เรียนรู้อุตสาหกรรมยา

เรียนรู้อุตสาหกรรมยา

ปัจจุบันชื่อยา วัคซีนและบริษัทยา กลายเป็นชื่อสามัญในวงสนทนา ผลพวงจากสถานการณ์โควิด ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการบริโภคยาของทั่วโลก 

ปัจจุบันชื่อยา วัคซีน และบริษัทยา ได้กลายเป็นชื่อสามัญในวงสนทนาต่างๆ โดยในอดีตคนจะสนใจว่ายาที่ฉีดหรือยาที่รับประทานเป็นยาสำหรับป้องกันหรือรักษาโรคใด แต่ไม่สนใจว่าเป็นของบริษัทใดหรือผลิตที่ไหน จากสถานการณ์โควิด ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการบริโภคยา  ชื่อของบริษัทยายักษ์ใหญ่เป็นที่รู้จักมากขึ้น บริษัทเหล่านี้ส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ในสหรัฐอเมริกาตามด้วยจีน ญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศในยุโรป ชื่อบริษัทยายักษ์ใหญ่ของโลกนอกจากที่เราคุ้นๆ กันนั้น ก็ยังมี Roche, Novartis, Merck, Bristol Myers Squibb เป็นต้น

        เมื่อจำแนกกระบวนงานหลักของบริษัทยาก็มีอยู่ห้าเรื่องหลักๆ ๑. วิจัยและพัฒนา ๒. พัฒนายารวมถึงกระบวนการทดลองและทดสอบ ๓. การผลิต ๔. การจัดจำหน่าย ๕.การตลาดและการขาย แนวโน้มที่สำคัญในช่วง 10-20 ที่ผ่านมา นอกจากการควบรวมของบริษัทยาต่างๆ (สังเกตได้ว่าชื่อบริษัทยาหลายแห่งจะยาวขึ้นเรื่อยๆ) แล้ว การ Offshoring และ Outsourcing ก็เป็นแนวโน้มที่สำคัญ

        Outsourcing จะเป็นที่คุ้นเคยในฐานะที่เป็นการยกกิจกรรมภายในบางประการให้กับองค์กรหรือหน่วยงานภายนอกทำ ส่วน Offshoring นั้นจะเป็นการย้ายการดำเนินงานจากประเทศที่ตั้งของบริษัทไปยังประเทศอื่น

        สำหรับบริษัทยานั้น ต้นทุนในการวิจัยและพัฒนาที่สูงขึ้น ประกอบกับความต้องการให้การดำเนินงานให้ใกล้ตลาดเป้าหมาย เลยทำให้บริษัทยาทั้ง Outsourcing และ Offshoring กระบวนการผลิต (รวมทั้งการวิจัยและพัฒนาในบางบริษัท) มายังภูมิเอเซียมากขึ้น โดยบริษัทยาหลายแห่งเลือกที่จะใช้วิธีการจ้าง OEM (Original Equipment Manufacturer) ในการผลิตยาของตนเอง

        รูปแบบของโรงงานที่รับผลิตสินค้า หรือ OEM ที่คุ้นกันในหลายๆ อุตสาหกรรม (เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ หรือ อิเลกทรอนิกส์) คือ โรงงานจะมีเครื่องจักรและอุปกรณ์ในการผลิตอยู่แล้ว และรับผลิตสินค้าให้กับลูกค้า (บริษัทยา) เพื่อนำไปติดแบรนด์ของลูกค้า ซึ่งในกรณีของบริษัทยานั้น บริษัทยาก็จะถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิต รวมทั้งการควบคุมคุณภาพของยาที่ออกมาด้วย ซึ่งส่วนใหญ่ก็ต้องใช้เวลาในการถ่ายทอดและเรียนรู้เทคโนโลยีไม่ต่ำกว่า 1 ปี และเมื่อได้ยาที่มีคุณภาพแล้ว บริษัทยาก็จะเป็นผู้ดูแลในกระบวนการจัดจำหน่ายทั้งหมด    

        เมื่อโควิดเริ่มแพร่ระบาด ก็จะพบเห็นบริษัทยาที่ผลิตวัคซีนโควิดใช้กลยุทธ์การ Outsource และ Offshore กระบวนการผลิตของตนให้กับบริษัทหรือโรงงานที่เป็น OEM (โดยเฉพาะในเอเซีย) กันมากขึ้น เช่น Moderna จ้างโรงงานในเกาหลีใต้ (บริษัท Samsung Biologics) Johnson & Johnson จ้างโรงงานในอินเดีย (บริษัท Biological E) หรือ AstraZeneca ที่จ้างโรงงานในหลายประเทศในภูมิภาคนี้ (จีน อินเดีย ญี่ปุ่น) รวมทั้งบริษัทสยามไบโอซายส์ของไทยด้วย

        สำหรับบริษัทสยามไบโอซายส์นั้นก็เป็นกรณีที่น่าศึกษาและเรียนรู้ในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสามารถในการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพราะเมื่อได้รับเลือกให้เป็น OEM สำหรับการผลิตวัคซีนของ AstraZeneca แล้ว สามารถใช้เวลาเพียงครึ่งปีในการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีจนสามารถผลิตวัคซีนที่มีมาตรฐานสากลได้สำเร็จภายในเวลา 6 เดือน ทั้งๆ ที่วัคซีนโควิด เป็นวัคซีนใหม่ที่ไม่เคยมีการผลิตมาก่อน การควบคุมทั้งคุณภาพ ความสม่ำเสมอ และความปลอดภัยเป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีอื่นๆ ต่อไปในอนาคต

        ถึงแม้ Covid19 จะทำให้เกิดการกระจายของการผลิตวัคซีนไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกมากขึ้น แต่ผู้บริหารของ WHO ได้ออกมาพยายามผลักดันให้มีโรงงานที่มีความพร้อมในการผลิตวัคซีนกระจายไปทั่วโลกมากขึ้นไปอีก

เนื่องจากในปัจจุบันร้อยละ 90 ของวัคซีนทั่วโลกผลิตจากอเมริกา ยุโรป จีน และ อินเดีย แต่ความยากลำบากในการตั้งโรงงานผลิตวัคซีน คือความยุ่งยากและสลับซับซ้อนในการถ่ายทอดเทคโนโลยีในกระบวนการผลิตวัคซีน ทำให้สุดท้ายแล้วมีแค่โรงงานไม่กี่แห่งที่พร้อม และนำไปสู่การมีโรงงานผลิตวัคซีนมีการกระจุกตัวอยู่เฉพาะไม่กี่ภูมิภาค ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาต่อการดูแลด้านสุขภาพ เมื่อเกิดโรคระบาดใหม่ๆ ต่อไปในอนาคต.