กฎหมายทำแท้งใหม่

กฎหมายทำแท้งใหม่

กฎหมายยุติการทำแท้งของไทยมีการพัฒนาขึ้นมาอีกลำดับ จะทำให้หญิงที่ตั้งครรภ์เมื่อไม่พร้อม สามารถเข้าถึงการทำแท้งที่ถูกกฎหมายและปลอดภัย

เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 4/2563 ว่ามาตรา 301 ประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่กำหนดโทษทางอาญาแก่หญิงที่ทำให้ตนแท้งหรือยินยอมให้ผู้อื่นทำแท้ง ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เนื่องจากกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของหญิงตั้งครรภ์เกินความจำเป็น และวินิจฉัยว่ามาตรา 305 ซึ่งเป็นเหตุยกเว้นความผิดฐานทำแท้ง ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติเสียงข้างมากให้มีการปรับปรุงแก้ไขทั้งสองมาตราข้างต้นเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวนับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการทำแท้ง นำไปสู่การเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา และสุดท้ายเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2564 ได้มีการประกาศราชกิจจานุเบกษาให้ตราพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ 28 พ.ศ. 2564 และมีผลบังคับใช้วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2564 โดยมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้

มาตรา 301 ประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติว่า หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูกขณะมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

บทบัญญัติมาตรา 301 ที่แก้ไขใหม่มีข้อพิจารณาดังนี้

ประการที่หนึ่ง กฎหมายใหม่มีการนำช่วงอายุครรภ์มาเป็นเงื่อนไขสำคัญในการพิจารณาว่าจะสามารถทำแท้งได้โดยไม่มีความผิดตามกฎหมาย โดยกำหนดอายุครรภ์ไว้ที่ไม่เกิน 12 สัปดาห์ เห็นได้ว่ากฎหมายมีวัตถุประสงค์ที่จะสร้างความสมดุลระหว่างสิทธิของตัวอ่อนในครรภ์กับสิทธิของหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งต่างจากมาตรา 301 เดิมที่กำหนดให้การทำแท้งไม่ว่าในช่วงอายุครรภ์ใดก็ถือเป็นการกระทำความผิดและมีโทษทางอาญา เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นความผิดตามกฎหมาย

ประการที่สอง มาตรา 301 ที่แก้ไขใหม่กำหนดอัตราโทษลดลงจากเดิม โดยมาตรา 301 เดิมกำหนดให้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งอัตราโทษใหม่นั้นนับว่าเป็นอัตราโทษที่ค่อนข้างเบาเมื่อเทียบกับความผิดอื่น ๆ ตามประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 305 ประมวลกฎหมายอาญา บัญญัติว่า ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 301 หรือมาตรา 302 เป็นการกระทำของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภาในกรณีดังต่อไปนี้ ผู้กระทำไม่มีความผิด

(1) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากหากหญิงตั้งครรภ์ต่อไปจะเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายต่อสุขภาพทางกายหรือจิตใจของหญิงนั้น

(2) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากมีความเสี่ยงอย่างมากหรือมีเหตุผลทางการแพทย์ อันควรเชื่อได้ว่าหากทารกคลอดออกมาจะมีความผิดปกติถึงขนาดทุพพลภาพอย่างร้ายแรง

(3) หญิงยืนยันต่อผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมว่าตนมีครรภ์เนื่องจากมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ

(4) หญิงซึ่งมีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์

(5) หญิงซึ่งมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์ ภายหลังการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและผู้ประกอบวิชาชีพอื่นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของแพทยสภาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

ข้อพิจารณาของบทบัญญัติมาตรา 305 ที่แก้ไขใหม่

ประการที่หนึ่ง คำว่า “สุขภาพ” ตามมาตรา 305(1) นอกจากจะหมายถึงสุขภาพกายแล้ว ยังขยายความให้รวมถึงสุขภาพจิตของหญิงตั้งครรภ์ด้วย เห็นได้ว่าบทบัญญัติใหม่ทำให้เกิดความชัดเจนในการบังคับใช้กฎหมาย และสะดวกต่อการปฏิบัติงานของแพทย์มากขึ้น

ประการที่สอง มาตรา 305(2) ที่แก้ไขใหม่ กำหนดยกเว้นความผิดให้กับการยุติการตั้งครรภ์เพราะเหตุที่หากทารกคลอดออกมาจะทุพพลภาพอย่างร้ายแรง ซึ่งคำว่า “ทุพพลภาพ” ในมาตรานี้ หมายถึง ความทุพพลภาพทั้งทางร่างกายและทางสมอง ส่วนกฎหมายเดิมไม่ได้บัญญัติถึงกรณีข้างต้น แต่ได้กำหนดในข้อบังคับแพทยสภาว่าแพทย์สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ในกรณีทารกในครรภ์มีความพิการอย่างรุนแรงหรือมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคพันธุกรรมที่รุนแรง และหญิงนั้นมีความเครียด

ประการที่สาม มาตรา 305(3) ที่แก้ไขใหม่กำหนดแต่เพียงให้หญิงยืนยันต่อแพทย์ว่าตนเองตั้งครรภ์เนื่องจากมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ เช่น ถูกข่มขืนกระทำชำเรา โดยไม่ต้องแสดงหลักฐานใด ๆ แพทย์ที่ทำการยุติการตั้งครรภ์ก็จะได้รับยกเว้นความผิด เห็นได้ว่ากฎหมายใหม่มุ่งเยียวยาผู้เสียหาย โดยช่วยลดขั้นตอนและไม่ผลักภาระแก่หญิงในการที่ต้องพิสูจน์ถึงการถูกกระทำทางเพศ

เห็นได้ว่ากฎหมายยุติการทำแท้งของไทยมีการพัฒนาขึ้นมาอีกลำดับ ผู้เขียนเห็นว่ากฎหมายใหม่จะทำให้หญิงที่ตั้งครรภ์เมื่อไม่พร้อมสามารถเข้าถึงการทำแท้งที่ถูกกฎหมายและปลอดภัยได้มากขึ้น ช่วยลดการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการทำแท้งเถื่อน นอกจากนี้ยังช่วยลดปัญหาเศรษฐกิจ สังคมที่มาจากความไม่พร้อมของแม่และเด็กที่เกิดมาอีกด้วย อย่างไรก็ตาม รัฐควรมุ่งเน้นถึงการให้ความรู้เรื่องการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยและการเข้าถึงการคุมกำเนิดควบคู่กันไป ทั้งนี้เพื่อเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นทางอย่างมีประสิทธิภาพ.

ผู้เขียน ชญานี ศรีกระจ่าง คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์