ส่องเกมการค้าโลกในยุคดิจิทัล ปรับเปลี่ยนอย่างไรไม่ให้ตกเทรนด

ส่องเกมการค้าโลกในยุคดิจิทัล ปรับเปลี่ยนอย่างไรไม่ให้ตกเทรนด

การก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล นับเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อภาคธุรกิจ

รวมถึงลดอุปสรรคและต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การกระจายและการจัดจำหน่ายสินค้า รวมไปถึงการทำการตลาดของผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ การซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างประเทศก็เช่นเดียวกัน ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย เช่น ผู้คนเปลี่ยนการซื้อหนังสือจากต่างประเทศที่เป็นรูปเล่มไปสั่งซื้อ e-book ผ่านร้านค้าออนไลน์ หรือเปลี่ยนจากการซื้อซีดีเพลง ไปเป็นการดาวน์โหลดไฟล์เพลงจากเว็บไซต์ต่างๆ และด้วยปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์และโมเดลธุรกิจของตน เพื่อรับมือกับความท้าทายและโอกาสใหม่ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น

โดยอีไอซีเสนอกลยุทธ์ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจในยุคดิจิทัลโดยกลยุทธ์แรก คือ ผู้ประกอบการควรใช้ประโยชน์จากการก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลเพื่อพัฒนาธุรกิจของตน ด้วยการปรับตัวและเตรียมพร้อมรับโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่เข้ามาตลอดเวลา โดยสามารถทำได้ 3 ทาง

1) แสวงหาช่องทางการค้าขายใหม่ๆ อยู่เสมอ เนื่องจากการเข้าสู่ยุคดิจิทัล ช่วยเปิดโอกาสใหม่ๆ และขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้นกว่าเดิม แม้กระทั่ง Walmart บริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่ของโลก ยังได้รุกเข้าสู่ตลาดออนไลน์ในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมาและในปีนี้ตั้งเป้าเพิ่มการลงทุนอีกราว 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในธุรกิจ e-commerce สะท้อนให้เห็นว่าการค้าขายออนไลน์ เป็นช่องทางการค้าที่สำคัญที่แม้กระทั่งบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกก็ไม่อาจมองข้ามได้

2) ปรับตัวให้เข้ากับระบบการซื้อขายแบบใหม่ ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เทคโนโลยีการชำระเงินในปัจจุบันมีความทันสมัย ทำให้ลูกค้าสามารถเลือกซื้อและชำระเงินค่าสินค้าและบริการได้ง่ายขึ้น ด้วยขั้นตอนที่น้อยลง หรือที่เรียกกันว่า “one-click solution” ผ่านระบบออนไลน์ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าไปทำธุรกิจในต่างประเทศ จะต้องเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับความแตกต่างในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งระบบการชำระเงินที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ เพื่อให้เข้าถึงและอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าได้มากขึ้น เช่น ในไทย ลูกค้าบางรายยังไม่นิยมซื้อสินค้าออนไลน์ เนื่องจากยังไม่เชื่อมั่นด้านความปลอดภัยของการทำธุรกรรมทางการเงิน ผู้ประกอบการหลายรายจึงหันมาใช้ทางเลือกการเก็บเงินปลายทาง หรือชำระผ่านร้านสะดวกซื้อ หรือศูนย์บริการ นอกเหนือไปจากการชำระผ่านบัตรเครดิต บัตรเดบิต และการตัดบัญชีธนาคาร

3) พัฒนาแผนการตลาดและการสื่อสารกับลูกค้า โดยอาศัยช่องทางใหม่ๆ การก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลมีผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบันเปลี่ยนไป ดังนั้น บริษัทและแบรนด์สินค้าต่างๆ ควรปรับกลยุทธ์ในการสื่อสาร และทำการตลาดให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวด้วย ซึ่งปัจจุบันหลายๆ บริษัทได้หันมาใช้โซเชียลมีเดีย และกลยุทธ์ทางการตลาดแบบดิจิทัล ตลอดจนใช้ระบบวิเคราะห์ทางการตลาดต่างๆ มากขึ้น ทั้งนี้ การตลาดออนไลน์ นับเป็นช่องทางที่มีประสิทธิภาพในการเข้าถึงลูกค้าจำนวนมาก ได้ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว

