เสร็จการชำระบัญชีแต่บริษัทยังมีหนี้ค่าภาษี | สกล หาญสุทธิวารินทร์

เสร็จการชำระบัญชีแต่บริษัทยังมีหนี้ค่าภาษี | สกล หาญสุทธิวารินทร์

บริษัทที่เลิกกันต้องมีการชำระบัญชีเสมอ การชำระบัญชีเป็นการจัดการทรัพย์สิน จำหน่ายทรัพย์สิน ชำระหนี้ คืนทุน แบ่งกำไรของบริษัทและอาจต้องมีการสะสางการงานที่ค้างอยู่ด้วย

  • การเลิกบริษัท 

บริษัทจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีเหตุที่จะเลิกกัน 5 ประการ คือ เลิกกันตามเหตุที่กำหนดในข้อบังคับ หรือเลิกกันตามกำหนดเวลาที่จดทะเบียนไว้ หรือเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นเพื่อทำกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดเพียงกิจการเดียว เลิกกันเมื่อเสร็จสิ้นกิจการนั้น หรือเลิกกันตามที่ที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติพิเศษให้เลิก หรือเมื่อบริษัทล้มละลาย

นอกจากเหตุเลิกกันดังกล่าวแล้ว ศาลอาจสั่งให้เลิกบริษัทได้ ถ้ามีเหตุตาม ป.ป.พ.มาตรา 1237 บริษัทจำกัดแม้เลิกกันแล้ว กฎหมายถือว่ายังอยู่ ช่วงเวลาที่จำเป็นต้องชำระบัญชี 

  • การชำระบัญชีบริษัทที่เลิกกัน

บริษัทที่เลิกกันต้องมีการชำระบัญชีเสมอ การชำระบัญชีเป็นการจัดการทรัพย์สิน จำหน่ายทรัพย์สิน ชำระหนี้ คืนทุน แบ่งกำไรของบริษัทและอาจต้องมีการสะสางการงานที่ค้างอยู่ด้วย

  • เสร็จการชำระบัญชี

เมื่อการชำระบัญชีของบริษัทสำเร็จลง ผู้ชำระบัญชีต้องทำรายงานการชำระบัญชี เสนอที่ประชุมใหญ่อนุมัติ เมื่อที่ประชุมใหญ่อนุมัติแล้ว ผู้ชำระบัญชี ต้องไปจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี เมื่อนายทะเบียนรับจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีแล้ว เป็นการสิ้นสุดการชำระบัญชี เมื่อสิ้นสุดการชำระบัญชี มีผลเป็นการเลิกบริษัทที่สมบูรณ์

  • ความร่วมมือระหว่างกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและกรมสรรพากร

เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบติดตามเรียกเก็บภาษีที่ค้างชำระ ในการที่นายทะเบียนจะรับจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี ของบริษัทที่เลิกกัน หรือจะขีดชื่อบริษัทร้างออกจากทะเบียน กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะส่งรายชื่อบริษัทที่จะรับจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี

หรือบริษัทร้างที่จะขีดชื่อออกจากทะเบียน ให้กรมสรรพากร เพื่อการตรวจสอบว่าบริษัทเหล่านั้นมีหนี้ภาษีที่ค้างชำระหรือไม่ 

หากไม่มีหนี้ภาษีค้าง กรมพัฒนาธุรกิจการค้าก็จะดำเนินการต่อไป แต่ถ้ารายใดมีหนี้ภาษีค้างชำระ ก็ยังจะไม่รับจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีหรือไม่ขีดชื่อออกจากทะเบียน เพื่อยังคงสภาพนิติบุคคลไว้เพื่อกรมสรรพากรได้ติดตามทวงถามหรือฟ้องร้องหนี้ภาษีที่ค้างชำระได้

  • ผลเมื่อจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีและขีดชื่อบริษัทร้างออกจากทะเบียน

เมื่อนายทะเบียนรับจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี และขีดชื่อบริษัทร้างออกจากทะเบียน จะทำให้บริษัทที่เลิกกันและบริษัทที่ถูกขีดชื่อออกจากทะเบียน สิ้นสภาพนิติบุคคล และหากต่อมาปรากฏว่าบริษัท ดังกล่าวยังมีทรัพย์สินที่ยังไม่ได้จัดการและมีหนี้สินที่ยังไม่ชำระ จะดำเนินการอย่างไร

  • ในกรณีเป็นบริษัทที่ถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนเพราะเป็นบริษัทร้าง  

