ปฎิรูปการทำงาน สภาปฏิรูป

นักสันติวิธีผู้ "ถนัดถนี่" การทำกระบวนการ "สานเสวนาหาทางออก" อย่าง หมอวันชัย วัฒนศัพท์
อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น และอดีตผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ออกมาแสดงความเป็นห่วงเรื่อง "กระบวนการทำงาน" ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช.
O หมอวันชัย บอกว่าเห็นด้วยที่ คสช.แบ่งการปฏิรูปออกเป็นด้านๆ รวม 11 ด้าน แล้วเลือกเอาคนมีความรู้ความสามารถในแต่ละด้านมาออกแบบการปฏิรูปในด้านนั้นๆ แต่ที่น่าห่วง คือ กระบวนการของการหาข้อยุติในแต่ละมิติของประเด็นปัญหา เพราะหากสมาชิก สปช.แต่ละด้านใช้กระบวนการตัดสินใจแบบเดิมๆ เพื่อผลักดัน "พิมพ์เขียวปฏิรูป" ของตนเอง อาจเกิดความเห็นต่างและความขัดแย้งขึ้นได้ไม่ยาก
O ด้วยเหตุนี้ หมอวันชัย จึงเสนอไอเดียว่า การปฏิรูปในสาขา "อื่นๆ" หรือด้านที่ 11 นั้น น่าจะคุยและออกแบบกันเรื่อง "กระบวนการ" ที่จะปฏิรูปแล้วนำไปสู่ความปรองดองด้วย คือ ปฏิรูปสำเร็จโดยที่ไม่ทะเลาะกัน เพราะกระบวนการที่มักใช้กันเป็นส่วนใหญ่ยังเป็น "ประชาธิปไตยแบบเดิมๆ" คือ ลงมติด้วยการยกมือโหวต หรือ vote-centric หมายถึงใช้การยกมือลงมติเพื่อยุติความเห็นที่แตกต่าง ทั้งๆ ที่ปัจจุบันมีแนวทางที่ได้รับการยอมรับมากกว่า คือ talk-centric ซึ่งก็ได้แก่กระบวนการสานเสวนาหาทางออก หรือ deliberation
O หากมองในมิติที่กว้างขึ้นในระดับของการปกครอง ก็เรียก deliberative democracy หรือประชาธิปไตยแบบสานเสวนาหาทางออก ซึ่งเป็นรากฐานของประชาธิปไตยอเมริกา คือ วัฒนธรรมของสังคมที่ว่าเมื่อมีปัญหาต้องหันหน้ามาพูดคุยกัน ไม่ใช่ทะเลาะกัน แต่บ้านเรายังไม่ค่อยเห็น มีแต่ชี้หน้าด่ากัน ฉันถูก-เธอผิด
O หมอวันชัย สรุปว่า การปฏิรูปในสาขาต่างๆ หากจะให้นำไปสู่การปรองดอง จะต้องปฏิรูป "กระบวนการทำงาน" ด้วย นั่นก็คือการสร้างการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง มีการรับฟังกันเพื่อหา "ฉันทามติ" ซึ่งไม่ใช่เกี้ยเซี้ยหรือมายอมๆ กัน แต่เป็นการทำความเข้าใจกันจนยอมรับเหตุผลของกันและกันโดยไม่ต้องโหวตตัดสินแพ้-ชนะ
O ที่สำคัญ...การสร้างการมีส่วนร่วมต้องลงไปถึงประชาชน และต้องให้เข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่แรก ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญหรือนักวิชาการไปทำกันมาจนเสร็จแล้วค่อยนำมาประชาพิจารณ์กับประชาชน...อย่างนั้นวุ่นแน่
O หมอวันชัย โยนโจทย์ทิ้งท้ายว่า การออกแบบปฏิรูปประเทศในแต่ละสาขาที่มีผู้รู้ "ฝ่าด่านอรหันต์" เข้าไป หากเอาแค่ผู้รู้มาตัดสินใจแต่ละเรื่องจะเหมาะสมที่สุดไหม ฉะนั้นกระบวนการที่ คสช.จะต้องสนใจให้มาก คือ กระบวนการประชาเสวนาหาทางออก โดยให้แต่ละสาขายกร่างพิมพ์เขียวปฏิรูปขึ้นมา ให้มีสัก 4-5 รูปแบบ แล้วระบุข้อดีข้อด้อยให้เห็นชัดเจน จากนั้นใช้ "กระบวนการประชาเสวนาหาทางออก" ทำทั่วประเทศ หากสำเร็จจะทำให้การปฏิรูปมีความยั่งยืน และมีฐานยึดโยงกับประชาชน
O และสิ่งที่ต้องไม่ลืม คือ ปัญหาของชาวบ้านต้องถูกหยิบยกขึ้นมาด้วย โดยให้นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญไปทำสิ่งที่เรียกว่า issue book เพื่อสรุปประเด็นปัญหา และเสนอทางเลือกหลายๆ ทาง แล้วนำไปสู่กระบวนการประชาเสวนาหาทางออกเช่นเดียวกัน
O สำหรับหมอวันชัย เสนอตัวเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิก สปช.ด้วย โดยมีมูลนิธิต่อต้านโรคมะเร็ง โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ส่งเข้าประกวด
O ปิดท้ายด้วยหนังสือน่าอ่านจาก "คนข่าว" สายอาชญากรรมผู้มากประสบการณ์...รวมเล่ม "เขี้ยวเล็บมือปราบ พระเครื่องนักสืบ-เครื่องรางนักรบ" เล่ม 2 โดย กิตติพงศ์ นโรปการณ์ รีไรเตอร์อาชญากรรมหน้า 1 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ผู้สนใจหาซื้อได้บนแผงหนังสือชั้นนำ