กลยุทธ์ต่อมาคือ การสร้างสรรค์รูปแบบธุรกิจและผลิตภัณฑ์แบบใหม่ๆ เพื่อตอบรับกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก บริษัทต่างๆ ไม่อาจนิ่งนอนใจได้ว่า กลยุทธ์ หรือรูปแบบธุรกิจที่ใช้อยู่ในปัจจุบันจะใช้ได้ไปตลอด จึงต้องเปิดรับความคิดสร้างสรรค์และมุมมองใหม่ๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับระบบดิจิทัล ตั้งแต่ระดับการบริหารจัดการ เรื่อยไปจนถึงการคิดผลิตภัณฑ์ออนไลน์ใหม่ๆ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น Apple ซึ่งเคยเป็นเพียงแค่บริษัทเล็กๆ ที่ใกล้ล้มละลาย จนกระทั่งบริษัทได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ iMac เครื่องแรกขึ้นมาในปี 1998 ทำให้ปัจจุบันกลายมาเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงสุดในโลก

ในทางกลับกัน Kodak เป็นบริษัทที่ไม่ยอมรับว่า โลกของการถ่ายภาพได้เปลี่ยนไปแล้ว และไม่ปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป ท้ายสุด ธุรกิจของ Kodak จึงค่อยๆ ซบเซาลง และถูกฟ้องล้มละลายในที่สุด นอกจากนี้ สถานการณ์คล้ายคลึงกันนี้ยังเคยเกิดขึ้นกับ Blockbuster, Research in Motion (ผู้ผลิต Blackberry) และ Nokia เมื่อปี 2012ที่ผ่านมา

และกลยุทธ์สุดท้ายคือ ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ยังสามารถใช้การก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเข้าสู่เวทีการค้าโลก การก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ได้พลิกโฉมการค้าระหว่างประเทศไปอย่างมาก เทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเฉพาะในหมวด e-commerce สามารถช่วยให้ผู้ประกอบการรายเล็กๆ อย่าง SMEs หรือบุคคลทั่วไป กลายเป็นบริษัทข้ามชาติหรือ micro-multinationals ได้ รวมทั้งยังช่วยให้บริษัทขนาดเล็ก มีระบบการบริหารจัดการที่ง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงขยายฐานลูกค้าได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยกรณีศึกษาที่น่าสนใจ คือ Nasty Gal ผู้ค้าปลีกเครื่องแต่งกายแฟชั่นสัญชาติอเมริกันที่เริ่มต้นจากการเป็นเพียงร้านขายของออนไลน์เล็กๆ บน eBay โดยขายเสื้อผ้า รองเท้า เครื่องประดับแนววินเทจ จนกลายมาเป็นผู้เล่นในตลาด e-commerce ที่มียอดขายกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในระยะเวลาเพียง 7 ปี เท่านั้น ด้วยสไตล์อันเป็นเอกลักษณ์ และการทำการตลาดออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเราคงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การตลาดออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพ คือส่วนสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จครั้งนี้

อาจกล่าวได้ว่า การก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ทำให้บริบททางการค้าเต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงและความท้าทาย ดังนั้น ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจ จึงไม่ควรนิ่งนอนใจใช้การดำเนินธุรกิจแบบเดิมๆ ซึ่งอีไอซีมองว่า ผู้ประกอบการควรก้าวทันความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพื่อจะได้ปรับตัวและนำเสนอสินค้าใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่แตกต่างกันไปตามยุคสมัย นอกจากนี้ ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs ยังสามารถใช้นวัตกรรมต่างๆ ในยุคดิจิทัลเป็นช่องทางในการขยายโอกาสทางการค้ากับต่างประเทศอีกด้วย เพราะการทำการค้าระหว่างประเทศในยุคนี้ สามารถทำได้ง่ายเพียงแค่ปลายนิ้วมือ

---------------

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทวิเคราะห์เชิงลึก EIC Insight หัวข้อ “เดินเกมการค้าอย่างไร…เมื่อเทรนด์โลกเปลี่ยน?” สามารถอ่านฉบับเต็มได้ที่ www.scbeic.com