูกค้าในเรื่องการลดคาร์บอนต่างประสบความท้าทายแบบเดียวกัน คือลูกค้าส่วนหนึ่งโดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่ใช่ลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ ยังไม่พร้อมที่จะเริ่มกระบวนการ “Go Green” หรือยังไม่สามารถทำตามตัวชี้วัดสีเขียว (Environmental KPIs) หรือเป้าหมายด้านความยั่งยืน (Sustainability Performance Targets: SPTs) เพื่อให้มีคุณสมบัติพอที่จะรับดอกเบี้ยหรือเงื่อนไขที่ดีกว่า   

      ความท้าทายด้านความพร้อมของภาคธุรกิจไทยดังกล่าวเป็นโจทย์ยาก ที่อาจไม่มีคำตอบง่ายๆ สำหรับทุกฝ่าย เนื่องจากการเปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจสีเขียวนั้นยังมีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง แม้ว่าภาคธุรกิจจะทราบดีว่าการทำธุรกิจที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Brown) จะเป็นอุปสรรคต่อการได้รับเงินสนับสนุนจากสถาบันการเงิน โดยนายธนาคารบางท่านถึงกับให้ความเห็นว่า

         ต่อไปนี้บริษัทไทยจะไม่สามารถโชว์เพียงผลกำไรสวยหรูโดยไม่มี Story ด้านสิ่งแวดล้อมอีกต่อไป   หรือเป็นอุปสรรคต่อการระดมทุนผ่านตราสารทางการเงินต่างๆ ต่อไปในอนาคต และสำหรับบริษัทขนาดเล็กอาจจะหมายถึงการไม่สามารถเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานของบริษัทขนาดใหญ่ที่ดำเนินนโยบายปรับเปลี่ยนสู่การดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

     ปัญหานี้ ไม่ใช่เรื่องที่เกินความคาดหมายสำหรับฝ่ายกำกับดูแล ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารแห่งประเทศไทยได้ให้ความเห็นไว้ในหลากหลายวาระและโอกาส ว่าการเดินหน้าด้านการเงินเพื่อความยั่งยืนนั้น ภาคการเงินต้องถ่วงดุล ระหว่างการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว และต้นทุนภาคธุรกิจที่เกิดขึ้น

     โดยเฉพาะในแง่ของความเร็วและจังหวะเวลาให้เหมาะสม ไม่ช้าและไม่เร็วเกินไป และมีความ “สมดุล” กับสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจ โดยจะต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อลูกค้ารายเล็กโดยเฉพาะ SME เป็นสำคัญ จึงถือเป็นโจทย์สำคัญสำหรับภาคการธนาคารที่จะต้องหาจุดสมดุลที่เหมาะสมดังกล่าวให้ได้ ซึ่งหมายรวมถึงการชักชวนและสนับสนุนภาคธุรกิจให้เริ่มต้นก้าวเล็กๆ บนเส้นทางสีเขียว เนื่องจากธนาคารไม่อาจประสบความสำเร็จในการมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ได้ หากลูกค้ายังไม่สามารถขยับขยายออกจากธุรกิจที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงเป็นการจับมือสู่ความสำเร็จร่วมกันก็ว่าได้ (Win-Win)

           ทุกฝ่ายต่างเห็นต้องตรงกันว่าเราอยากจะเห็นธุรกิจเพื่อความยั่งยืนที่ไม่ได้เป็นเพียงกระแสชั่วคราว แต่เป็นการดำเนินธุรกิจตามปกติ (Business as Usual: BAU) ที่จริงจังและควรจะเป็น และแรงจูงใจต่างๆ ที่ทางภาครัฐและหน่วยงานกำกับดูแลจะจัดหาให้เพื่อลดต้นทุนและช่วยผลักดันให้ธุรกิจสีเขียวเริ่มขับเคลื่อนได้อย่างแท้จริงควรจะเกิดขึ้นเพียงในระยะแรก ไม่ใช่ตลอดไป

      เห็นได้ชัดว่าเราต่างยังมีงานที่ต้องทำอีกมากเพื่อให้ BAU ด้านความยั่งยืนดังกล่าวเกิดขึ้นได้จริง อีกทั้งยังต้องอาศัยความร่วมมือ การสื่อสาร และการผลักดันอย่างต่อเนื่องในทุกภาคส่วน พื่อให้ประเทศไทยเดินหน้าสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำที่ยั่งยืนได้อย่างสมดุลและสอดคล้องกันครับ