Regenerative Business : ธุรกิจเกื้อโลก

Regenerative Business : ธุรกิจเกื้อโลก

วันที่มนุษย์ใช้ทรัพยากรธรรมชาติเกินขีดจำกัดที่โลกสามารถฟื้นฟูหรือสร้างขึ้นใหม่ (Regenerate) หรือที่เรียกว่า วันเกินกำลังโลก

ในรอบปี 2563 เครือข่ายรอยเท้านิเวศโลก (Global Footprint Network) ได้บันทึกให้วันที่ 22 สิงหาคม 2563 เป็นวันที่มนุษย์ใช้ทรัพยากรธรรมชาติเกินขีดจำกัดที่โลกสามารถฟื้นฟูหรือสร้างขึ้นใหม่ (Regenerate) หรือที่เรียกว่า วันเกินกำลังโลก (Earth Overshoot Day: EOD) ในมุมมองทางเศรษฐกิจ ถือว่า วันถัดจาก EOD สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์ใช้สอยจะมีมูลค่าติดลบหรือขาดดุลไปจนสิ้นสุดปี

ในปี 2564 หากประชากรโลกใช้ชีวิตในแบบที่ไทยเป็นอยู่ วันเกินกำลังโลก จะขยับขึ้นมาเป็นวันที่ 15 สิงหาคม 2564 หมายความว่า คนไทยมีการใช้ทรัพยากรเกินกำลังที่โลกจะรองรับได้ ในอัตราเร่งที่สูงกว่าประชากรโลก

ภาคธุรกิจที่ประกาศว่า จะดำเนินธุรกิจโดยนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้ หรือการลดขยะและของเสียให้เป็นศูนย์ (Zero Waste) เพื่อให้ได้ชื่อว่าเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ หรือมุ่งสู่การเป็นองค์กรที่ปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral) นั้น ไม่เพียงพออีกต่อไป เพราะจากข้อมูลชี้ชัดว่า รอยเท้านิเวศของโลก (World Ecological Footprint) ที่แสดงถึงปริมาณความต้องการใช้ทรัพยากรของมนุษย์ในแต่ละปีนั้น ได้เกินขีดความสามารถรองรับเชิงนิเวศของโลก (World Biocapacity) ในทุกปีการคำนวณนับตั้งแต่ปี 2513 และมีแนวโน้มที่จะร่นวันขึ้นมาเรื่อยๆ

แนวทางการดำเนินธุรกิจจากนี้ไป มิใช่เพียงความพยายามในการลดรอยเท้านิเวศ แต่จะต้องช่วยเพิ่มขีดความสามารถรองรับเชิงนิเวศของโลก ภายใต้แนวคิด Carbon Negative หรือทำให้การปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นลบ (ไม่มีการซื้อชดเชย) โดยธุรกิจที่ดำเนินตามแนวทางดังกล่าว เรียกว่า Regenerative Business

ตัวอย่างของธุรกิจที่นำแนวคิด Carbon Negative มาใช้ ได้แก่ อินเตอร์เฟซ ผู้นำระดับโลกด้านการออกแบบ ผลิต และจำหน่ายพรมแผ่น มีการปรับสายการผลิตแผ่นรองพรมที่สามารถกักเก็บคาร์บอนจนทำให้ได้พรมแผ่นชนิดแรกในโลกที่เป็น Carbon Negative เมื่อวัดค่าการปลดปล่อยในขอบเขต Cradle-to-Gate (เป็นการประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบจนกระทั่งได้ผลิตภัณฑ์ ไม่รวมขั้นตอนการใช้งานและการกําจัดซากหลังจากการใช้งาน เหมาะสําหรับใช้ในการออกเอกสารรับรองผลิตภัณฑ์)

อิเกีย ผู้นำระดับโลกด้านเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน ประกาศจะมุ่งสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนเป็นลบในปี ค.ศ.2030 ด้วยการปริวรรตอุปทานตลอดสาย เปลี่ยนมาใช้แหล่งพลังงานทดแทน 100% เพิ่มสัดส่วนวัสดุที่สามารถแปรสภาพเพื่อใช้ใหม่ในตัวผลิตภัณฑ์ และเปลี่ยนกลุ่มยานพาหนะจัดส่งให้เป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าทั้งหมดในปี ค.ศ.2025

ไมโครซอฟท์ เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่ตั้งเป้าสู่สถานะการปล่อยคาร์บอนเป็นลบภายในปี ค.ศ.2030 และประกาศจะมุ่งกำจัดคาร์บอนในปริมาณที่เทียบเท่ากับคาร์บอนทั้งหมดที่บริษัทได้เคยปล่อยออกสู่สภาพแวดล้อมนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท เมื่อปี ค.ศ.1975 ทั้งในทางตรงและทางอ้อม ผ่านการใช้พลังงานไฟฟ้า ให้ได้ภายในปี ค.ศ.2050 

เชื่อแน่ว่า กิจการที่มีการพัฒนาเพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืนอย่างเข้มข้น จะผันองค์กรให้มีการดำเนินธุรกิจที่เกื้อกูลโลก (Regenerative Business) โดยจะทยอยประกาศเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นลบ (Carbon Negative) หรือแนวทางของกิจการในการเสริมสร้างให้มีสภาพภูมิอากาศเป็นบวก (Climate Positive) นับจากนี้ไป