Brexit จะนำไปสู่ การแตกสลายของอียู

เมื่ออังกฤษโบกมืออำลาสหภาพยุโรป
คำถามที่ตามมาก็คือ ใครจะเป็นรายต่อไปที่จะขอ “หย่าขาด” จากองค์กร 27 สมาชิกของยุโรปบ้าง?
เดิมที่เคยคิดว่าเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ บัดนี้กำลังทำท่าว่าไม่มีอะไรที่เกิดไม่ได้แล้ว
การล่มสลายของ “สหภาพยุโรป” ในลักษณะ “ตัวใครตัวมัน” กำลังเป็นหัวข้อวิพากษ์และวิเคราะห์ที่ร้อนแรงขึ้น
แผนที่นี้แสดงถึงหลายประเทศในยุโรป ที่อาจเกิดกรณีคล้ายกับสหราชอาณาจักรในเวลาอันใกล้นี้
บางคนเรียกว่า Angry Europe อีกบางคนตอกย้ำคำว่า Euroskeptics อันหมายถึงกลุ่มการเมืองในยุโรปหลายประเทศ ที่ไม่เห็นความจำเป็นจะต้องรวมตัวกันเป็น “สหภาพ” เพราะผลประโยชน์ที่ได้จากการรวมกลุ่ม มีน้อยกว่าที่จะแยกตัวในลักษณะต่างคนต่างอยู่
หรือไม่ก็ต้องมีการปฏิรูปอียูครั้งใหญ่ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต่างคนต่างก็มีเงื่อนไขที่แตกต่างของตนเอง
ประเทศที่มีอาการเหมือนจะเดินตามอังกฤษ ณ ขณะนี้มีไม่น้อยกว่า 5 ประเทศคือ
ฝรั่งเศส
เนเธอร์แลนด์
ออสเตรีย
ฟินแลนด์
ฮังการี
นอกจากนี้ก็ยังมีความไม่พอใจสหภาพยุโรป กระจัดกระจายในสแกนดิเนเวียและยุโรปตะวันออก.. เป็นความรู้สึกต่อต้านที่ค่อย ๆ สั่งสมขึ้นมา และเมื่ออังกฤษทำเป็นตัวอย่างขึ้นมาแล้ว ก็กระตุ้นให้เกิดแรงกระเพื่อมรุนแรงตามมาอย่างปฏิเสธไม่ได้
ท้ายสุดจะเหลือเยอรมนีที่เป็นป้อมปราการหลักของสหภาพยุโรปหรือไม่ ยังไม่แน่ เพราะหากมีคลื่นแห่งการแยกตัวถาโถมมาเช่นนี้ ผู้นำเยอรมันก็จะต้องทบทวนจุดยืนของตัวเอง หรือไม่ก็จะต้องเป็นหัวหอกแห่งการปฏิรูปองค์กรนี้อย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้ป้อมปราการด่านสุดท้ายแห่งนี้ ต้องพังสลายโดยที่ไม่มีใครรู้ว่าจะมีผลร้ายแรงต่อโลกอย่างไรในวันข้างหน้า
กลุ่มการเมืองต่อต้านอียูในฝรั่งเศส ดูเหมือนจะมีความเคลื่อนไหวหนักหน่วงกว่าหลายประเทศในยุโรป
พรรค Front National ที่นำโดย Marine Le Pen ลูกสาวผู้ก่อตั้งพรรค Jean-Marie Le Pen กำลังรณรงค์ให้ฝรั่งเศสแยกตัวออกจากอียู เรียกตัวเองว่า “Madame Frexit” (ตามแบบ Brexit ของอังกฤษ) โดยมีนโยบายหลักคือต่อต้านคนต่างด้าวอพยพเข้าประเทศ ต่อต้านอิสลาม และต่อต้านสหภาพยูโรป
พรรคเอียงขวาสุด ๆ พรรคนี้แม้ว่าในการเลือกตั้งปี 2007 จะได้เพียง 0.1% ของเสียงทั้งหมด แต่ในปี 2012 ก็ขยายฐานเสียงไปถึง 3.7% เพราะเกิดวิกฤตการเมืองยุโรปในช่วงนั้น ทำให้ประชาชนคนฝรั่งเศสหันมาคิดถึงตัวเองมากกว่าที่จะเห็นตัวเองเป็น “ชาวยุโรป”
วันนี้ โพลล์หลายสำนักบอกว่าเธอเป็นที่ชอบพอของประชาชน 28% ในฐานะผู้สมัครตำแหน่งประธานาธิบดีคนต่อไป
แม้พรรคขวาตกขอบจะไม่มีโอกาสเป็นรัฐบาล แต่บทเรียนจากสหราชอาณาจักรสะท้อนแล้วว่าพรรคการเมืองเล็ก ๆ ที่มีนโยบายสุดขั้วไปทางใดทางหนึ่งที่โดนใจชาวบ้าน ก็อาจขับเคลื่อนให้เกิดการลงมติแยกตัวออกจากอียูได้
กรณีอังกฤษเป็นตัวอย่างที่ดี การลงประชามติครั้งนี้เกิดจากการผลักดันของพรรค UK Independence Party (UKIP) นำโดย Nigel Farage จน นายกฯเดวิด คาเมรอน ต้องรับปากจะให้มีการทำประชามติเรื่องอียู จนกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตไปทั่วโลกอย่างที่เห็นกันในสัปดาห์ที่ผ่านมา
ที่อิตาลี พรรคฝ่ายค้าน 5 Star Movement (M5S) กำลังรณรงค์ให้ออกจาก Eurozone เพราะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ถูกมองว่าเกิดจากการร่วมใช้เงินสกุลยูโร ขณะที่รัฐบาลของนายกฯแมททีโอ เรนซี พยายามจะประคองเศรษฐกิจของประเทศให้พ้นจากปัญหาหนักหน่วง (หนี้สาธารณะของอิตาลีต่อจีดีพีพุ่งไปที่ 130% แม้จะเป็นเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 3 ของอียูก็ตาม)
แต่พอเกิดกระแส Brexit ของอังกฤษแล้ว ก็ทำให้กลุ่มการเมืองที่ต่อต้านอียูอยู่แล้ว หรือที่พยายามหา “แพะรับบาป” ต่อปัญหาที่ตนเผชิญอยู่ ได้โอกาสสร้างวาทกรรมเพื่อผลักดันให้มีประชามติให้ถอนตัวออกจากอียูทันที
หลายสาเหตุเป็นเพราะความเทอะทะ และระบบราชการของสหภาพยุโรป ข้อนี้เป็นความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้
แต่หนทางแก้ปัญหาคือ การปฏิรูปกลไกของการทำงานร่วมกัน ของสมาชิกสหภาพทั้งหมด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับมวลหมู่สมาชิก
แต่หากการแก้ไขคือการเดินสู่สภาพ “ล่มสลาย” ของสหภาพยุโรป สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นย่อมหมายถึงความสับสนปั่นป่วน และความไม่แน่นอนในระดับที่สูงถึงจุดที่ไม่มีใครสามารถทำนายได้ว่า จะเกิดอะไรขึ้นต่อไปกับเศรษฐกิจและสังคมโลก
อะไร ๆ กำลังเข้าสู่โหมดของความผันผวน ที่ไม่มีใครสามารถกำกับควบคุมไปทางใดทางหนึ่งได้... ทราบแล้วโปรดรัดเข็มขัดให้แน่น!