‘สภาพัฒน์’ แนะขยาย ‘ฐานภาษี’  ก่อนทำนโยบาย ‘สวัสดิการถ้วนหน้า’

‘สภาพัฒน์’ แนะขยาย ‘ฐานภาษี’   ก่อนทำนโยบาย ‘สวัสดิการถ้วนหน้า’

สศช.ชี้ฐานภาษีไทยยังไม่กว้างพอที่จะทำนโยบายสวัสดิการถ้วนหน้า แนะขยายฐานภาษี สร้างแรงจูงใจให้คนตระหนักว่าการเสียภาษีเป็นหน้าที่ หากทำได้ถึงจะสามารถเพิ่มรายได้ภาครัฐ ให้พอทำนโยบายสวัสดิการถ้วนหน้า ส่วนในระยะสั้นต้องทำนโยบายสวัสดิการแบบพุ่งเป้าก่อน

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่านโยบายการจัดสรรสวัสดิการให้กับประชาชนถือว่าเป็นนโยบายที่มีความจำเป็นในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศไทยที่มีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นจนใกล้จะเข้าสู่ระดับสังคมผู้สูงอายุแบบสุดยอด  ปี 2030 ไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอดโดยมีประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปีเกินกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งนโยบายที่จะเข้ามาดูแลจัดสวัสดิการให้ประชาชนจะเริ่มมีความสำคัญมากขึ้น

อย่างไรก็ตามประเทศไทยยังไม่สามารถที่จะทำนโยบายจัดสรรสวัสดิการแบบถ้วนหน้าเหมือนกับบางประเทศ เช่น ในสแกนดิเนเวียหรือในยุโรป ซึ่งมีการจัดเก็บภาษีในระดับสูงมากเพื่อนำรายได้ในส่วนนี้มาใช้จัดสวัสดิการจำนวนมากให้กับประชาชนในประเทศ

ดังนั้นหากประเทศไทยจะทำนโยบายสวัสดิการถ้วนหน้าจริงก็ต้องมีการขยายฐานภาษีให้กว้างขึ้นก่อนเพื่อให้ภาครัฐมีรายได้มากขึ้น แต่หากยังไม่สามารถขยายฐานภาษีให้มีรายได้เพียงพอก็ต้องทำนโยบายสวัสดิการแบบพุ่งเป้า คือช่วยเหลือคนในกลุ่มเปราะบางที่มีรายได้น้อย เพื่อให้ไม่กระทบกับภาระทางการคลังของประเทศในระยะยาว  

นายดนุชากล่าวด้วยว่าปัญหาในโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยส่วนหนึ่งคือฐานภาษีที่ยังไม่กว้างพอ โดยในการจัดอันดับขีความสามารถในการแข่งขันของประเทศปี 2566 สถาบันการจัดการนานาชาติ (IMD) สวิสเซอร์แลนด์ปรับอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยดีขึ้น 3 อันดับโดยอยู่ที่ 30 จาก 64 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก แต่ในเรื่องนโยบายภาษี (policy tax)ของไทยถูกปรับลดจากอันดับ 7 มาอยู่ที่อันดับ 8 โดยมาจากเหตุผลเรื่องของการขยายฐานภาษีของภาครัฐที่ยังไม่กว้างและครอบคลุมเพียงพอซึ่งมีผลต่อการจัดเก็บรายได้และการจัดสรรงบประมาณในอนาคตด้วย

ทั้งนี้ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้เสียภาษีเงินได้บุคลธรรมดาไม่มากนัก จากประชากรวัยแรงงาน 38 ล้านคน มีผู้ที่ยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 11 ล้านคน และมีผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจริงๆเพียง  3 – 4 ล้านคนต่อปีเท่านั้น จึงจำเป็นที่ต้องปรับโครงสร้างภาษีเพื่อรองรับรายจ่ายภาครัฐที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งนโยบายสวัสดิการที่จะมีมากขึ้นในอนาคต โดยการปรับโครงสร้างภาษีจำเป็นต้องดึงคนเข้ามาอยู่ในระบบภาษีมากขึ้น และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องว่าการเสียภาษีเป็นหน้าที่ที่สำคัญของประชาชนไม่ใช่เรื่องที่ควรหลีกเลี่ยง

‘สภาพัฒน์’ แนะขยาย ‘ฐานภาษี’   ก่อนทำนโยบาย ‘สวัสดิการถ้วนหน้า’

 

“การปรับโครงสร้างภาษีของประเทศเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อรองรับรายจ่ายของภาครัฐที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยการขยายฐานภาษีเป็นเรื่องที่จะต้องมาดูข้อมูลข้อเท็จจริงว่าทำอย่างไรให้คนเข้ามาสู่ระบบภาษีได้มากขึ้นเพื่อให้ฐานภาษีกว้างกว่าที่เป็นอยู่ ต้องดึงเข้ามาในระบบภาษี และให้คนตระหนักมากขึ้นว่าการเสียภาษีเป็นหน้าที่ที่ควรเสียภาษี ไม่ใช่เรื่องที่ควรหลีกเลี่ยง”นายดนุชา กล่าว