กฎหมายกำหนดทางแก้ไว้ ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถยื่นคำร้องต่อศาลให้สั่งให้บริษัทกลับคืนสู่ทะเบียน เพื่อให้บริษัทจัดการกับทรัพย์สินนั้นได้หรือเพื่อให้เจ้าหนี้ติดตามทวงถามหรือฟ้องให้ชำระหนี้ที่ค้างอยู่ได้

  • ในกรณีที่เป็นการจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีของบริษัทที่เลิกกัน 

ไม่มีกฎหมายบัญญัติทางแก้ปัญหานี้ไว้ ที่ผ่านมามีผู้หารือกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าให้พิจารณาเรื่องนี้ และหาทางแก้ไขปัญหา และเสนอขอให้นายทะเบียนพิจารณาเพิกถอนการจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี 

แต่เนื่องจากไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายที่ชัดแจ้งให้อำนาจนายทะเบียนเพิกถอนการจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีในกรณีมีปัญหาเช่นนี้ได้ จึงมีข้อแนะนำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ใช้สิทธิทางศาล ร้องขอต่อศาลยุติธรรมให้พิจารณา

ปรากฏข้อเท็จจริงในเวลาต่อมาว่า ศาลจังหวัดที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไปยื่นคำฟ้องในกรณีไว้ พิพากษาว่า การที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีเป็นไปโดยผิดหลง เพราะบริษัทยังมีทรัพย์สินที่ยังไม่ได้จัดการ การชำระบัญชียังไม่เสร็จสมบูรณ์ บริษัทยังอยู่ระหว่างการชำระบัญชี สามารถจัดการกับทรัพย์สินที่ยังคงมีอยู่ได้

สำหรับกรณีที่บริษัทที่เลิกกันและจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีแล้ว ปรากฏว่ายังมีหนี้ภาษีที่ไม่ได้ชำระ มีคำพิพากษาศาลฎีกาล่าสุดที่อาจถือเป็นบรรทัดฐานได้คือคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3719/2564 กรมสรรพากรโจทก์ บริษัท ช โดยนาย ฉ ผู้ชำระบัญชีกับพวกจำเลย

คดีนี้กรมสรรพากร ยื่นฟ้องต่อศาลภาษีอากรกลาง ที่ต่อมามีคำสั่งว่า จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเสร็จสิ้นการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2555 จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสภาพเป็นนิติบุคคล จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในฐานะส่วนตัว ดังนั้น คดีในส่วนของจำเลยที่ 2 ไม่ใช่คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลภาษีอากรกลาง 

โจทก์อุทรณ์ต่อศาลฎีกาแผนกภาษีอากร ซึ่งพิพากษากลับให้รับคำฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาและพิพากษาต่อไป คดีนี้ในที่สุดเข้าสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแผนกภาษีอากร ซึ่งได้วินิจฉัยว่า

จำเลยที่ 2 เคยเป็นกรรมการผู้จัดการจำเลยที่ 1 จึงต้องรู้ว่าจำเลยที่ 1 มีหนี้ค่าภาษีที่ต้องชำระแก่โจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ชำระสะสางกิจการของจำเลยที่ 1 ให้เสร็จสิ้นไป กับจัดการใช้หนี้เงินและแจกจำหน่ายสินทรัพย์ของจำเลยที่ 1 รวมทั้งถ้าเจ้าหนี้คนใดมิได้ทวงถามให้ใช้หนี้ต้องมีหน้าที่วางเงินเท่าจำนวนหนี้นั้น 

ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงต้องชำระหนี้ภาษีอากรค้างของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ก่อน หรือวางเงินเท่ากับจำนวนหนี้ค่าภาษีอากรให้แก่โจทก์ตามกฎหมาย ก่อนที่จะจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี

แต่จำเลยที่ 2 มิได้ชำระหนี้ภาษีอากรดังกล่าวให้แก่โจทก์และได้แบ่งคืนทรัพย์สินไป ถือว่าจำเลยที่ 2 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 และเป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่โดยฝ่าฝืนกฎหมายอันเป็นละเมิดต่อโจทก์ 

จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในความเสียหายจากการ ที่ทำให้โจทก์ไม่ได้รับชำระหนี้ภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระ แต่ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีจำเลยที่ 1 ซึ่งกระทำละเมิดต่อโจทก์ คงรับผิดไม่เกินกว่าเงินสดคงเหลือที่จำเลยที่ 1 มีอยู่ในวันจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี