ขอทาน-ขอทุน

บ่ายแก่ ๆ วันอังคาร ชายชรานั่งอยู่ตรงซอกหลืบประตู
ตึกสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเดิม ถนนราชดำเนิน แกกำลังตักอะไรสักอย่างเข้าปากช้า ๆ แลข้างกายมีกระเป๋าผ้าสีดำมอซอ ไม่ต่างกับเสื้อและกางเกงที่สวมใส่ ร่มสีเขียวเตรียมไว้เป็นชายคาหลบฝน
ผมเดินข้ามแยกคอกวัว ตรงมาด้านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ชายเสื้อลายแดงเลือดหมู นั่งตะโกน เป็นครั้งคราว เสียงนั้นแหบพร่า ไร้ซึ่งพลังพอจะทำให้คนได้ยินยำเกรง
วันเสาร์ ผมนั่งอ่านหนังสือพิมพ์ ข่าวบอกว่า วันที่ 28 ก.ค. พ.ร.บ.ควบคุมขอทานฉบับใหม่บังคับใช้เป็นวันแรก กฎหมายนี้ถ้าหากมีขอทานออกมาขอเงินก็จะถูกจับดำเนินคดีอาญา แต่เราในฐานะประชาชน สามารถช่วยให้ขอทานไม่ถูกจับได้ โดยการไม่ให้เงิน
แต่คนส่วนใหญ่ จะให้เงินขอทานเพราะสงสาร หรือเกรงคนจะมองว่าไร้น้ำใจ ทั้งที่จริงแล้วการให้เงินขอทาน อาจเป็นการสนับสนุนให้ขอทานทำผิดกฎหมาย
ถ้าไปถามหาเหตุผลคนส่วนใหญ่ยอมควักเงินให้ขอทาน เพราะสงสาร เพราะคิดว่าเป็นการบริจาคเผื่อได้ส่วนบุญหนุนส่ง ชาติหน้าจะไม่ลำบาก ดังนั้นเราจึงเห็น เด็ก คนพิการ ผู้สูงอายุ มาขอทาน แม่บางคนร่างกายซูบโซ ลูกคนหนึ่งนอนหนุนตัก คนหนึ่งนั่งไม่ไกลแม่
กฎหมายที่ออกใหม่ ระบุว่า ขอทานผิดกฎหมาย มีโทษอาญา คนขอทานจำคุก 1 เดือน ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้แสวงหาผลประโยชน์จากการขอทาน มีโทษจำคุก 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ตามขั้นตอนขอทานที่ถูกจับจะต้องเข้าสู่กระบวนการคัดกรอง ฟื้นฟู ฝึกทักษะสร้างอาชีพ แต่หากขัดขืนก็ต้องจำคุกหรือปรับ แต่การจะแก้ปัญหาขอทานให้ได้ผลดีคือการ “ไม่ให้เงินขอทาน”
สายวันจันทร์ บนสะพานลอยฝั่งราชวิถี คุณยาย นั่งริมบันได ข้างตัวกระดาษเอ4 ห่อด้วยถุงเซเว่น 3-4 ถุง แกพูดเปรย ๆ ว่า “ขอรวมเศษเงินกินข้าวมันจะอะไรนักหนา”
กำลังจะข้ามมาทำงาน บนสะพานลอยหน้าตึกเนชั่น เจอขอทานคนหนึ่ง ผมเป็นพลเมืองดี โทรไป 1300 ศูนย์ประชาบดี ผมโดนซักอย่างละเอียด ขอทานแต่งตัวอย่างไร อายุเท่าไหร่ มีอุปกรณ์ขอทานคืออะไร เจอเวลาเท่าไหร่
ผมถามเจ้าหน้าที่ด้วยความอยากรู้ว่าจะมารับตัวขอทานเมื่อไหร่ ก็ได้คำตอบว่า ต้องส่งข้อมูลไปศูนย์ปราบปรามขอทาน ให้เจ้าหน้าที่ชุดประเมิน ดำเนินการ
ผมว่าราชการเราขั้นตอนเยอะ ชักช้า ผมแทบมองไม่เห็นทางจะแก้ปัญหาขอทาน
เดินมาเจอเด็กหนุ่มหน้าตาดี สวมชุดนักศึกษาเป่าแซกโซโฟน มีป้ายบอกว่า ขอค่าเทอม ต่อ ป.ตรี ผมเสียเงินไป 20 บาท