หากอังกฤษผละจากอียู ผลกระทบต่อเราเป็นเช่นไร?

หากอังกฤษลงประชามติวันที่ 23 มิ.ย.นี้แล้ว
เสียงส่วนใหญ่ให้ออกจากสหภาพยุโรป ส่วนอื่น ๆ ของโลกจะได้รับผลกระทบอย่างไร?
นักวิเคราะห์หลายฝ่ายมองว่า ในแง่การลงทุนและค้าขายสำหรับเอเชีย (ซึ่งหมายรวมถึงไทยด้วย) จะมีผลเสียมากกว่าผลดีอย่างค่อนข้างชัดเจน
ผลกระทบระยะสั้นสำหรับไทย ก็คงจะเห็นเงินปอนด์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ และเงินบาทก็อาจอ่อนค่าลง เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ และเงินเยนก็อาจแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับบาท
เงินลงทุนโดยตรงของไทยในสหราชอาณาจักรมีประมาณ 4.4% ผลกระทบทางตรงก็คงจะไม่หนักหน่วงนัก
เนื่องจากยอดส่งออกของไทยไปสหราชอาณาจักรอยู่ที่ประมาณ 2% ผลทางตรงต่อไทยคงไม่รุนแรงนัก ไม่ว่าจะสำหรับผู้ส่งออกรถยนต์ อาหารไก่แปรรูปหรือแผงวงจรไฟฟ้า
กระทรวงการคลังอังกฤษออกบทวิเคราะห์เมื่อเร็วๆ นี้ว่าผลที่ตามมาจะทำให้การส่งออกของอังกฤษลดลง ราคาข้าวของจะแพงขึ้นและอาจเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้
พูดง่ายๆ คือหากอังกฤษสลัดตัวออกจากอียู ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการค้าขายกับประเทศส่วนอื่นๆ ของโลกจะเกิดอาการชะงักงันทันที
คู่ค้าสำคัญของอังกฤษในเอเชียคือจีน อินเดียและญี่ปุ่นรวมถึงอาเซียน จะอยู่ในสภาพงุนงงไม่น้อยหากประชามติวันพฤหัสฯนี้ ออกมาให้อังกฤษถอนตัวออกจากอียู
เพียงแค่ขั้นตอนที่ต้องลาจากยาวนานถึงสองปี ก็ย่อมสร้างความประหวั่นพรั่นพรึงพอสมควร
สำหรับอังกฤษแล้วการยังเป็นส่วนหนึ่งของอียู ทำให้การต่อรองและเจรจากับเอเชีย เรื่องการค้าการลงทุนทำได้ในกรอบที่ใหญ่กว่า ทำให้ปริมาณการค้าขายสูงกว่าที่ต่อรองในฐานะอังกฤษเพียงประเทศเดียว
ประเทศในเอเชียไม่น้อยเห็นอังกฤษเป็น “ประตูสู่ยุโรป” แต่หากอังกฤษถอนตัวออกจากอียู ชาติต่างๆ ในเอเชียก็ต้องแยกกันเจรจา ระหว่างสหภาพยุโรปกับอังกฤษ ซึ่งทำให้โอกาสที่จะทำมาค้าขึ้นกับอังกฤษ ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของอียูลดน้อยถอยลง
บริษัทใหญ่ๆ ในอังกฤษเองก็สะท้อนความต้องการอยู่กับอียูต่อไป โดยที่หอการค้าอังกฤษรายงานว่าสมาชิก 55% เห็นพ้องว่าอังกฤษควรจะอยู่กับสหภาพยุโรปต่อไป โดยมีเงื่อนไขว่าอียูต้องมีการปฏิรูปในหลายๆ ด้านเพื่อเสริมสร้างประโยชน์กับสมาชิกอย่างเป็นรูปธรรมมากกว่าที่เป็นอยู่
อีกเหตุผลหนึ่งที่ผู้นำเอเชียอยากให้อังกฤษยังเป็นส่วนสำคัญของสหภาพยุโรป ก็คือการที่อังกฤษสามารถเล่นบทบาทเป็นจุดเชื่อมโยงกับส่วนอื่นๆ ของอียู
ผู้นำจีน อินเดียและญี่ปุ่นได้แสดงความเห็นเป็นที่ประจักษ์ ว่าไม่อยากให้ประชามติอังกฤษออกมา ในแนวทางที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ในโครงสร้างของสหภาพยุโรปรุนแรงเช่นนี้
เพราะไม่มีอังกฤษในอียู ความสัมพันธ์ของเอเชียกับอียูก็จะต้องมีการปรับตัว และยังไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าจะต้องปรับตัวไปทางใด
และหากอังกฤษหลุดลอยไปจากอียู สิ่งที่จะตามมาคือผู้คนในประเทศอื่นๆ ในยุโรปก็อาจจะเริ่มต้องการให้มีการทำประชามติในเรื่องนี้บ้าง
ผลการสำรวจความเห็นออนไลน์เมื่อเดือนที่แล้ว ถามคนกว่า 60,000 คนในหลายๆ ประเทศของยุโรปมีผลออกมาว่า 45% ต้องการให้รัฐบาลของตัวเอง จัดให้ทำประชามติเรื่องควรหรือไม่ควร อยู่เป็นสมาชิกต่อหากอังกฤษถอนตัวออกไป
คำตอบมาจากคนในเยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี เบลเยียม สเปน สวีเดน ฮังการีและโปแลนด์
นั่นย่อมแปลว่าหากอังกฤษโบกมืออำลาสหภาพยุโรป ความยุ่งเหยิงและสับสนก็จะเกิดขึ้น อย่างน้อยในช่วงแรกๆ หลายปี ซึ่งจะมีผลกระทบอย่างหนัก เพราะอังกฤษจะต้องเปิดการเจรจากับอีก 27 ประเทศในอียูใหม่หมด เพื่อทำสัญญาการค้าการลงทุนและกิจกรรมการไปมาหาสู่กันทั้งหลายทั้งปวง
ข่าวบอกว่าบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Fitch Ratings ยังคงอันดับความน่าเชื่อถือของอังกฤษอยู่ที่ AA+ แต่ก็เตือนว่าหากอังกฤษเลือกเส้นทาง Brexit คือผละออกจากอียู อาจถูกปรับลดอันดับลงได้
รัฐบาลไทยมีจุดยืนเรื่องนี้อย่างใดหรือไม่ไม่ปรากฏ หรือมีการศึกษาเรื่องนี้สำหรับประเทศไทยเพียงใดก็ไม่ได้แจ้งกับคนไทย อาเซียนเองก็ไม่ได้มีคำแถลงร่วมกันในประเด็นนี้แต่อย่างไร
สำหรับผม บวกลบคูณหารผลดีผลเสียสำหรับไทยแล้ว อังกฤษเป็นส่วนหนึ่งของอียู ย่อมส่งผลบวกด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมได้ดีกว่าอังกฤษแยกตัวออกมา พร้อมเงื่อนไขและบรรยากาศที่แตกต่างไปจากเดิม... ยกเว้นเสียแต่ว่าจะมีข้อมูลใหม่ที่ยังไม่ได้รับรู้จากฝั่งเราเท่านั้น