พลิกฟื้นเศรษฐกิจเชิงสังคมหลังโควิด-19

พลิกฟื้นเศรษฐกิจเชิงสังคมหลังโควิด-19

ต้องยอมรับว่าวิกฤตโควิด-19 สร้างแผลเป็นให้เศรษฐกิจไทยไม่น้อย บาดแผลเหล่านั้นทำให้เราเห็นปัญหาเศรษฐกิจเชิงสังคมชัดเจนขึ้น

ผมคิดว่าหลังจากวิกฤตรอบนี้ผ่านพ้นไปในระยะ 5 – 10 ปีข้างหน้านี้จะเป็น “ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ” ที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย เพราะในอีกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า จำนวนประชากรของเราจะลดลงปีละประมาณ 3% สิ่งที่ตามมาคือ คนสูงอายุมากขึ้น แรงงานวัยหนุ่มสาวลดลงปีละ 4.5% บวกกับตัวเลขการสำรวจที่เห็นแล้วต้องขยี้ตาอีกทีคือ แรงงานถึง 92% ไม่อยากพัฒนาขีดความสามารถ แล้วจะเพิ่มผลิตภาพแรงงานได้อย่างไร

 

การเติบโตที่เต็มศักยภาพก็อาจจะเอื้อมไม่ถึง ฐานภาษีจากวัยแรงงานลดลง แรงงานนอกระบบซึ่งไม่มีหลักประกันยังมีจำนวนไม่น้อย เมืองหลักโตแบบก้าวกระโดดแต่เมืองรองโตแบบเส้นตรงขึ้นมาแทนที่ไม่ทัน ช่วงว่างจะมากขึ้น (ผมภาวนาให้สิ่งที่พูดมาผิด) ฉะนั้น ผมคิดว่ามีเรื่องที่เราต้องทำอยู่ 3 เรื่อง ได้แก่

1.พลิกฟื้นเศรษฐกิจฐานรากที่ยังขาดความพร้อม :: ต้องบอกก่อนเลยว่า ปัญหาอย่างหนึ่งของการแก้ปัญหา คือ การแก้ปัญหาโดยไม่รู้ปัญหาที่แท้จริง ข้อมูลที่ควรหยิบมาใช้ คือ ฐานข้อมูลพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมระดับหมู่บ้าน (กชช.2ค.) อันนี้ใช้ชี้เป้าได้ตรงที่สุดแล้ว

 

จากข้อมูลนี้พบว่า มีหลายหมื่นหมู่บ้านยังขาดโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นแตกต่างกันออกไป เช่น ถนน ไฟฟ้า แหล่งน้ำ การติดต่อสื่อสาร แถมบางแห่งมีปัญหาการศึกษา สาธารณสุข ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

 

คำถามง่าย ๆ คือ ถ้าข้อมูลบอกเราว่า หมู่บ้าน ก. ไม่มีถนน หมู่บ้าน ข. ไม่มีแหล่งน้ำ คุณจะเอางบประมาณไปทำอย่างอื่นไหม? ถึงเวลาแล้วที่เราต้องนำข้อมูลในพื้นที่มาขับเคลื่อนนโยบาย (Data-driven Policy) มาใช้ ไม่ใช่เก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ เราต้องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในชนบทเพื่อเติมเต็มสิ่งที่แต่ละหมู่บ้านขาด และกล้าที่จะตั้งเป้าไปเลยว่า ทุกหมู่บ้านจะมีสาธารณูปโภคพื้นฐานที่จำเป็นภายใน 5 ปี และบรรจุเป็นเป้าหมายไว้เลยในแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2565 - 2569)

 

ตัวชี้วัดที่ง่ายที่สุดคือ จำนวนที่ลดลงของหมู่บ้านที่มีปัญหา ดัชนีความยากจนหลายมิติ (Multidimensional Poverty Index) ดัชนีความก้าวหน้าของคน (Human Achievement Index) ผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด 

2.พลิกฟื้นการสร้างงานใหม่ ๆ ในเมืองรอง :: จุดอ่อนอันนึงที่เราเห็นจากวิกฤตโควิด-19 คือ การย้ายถิ่นของแรงงาน ซึ่งสะท้อนถึงความเปราะบางของตลาดแรงงานไทย เมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่ไหลลื่น ร้านรวงต่าง ๆ ปิดตัว หรือเปิดแต่รายได้ไม่เท่าเดิม ก็จำเป็นต้องเลิกจ้างหรือลดกะการทำงาน ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานสูงเป็นประวัติการณ์

 

