การปฏิรูปการศึกษาในยุคดิจิทัล

การปฏิรูปการศึกษาในยุคดิจิทัล

ปัญหาพื้นฐานคือ อำนาจเศรษฐกิจการเมืองรวมศูนย์ผูกขาดอยู่ในมือชนชั้นนำส่วนน้อย

การกระจายทรัพย์สิน รายได้ การศึกษา การมีงานทำ เหลื่อมล้ำต่ำสูงมาก การเน้นการเติบโตของการหาเงินและการบริโภค เด็กจากครอบครัวยากจนได้เรียนหนังสือน้อย และได้เรียนในโรงเรียนที่มีคุณภาพต่ำ

การจัดการให้บริการทางการศึกษา มีปัญหาทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ ประชากรวัยเรียน 3-21 ปี ที่ไม่ได้เรียน มีร้อยละ 13 หรือราว 2.08 ล้านคน นักเรียนออกกลางคันช่วงมัธยมปลายสูง สัดส่วนของเด็กที่ไม่ได้เรียนในระดับชั้นมัธยมปลาย มีร้อยละ 30 ของประชากรวัยเดียวกัน (15-17 ปี) แม้ว่าการลงทุนด้านงบประมาณการศึกษาคงสูง (งบปี 2561 จำนวน 5.2 แสนล้านบาท 18.2% ของงบทั้งประเทศ) และประชากรวัยเรียนเริ่มลดลงก็ตาม

แรงงานอายุ 15 ปีขึ้นไปเกือบครึ่งหนึ่ง (45.27%) หรือ 17.3 ล้านคน มีการศึกษาแค่ชั้นประถมและต่ำกว่า ซึ่งส่งผลถึงผลิตภาพ (Productivity) ของแรงงานไทยที่ค่อนข้างต่ำ เด็กมี

ปัญหาด้านสุขภาวะ หลักสูตรการเรียนการสอนและสอบกันแบบปรนัยที่อาศัยการท่องจำข้อมูลเป็นส่วนๆ ขาดการฝึกคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ อย่างเป็นเหตุผล สถานศึกษาใหญ่ที่มีชื่อเสียงในตัวจังหวัดใหญ่ 300 กว่าแห่ง และสถานศึกษารอบนอก 3 หมื่นกว่าแห่งมีคุณภาพแตกต่างกันมาก ฐานะทางครอบครัวและระดับการศึกษาของพ่อแม่ที่แตกต่างกันมีส่วนทำให้นักเรียนมีโอกาสเข้าเรียนและเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพแตกต่างกัน

ความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจเทียบกับประเทศต่างๆ  คะแนนโครงสร้างพื้นฐานด้านการศึกษา การวิจัย การพัฒนาทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีอยู่ในเกณฑ์และลำดับที่ต่ำไปทางท้ายๆ (สมรรถนะการศึกษาไทยอยู่ลำดับ 56 จาก 63 ประเทศ IMD 2018)

ดัชนีการพัฒนามนุษย์และดัชนีการพัฒนาของเด็กและเยาวชน การพัฒนาทางสังคมด้านต่างๆ ของไทยอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำกว่าประเทศที่มีระดับการพัฒนาเศรษฐกิจใกล้กับไทยหลายประเทศ ดัชนีพัฒนามนุษย์อยู่ลำดับ 83 (UNDP 2018) สะท้อนปัญหาพื้นฐานลึกๆ ว่า ถ้าไทยไม่สามารถแก้ปัญหาด้านการศึกษา/พัฒนาคุณภาพด้านประชากร และการบริหารจัดการให้บริการทางสังคมอย่างมีคุณภาพและทั่วถึงอย่างจริงจังแล้ว การพัฒนาเศรษฐกิจสังคมในระยะกลาง/ยาวจะสู้ประเทศอื่นได้ลดลง

ผลการทดสอบแบบสุ่มตัวอย่างนักเรียนอายุ 15 ปี (ใกล้จบการศึกษาขั้นพื้นฐาน) ใน 3 วิชาที่สำคัญ ในโครงการ PISA ของกลุ่มประเทศ OECD ไทยได้คะแนนเฉลี่ยและลำดับที่ต่ำ วิชาการอ่าน(ภาษาของแต่ละชาติ)อยู่ลำดับ 57 จาก 70 ประเทศ (ปี 2015)

