พ.ย. เดือนแห่งสันติภาพ : APEC in Bangkok

พ.ย. เดือนแห่งสันติภาพ : APEC in Bangkok

เรามาร่วมใจกันภาวนาให้โลกมีความสงบสุข ละ ลด เลิก แข่งขัน ข่มขู่กัน ทางเศรษฐกิจและสงคราม ข่าวการเมืองระหว่างประเทศนับวันยิ่งรุนแรง เทคโนโลยีสื่อสารมีมาก ข่าวร้ายกระพือเร็ว ข้อเท็จจริงโดนบิดเบือนระดับรากหญ้า การโฆษณาชวนเชื่อระดับรัฐ

ทำให้ทุกคนกังวลว่า เมื่อไหร่จะเกิดมหาภัยใกล้ตัว ภาวนาอย่างเดียวก็คงจะไร้ผล ฉะนั้นเรามาเตรียมการในสิ่งที่เราทำได้ ชาวไทยอาจจะเป็นทูต และไทยอาจเป็นเวทีแห่งสันติภาพในเดือนพ.ย.นี้

คงเป็นนิมิตหมายอันดีในภูมิภาค ที่จะมีการประชุมสำคัญสองครั้งติดต่อกันในที่บาหลี และกรุงเทพ งานแรกคือเศรษฐกิจใหญ่ 20 ประเทศ The Group of Twenty (G20) ส่งผู้นำมาประชุมที่บาหลี 15-16 พ.ย. ในกลุ่ม G20 นี้ มีอเมริกา จีนและรัสเซียด้วย 

ประเด็นของการเจรจาเพื่อรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจโลกและแก้ปัญหาใหญ่เฉพาะหน้า แม้จะเตรียมประเด็นรอบคอบอย่างไร ถึงเวลาจริงความบาดหมางเรื่องร้อนแห่งปีคือยูเครน ซ้ำเติมกับการปะทะทางเศรษฐกิจของกลุ่มตะวันตกและจีน การพยายามแบ่งฝ่าย กลั่นแกล้งและปิดล้อม ฯลฯ ก็คงออกมาเป็นอุปสรรค 

ผลงานก็คงมีบ้าง แต่การพบกันครั้งแรกในรอบสองปีครึ่งหลังจากโควิดระบาด การประชุมที่บาหลีจึงน่าจะเป็นการอุ่นเครื่องให้การประชุมที่กรุงเทพฯมากกว่า

หากสันติภาพของโลกจะหวนกลับมาจริง ความหวังน่าจะอยู่ที่เสน่ห์ชาวไทย วันที่ 18-19 พ.ย. การประชุม The Asia-Pacific Economic Cooperation (APEC) ที่กรุงเทพฯ โดยสมาชิก 21 ประเทศริมมหาสมุทรแปซิฟิค ผู้นำอเมริกา จีนและรัสเซีย หลังจากประลองกำลังกันที่บาหลีแล้ว การมาพบกันอีกครั้งที่กรุงเทพฯ คงเป็นโอกาสให้ตั้งตัวใหม่ หาผลงานกลับบ้านให้ได้

แม้ฝ่ายเจ้าหน้าที่ทุกระดับจะแสดงความสามารถ ใช้ชั้นเชิงเพื่อชิงผลประโยชน์ แต่คาดว่า ประธานาธิบดีไบเดน กับ ประธานาธิบดี สีเจิ้นผิง คงหาทางคุยกันนอกรอบเป็นส่วนตัว และความนับถือระหว่างเขาสองคนซึ่งมีมานานแล้ว อาจเปิดช่องทางให้ทีมงานหาทางประนีประนอม เริ่มที่ก้าวเล็กๆ แลกเปลี่ยนความเห็น ลดอารมณ์ และหาวิธีประสานงานกันเพื่อให้เกิดผลบวกทางเศรษฐกิจ อาจมีการตกลงในภาคปฏิบัติ ซึ่งทั้งอเมริกาและจีนได้ประโยชน์

ซอฟท์พาวเวอร์ของไทยที่เด่นและเป็นที่เป็นธรรมชาติมาก คือการต้อนรับขับสู้ งานใหญ่ระดับโลกอย่างนี้เราถนัดอยู่แล้ว ไทยมีชื่อเสียงทั่วโลกเรื่องการวางตัวดี มีมารยาท รักษาน้ำใจทุกฝ่าย ไม่เลือกที่รักมักที่ชังอย่างออกหน้าออกตา ถนอมน้ำใจมหาอำนาจมาสม่ำเสมอ ทั้งอเมริกา จีนและรัสเซีย นับไทยเป็นเพื่อน และที่สำคัญคือไทยไม่ใช่ศัตรู

กระแสข่าวทั้งสื่ออาชีพและโซเชียลมีเดียส่วนใหญ่ มักรายงานและวิเคราะห์ข่าวร้ายมากกว่าข่าวดี จุดตกต่ำของความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มตะวันตกซึ่งนำโดยอเมริกา และจีน นั้นเป็นเรื่องจริง แต่ทุกอย่างต้องมองจากหลายแง่มุม และในบริบทที่เหมาะสม

