จากเผาลำไยถึงมันสำปะหลัง ใครรับผิดชอบความเสียหาย..?

ผลพวงจากโครงการประชานิยม ที่ไร้ความรับผิดชอบ
ผลพวงจากนโยบายจูงใจ ด้วยการทำโครงการที่ผิดแปร่งเพื่อแลกคะแนนเสียง ได้สร้างความเสียหายไปทั่ว
สร้างความเสียหายโดยไร้ซึ่งเหตุผลและความชอบธรรม เสียหายต่องบประมาณแผ่นดินมหาศาลในแต่ละปี โดยแทบจะเรียกได้ว่าไร้ซึ่งประโยชน์โภคผลต่อเม็ดเงินงบประมาณที่ใช้จ่ายลงไป
ไม่นานมานี้เราได้เห็นข่าว องค์การคลังสินค้าหรืออคส. ได้เสนอให้เผาทำลายมันสำปะหลัง จากโครงการจำนำหรือแทรกแซงตลาดสินค้าเกษตร ที่เก็บมาหลายปีจนเน่าเสียหายเป็นฝุ่นเป็นแป้ง ไม่สามารถใช้การได้แม้กระทั่งนำไปทำเป็นอาหารสัตว์
ก่อนที่จะเปลี่ยนใจในภายหลัง ที่จะไม่เผาทำลาย แต่จะเปลี่ยนไปเป็นเผาเพื่อผลิตปูนซีเมนต์ หรือเผาเพื่อผลิตไฟฟ้าแทน
พล.ต.ต.ไกรบุญ ทรวดทรง ประธานคณะกรรมการองค์การคลังสินค้า (บอร์ด อคส.)บอกว่า ได้รายงานถึงแนวทางจัดการปัญหามันเส้นในสต็อกรัฐบาลปริมาณ 3.87 แสนตัน ต่อนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมวพาณิชย์ซึ่งรมว.พาณิชย์เห็นชอบในหลักการที่อคส. จะเร่งแก้ไขปัญหามันเส้นในสต็อกให้หมดไปโดยเร็วที่สุด เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บสต็อกมันเส้นเดือนละ 11 ล้านบาท
มันเส้นที่ได้จากโครงการแทรกแซงปี 2551/52 ปริมาณ 3.14 หมื่นตัน จากเดิมที่มีแนวทางในการเผาทำลายทิ้ง เพราะเสื่อมสภาพอย่างหนักนั้น ทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีได้ทำผลศึกษาแล้ว ตอบกลับว่ามันเส้นปีดังกล่าวสามารถนำไปทำเชื้อเพลิงผลิตปูนซีเมนต์ได้ รวมถึงทำไฟฟ้าและเอทานอลได้ ทางอคส.จึงจะมีการจัดทำแผนรายละเอียดถึงค่าใช้จ่าย และวิธีการในการระบายมันเส้นเข้าสู่อุตสาหกรรมทางเลือก และเสนอแผนต่อคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง (นบมส.) เห็นชอบต่อไป
เป็นตัวอย่างของการใช้เงินงบประมาณ โดยไร้ซึ่งความรับผิดชอบจากฝ่ายการเมือง ในการแทรกแซงสินค้าเกษตร เป็นการถมเงินลงไปเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หวังเพียงเพื่อยกระดับราคาชั่วคราว
แต่ไม่ได้วางระบบในการติดตามตรวจสอบ เมื่อรับสินค้ามาแล้ว จะดำเนินการติดตามตรวจสอบ ระบายสินค้าออกไปอย่างไรในช่วงเวลาที่เหมาะสม โดยไม่ปล่อยให้เน่าคาโกดัง เสียหายอย่างสิ้นเชิง
ไม่มีระบบบัญชีในการติดตามสต็อก และไม่มีการชำระบัญชีในแต่ละรอบปี เพื่อบริหารจัดการสต็อกให้เสียหายน้อยที่สุด หรือมีระบบบัญชีที่ช้าเกินไปไม่สามารถรองรับความเสียหายที่เกิดขึ้นได้
เป็นจุดอ่อนสำคัญของการแทรกแซงสินค้าเกษตร ผ่านกลไกข้าราชการและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เพราะไม่ได้คำนึงผลกระทบ กำไร ขาดทุน ซึ่งจะต่างจากภาคเอกชนถ้าเป็นธุรกิจเอกชน และปล่อยให้การบริหารงานเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น ต้องมีผู้รับผิดชอบ ตั้งแต่หัวหน้าแผนกสโตร์ไปจนถึงซีอีโอ
ไม่ได้ปฎิเสธการแทรกแซงสินค้าเกษตร บางครั้งมีความจำเป็นที่ต้องทำเพื่อยกระดับราคาเฉพาะหน้า ด้วยสถานการณ์ทีี่สินค้าเกษตรไทยต้องพึ่งพิงตลาดโลกสูงมาก เมื่อตลาดโลกราคาลงเกินกว่าที่เกษตรกรจะรับภาระได้ เป็นหน้าที่ของรัฐในการเข้าดูแล
เพียงแต่แผนตามหลังของการดูแลสินค้าเกษตร หลังจากไปรับจากมือเกษตรกรมาแล้ว ทั้งนักการเมืองผู้ทำนโยบายหรือข้าราชการผู้ปฏิบัติได้คิดคำนึงถึงส่วนนี้บ้างหรือไม่ หรือธุระไม่ใช่ !!
ยุคหนึ่งสมัยหนึ่งมีการเผาทำลายลำไย จากโครงการจำนำเก่าเก็บและเสียหายจนใช้การไม่ได้ แถมต้องใช้งบประมาณเพิ่มในการเผาด้วยซ้ำ เพียงไม่กี่ปีต้องมาเผามันสำปะหลังโดยสูญเปล่าอีก
จากลำไยถึงมันเส้นและคิวต่อไปอาจเป็นข้าว
ใครจะรับผิดชอบความเสียหายตรงนี้บ้าง..
นักการเมืองนอกจากไม่รับผิดชอบแล้ว ยังทวงบุญคุณว่าช่วยยกระดับราคา ทั้งที่ไม่ได้ใช้เงินตัวเองด้วยซ้ำ แต่เป็นเงินหลวงทั้งสิ้น
เราจะเดินไปกันอย่างนี้หรือ....?