โดยในปี 2563 เกิดการย้ายข้ามภาคเกือบ 4 แสนคน พูดง่ายๆ คือ เพิ่มขึ้นมาอีก 1 เท่าตัวจากปี 2562 เป็นการไหลออกจาก กทม. และภาคกลาง กลับภูมิลำเนา ที่เยอะจนเห็นได้ชัด คือกลับภาคอีสาน แต่มีบางส่วนยังเดินหน้าเข้า กทม. เพื่อหางานทำ ฉะนั้น เราควรใช้เวลานี้พลิกวิกฤตเป็นโอกาสในการพัฒนาเมืองรองทั้งหลาย ให้สามารถรองรับการตั้งกิจการทั้งขนาดย่อม เล็ก และกลาง (MSMEs) โดยการสร้างแต้มต่อให้แก่ MSMEs เหล่านี้ ตลอดจนเชิญชวนให้กิจการขนาดใหญ่ขยายสาขาเข้ามาตั้ง ตลอดจนการทำการเกษตรมูลค่าสูง ยกระดับ OTOP ของหมู่บ้าน บวกกับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานในหมู่บ้านต่าง ๆ ทั่วประเทศ จะเกิดการจ้างงานและสร้างรายได้ และเป็นการป้องกันการย้ายถิ่นชั่วคราวไป ๆ กลับ ๆ

 

 เมื่อแรงงานมีแรงจูงใจในการตั้งรกรากในพื้นที่นั้น ๆ ก็จะเกิดแรงขับเคลื่อนในการพัฒนาเมืองโดยอัตโนมัติ ตัวชี้วัดที่ง่ายที่สุดคือ จำนวนผู้มีงานทำที่เพิ่มขึ้นในแต่ละจังหวัด จำนวน MSMEs ที่เพิ่มขึ้นในแต่ละจังหวัด ผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด

3.พลิกฟื้นความมั่นคงทางรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย :: แน่นอนว่าวิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างมากต่อรายได้และภาระค่าครองชีพของผู้มีรายได้น้อย 13.6 ล้านคน ที่รัฐบาลดูแลผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีตัวเลข 3 ตัว ที่น่าสนใจจากฐานข้อมูลชุดนี้ ได้แก่

1) ใน 13.6 ล้านคน เป็นคนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน 10 ล้านคน

2) ใน 13.6 ล้านคน เป็นคนที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม 11 ล้านคน

3) ใน 13.6 ล้านคน เป็นคนที่มีเงินออมต่ำกว่า 5,000 บาท 12.5 ล้านคน

ทั้ง 3 ตัวนี้สะท้อนความเปราะบางของคนในเศรษฐกิจฐานรากได้เป็นอย่างดี ลำพังการเอาเงินใส่บัตรสวัสดิการอย่างเดียวไม่พอ ต้องผลักดันให้เกิดการพัฒนาอาชีพ สร้างมูลค่าเพิ่ม หางานให้ทำ หาตลาดให้ขาย หาร้านให้เช่า หาลูกค้าให้ซื้อ หาช่องทางการขาย ที่สำคัญต้องสร้างแรงจูงใจให้เขาทำต่อเนื่อง ปัญหาด้านรายได้ หลักประกัน และเงินออม จะบรรเทาเบาบางลง

 

ดังนั้น ยุทธศาสตร์ในการยกคนพ้นเส้นความยากจน ต้องนับเป็นจำนวนคนในแต่ละหมู่บ้าน พอกันทีกับการวัดผลแบบสำรวจแล้วมาตีโป่งเป็นของประเทศ ตัวชี้วัดที่ง่ายที่สุดคือ จำนวนคนที่อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจนที่ลดลง จำนวนหมู่บ้าน/ตำบล ที่มีจำนวนคนจนลดลง จำนวนคนที่ผ่านการพัฒนาอาชีพแล้วมีการทำงานต่อเนื่องมากกว่า 6 เดือน รายได้และเงินออมที่เพิ่มขึ้น

 

ถ้าเราแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ เศรษฐกิจไทยจะ “เติบโตแบบสมส่วน” แต่ถ้าแก้ไม่ได้ปล่อยให้ปัญหาข้ามรุ่นไปเรื่อย ๆ เศรษฐกิจไทยจะ “เติบโตแบบโปลิโอ” คือ ท่อนบนโตเอาโตเอา แต่ท่อนล่างลีบและอ่อนแรงลงเรื่อย ๆ ดังนั้น การพลิกโฉมเศรษฐกิจในแผนฉบับที่ 13 จะไม่มีความหมายเลย หากเราไม่พลิกฟื้นเศรษฐกิจเชิงสังคมไปพร้อม ๆ กัน.