ผู้นำสหรัฐมาประชุมครั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะมาด้วยความเข้มแข็งหรือบอบช้ำ หาก ปธน.ไบเดน โชคดีก็จะรักษาเสียงข้างมากในสภาผู้แทนและวุฒิสภาได้ (ซึ่งรู้ผลการเลือกตั้งวันที่ 8 พ.ย.) ปฏิกิริยาในการประชุมก็จะเป็นลักษณะหนึ่ง แต่หากเสียเสียงข้างมากในสภาใดสภาหนึ่ง จะมาประชุม G20 และ APEC ด้วยอำนาจการต่อรองที่จำกัด

ส่วนจีนนั้น หากไม่มีอะไรพลิกล็อค ปธน.สี ก็จะได้รับเลือกเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ต่ออีก ซึ่งหมายถึงการเป็นประธานาธิบดีต่อในสมัยที่สาม ปลายตุลาคมก่อนเดินทางมาประชุมก็จะทราบผล แต่สถานการณ์ในจีนยังประมาทไม่ได้ ความเสี่ยงในสามเดือนนี้น่าเป็นห่วง จุดเสี่ยงของอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ ผู้บริโภคกว่า 90 เมืองประท้วงบริษัทพัฒนาที่ดิน ธนาคาร และภาครัฐ

คนหนุ่มสาวชาวจีนในเมืองใหญ่ตกงานกว่า 20% และนโยบาย” Zeroโควิด” ทำให้เศรษฐกิจหลายเรื่องหยุดชะงัก ประชาชนเกิดความอึดอัดที่ไม่สามารถเดินทางไปทำธุรกิจต่างประเทศได้ ฯลฯ จึงประมาทไม่ได้ว่าทีมจีนจะเข้ามาประชุมที่บาหลีและกรุงเทพ ด้วยความเข้มแข็ง หรือมีปัญหาในบ้าน ที่ทำให้ต้องออกมาประนีประนอม

รัสเซียนั้นแม้จะพยายามรักษาภาพลักษณ์ของความเข้มแข็ง แต่อยู่ในภาวะลำบากกว่าเพื่อน การถูกตัดให้โดดเดี่ยวจากกลุ่มประเทศในยุโรปซึ่งเป็นลูกค้าสำคัญของสินค้าพลังงาน การคว่ำบาตรครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ ความสูญเสียในทางทหารทั้งชีวิตและทรัพยากรเกินกว่าที่ประเมินไว้ เศรษฐกิจการเงินการธนาคารในประเทศถึงจุดอันตราย เงินรูเบิลซึ่งดูเหมือนมีค่าสูงนั้น กลายเป็นสกุลตราที่แลกเปลี่ยนในตลาดโลกไม่ได้

ตลาดหุ้นลดมูลค่ากว่าครึ่ง ความแตกแยกระหว่างกลุ่มผู้มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจและนักการเมืองใกล้ชิดกับประธานาธิบดีปูติน ต่างๆเหล่านี้ ทำให้ต้องดิ้นรนหาพันธมิตรแท้ที่พึ่งได้ และอาจจำเป็นต้องจำยอมตกลงในบางอย่าง เพราะรายได้ประชาชาติและปริมาณเศรษฐกิจรวม มีมูลค่าต่ำกว่าจีนและสหรัฐมาก รัสเซียซึ่งนับว่าจีนเป็นเพื่อนแท้นั้น อาจอยู่ในภาวะที่กำลังเสียเปรียบต่อจีน

เศรษฐกิจใหญ่ทั้งหลายที่มาประชุม G20 และ APEC ในครั้งนี้  แน่นอนว่าต้องปกป้องผลประโยชน์ของตนเองก่อนเป็นสิ่งแรก แต่ขณะเดียวกันความขัดแย้งทางเศรษฐกิจระหว่างอเมริกากับจีน และสงครามในยูเครนซึ่งทำให้ NATO เข้ามาช่วยเหลือยูเครน และกลายเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัสเซียโดยเปิดเผยนั้น

เป็นผลเสียกระทบวงกว้างถึงทุกประเทศ เมื่อโรคระบาดและเงินเฟ้อกระทบกับความมั่นคง จนบางประเทศแทบจะล้มละลาย (อาร์เจนตินา ซึ่งเป็นสมาชิกของ G20 ขณะนี้ดอกเบี้ยธนาคาร 69.5% ต่อปี เป็นต้น) ประเทศที่มาประชุมเหล่านี้ก็คงอยากเห็นความตึงเครียดลดลง และความสามัคคีเพิ่มขึ้น 

วัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามของชนชาวไทย รวมทั้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในแผ่นดินสุวรรณภูมิแห่งนี้ อาจนำมาสู่จุดเปลี่ยนจากความขัดแย้งเป็นความร่วมมือ สติปัญญาของมนุษย์และเทคโนโลยีที่พัฒนามาถึงจุดมหัศจรรย์นี้ หากใช้ทำลายซึ่งกันและกันก็น่าเศร้าใจ ภาวนาให้ไทยเป็นเวทีที่ทุกฝ่ายตื่นตัว รักษาสันติภาพ รอคอยด้วยใจจดจ่อเดือนพ.ย.นี้ครับ