ปัญหาหลักคือ 1. โครงสร้างการบริหารเป็นแบบราชการรวมศูนย์อยู่ที่มีกระทรวงส่วนกลาง ใหญ่โตเทอะทะ ขาดประสิทธิภาพ ทำงานเพื่ออำนาจ/ผลประโยชน์ของข้าราชการมากกว่าเพื่อผลสัมฤทธิ์นักเรียนนักศึกษา การกระจายอำนาจบริหารไปสู่เขตการศึกษาต่างๆ เป็นการแบ่งอำนาจบางส่วนไปให้ข้าราชการในเขตการศึกษามากกว่า ไม่ได้กระจายไปสู่สถาบันการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ และทำเพื่อผลสัมฤทธิ์ทั้งผู้เรียนเพิ่มขึ้นอย่างแท้จริง

2.ครูอาจารย์ได้รับการอบรมมาแบบเก่า คือจดจำข้อมูลเพื่อสอบ พวกเขาใช้วิธีการสอน/สอบแบบเดียวกับที่เขาเรียนมา รวมทั้งต้องสอนตามหลักสูตรแบบเก่าเพื่อให้นักเรียนทำคะแนนได้ตามแนวทางที่กำหนดจากส่วนกลาง การสอนการเรียนจึงมีประสิทธิภาพ/ผลสัมฤทธิ์ต่ำ เมื่อไปสอบข้อสอบที่ต้องใช้การคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ อย่าง PISA และเพื่อจะไปทำงาน

3.หลักสูตร การเรียนการสอน การสอบ ต้องเปลี่ยนแปลงเป็นแนวใหม่ มุ่งให้ผู้เรียนคิดวิเคราะห์เป็น เรียนรู้ต่อด้วยตนเองเป็น แก้ปัญหา ทำโครงการต่างๆ เป็น ฝึกภาคปฏิบัติและเรียนรู้จากโลกการทำงานจริงๆ เป็น

ประเทศอื่นที่ปฏิรูปการศึกษาอย่างได้ผล มักจะปฏิรูปทางเศรษฐกิจสังคมได้ดีด้วย กระจายทรัพย์สิน รายได้ เป็นธรรมกว่า การศึกษาและระบบราชการทั้งหมดกระจายทั้งงบประมาณ อำนาจการบริหารจัดการ ความรับผิดชอบไปสู่ท้องถิ่น ซึ่งมีองค์กรปกครองท้องถิ่นและเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง

การฝึกอบรม และการบริหารบุคลากรทั้งครูใหญ่ ครูอาจารย์ เน้นการพัฒนาความรู้ ความสามารถ แบบมืออาชีพ ฟินแลนด์ สิงคโปร์ คัดคนเรียนเก่งและมีความตั้งใจสูงมาเรียนครู ครูมาความรู้ ความสามารถสูงแบบมืออาชีพ และได้รับมอบหมายในระบบบริหารจัดการแบบกระจายอำนาจ ให้มีความรับผิดชอบสูง ภูมิใจในงานของตน และมีโอกาสก้าวหน้าตามผลงาน มีการช่วยเหลือพัฒนาครูอย่างต่อเนื่อง ครูใหม่มีครูพี่เลี้ยงดูแล มีการฝึกการทำงานเป็นทีม การเรียนรู้เพิ่มเติม พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง

หลักสูตรการเรียน การสอน การวัดผล เน้นการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ แก้ปัญหา ทดลองฝึกภาคปฏิบัติ เรียนรู้เท่าทัน  ทำงานได้ในโลกจริง มีความฉลาดทางอารมณ์ และทางสังคม เพื่อที่คนที่ได้รับการศึกษาจะใช้ชีวิตและทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างราบรื่น มีประสิทธิภาพ มีความสุข ความพอใจ

เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) เทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีวัสดุศาสตร์ เทคโนโลยีพลังงานใหม่ ฯลฯ ทำให้โลกสามารถผลิตได้มากขึ้น เร็วขึ้น ต้นทุนต่ำลง ใช้แรงงานคนน้อยลง ใช้หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ระบบอัตโนมัติต่างๆ ทำงานแทนคนได้มากขึ้น คนรุ่นปัจจุบันต้องปรับตัวเรียนรู้ความรู้/ทักษะแบบใหม่ ที่ปัญญาประดิษฐ์ยังทำไม่ได้หรือทำได้ดีพอเท่ากับมนุษย์ที่ได้รับการฝึกฝนความรู้/ทักษะให้เก่งมากพอ

ต้องเรียนรู้ใหม่ทั้ง 2 ด้าน คือ1ด้านเทคนิค  เพื่อทำงานร่วมกับคอมพิวเตอร์ ปัญญาประดิษฐ์อย่างได้ผลดีเพิ่มขึ้น 2 ด้านพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่เหนือกว่าปัญญาประดิษฐ์ เช่น การคิดประดิษฐ์อย่างสร้างสรรค์ จินตนาการ มีความฉลาดทางอารมณ์และสังคม ทำงานเป็นทีมได้ดี แก้ปัญหาที่ซับซ้อน กำกวมได้ ซึ่งปัญญาประดิษฐ์ทำไม่ได้

เทคโนโลยีดิจิทัลมีทั้งด้านบวกและด้านลบ ที่เราควรตระหนักใช้ประโยชน์ด้านบวก แต่ไม่หลงใหลจนเป็นทาสเทคโนโลยี ซึ่งในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมอุตสาหกรรมให้ประโยชน์คนรวยส่วนน้อย และไม่สามารถแก้ไขปัญหา/ให้ประโยชน์คนส่วนใหญ่ได้อย่างแท้จริง ต้องจัดการศึกษา กระบวนการเรียนเพื่อประชากรทุกช่วงวัย ไม่ใช่แค่เด็กและเยาวชนเพียง 16 ล้านคน

การศึกษาเป็นทั้งศาสตร์ที่ต้องใช้องค์ความรู้ และศิลป์ ที่ต้องใช้ฝีมือ คุณธรรม ในการบริหารจัดการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมาย เพื่อประโยชน์คนส่วนใหญ่ การปฏิรูปการศึกษาขึ้นอยู่กับฝีมือ ความรู้ ความสามารถ วิสัยทัศน์ ความกล้าหาญ และความเอาใจใส่ผู้นำอยู่มาก    ต้องหาทางผลักดันพัฒนาสังคมทั้งระบบ ให้ได้ผู้นำที่มีคุณภาพในทุกระดับ ปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจสังคม เพื่อประสิทธิภาพและการกระจายทรัพย์สิน รายได้ การบริการทางสังคม อำนาจต่อรอง ฯลฯ ไปสู่ประชาชนทุกหมู่เหล่า อย่างทั่วถึง เป็นธรรม

ประเด็นที่สำคัญคือ ทำอย่างไรจะช่วยกันทำให้คนไทยส่วนใหญ่รักการอ่าน การใฝ่การเรียนรู้ คิด วิเคราะห์เป็นอย่างมีเหตุผล อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ (มีหลักฐานพยานอ้างอิง พิสูจน์ได้) มีความฉลาดทางอารมณ์ เรื่องจิตวิทยา เพศศึกษา การติดต่อสื่อสารสัมพันธ์กับคนอื่น รู้จักทั้งตัวเองและคนอื่น รู้จักสังคมไทย สังคมโลก

เป้าหมายการศึกษาควรกว้างกว่าการพัฒนามนุษย์เศรษฐกิจ คือควรพัฒนาความเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์ มีทั้งความฉลาดทางปัญญา ทางอารมณ์ (มีวุฒิภาวะ คิดในทางบวก ควบคุมดูแลอารมณ์ แก้ปัญหาได้ดี) และทางสังคม เป็นพลเมืองที่มีจิตสำนึกเข้าใจ เห็นใจ ร่วมมือ ช่วยเหลือคนอื่นๆ เพื่อช่วยกันพัฒนาประเทศชาติให้เจริญงอกงามอย่างเป็นประโยชน์ต่อทุกคนในระยะยาว

(วันที่ 8 ก.ย. เป็นวันรู้หนังสือสากล International Literacy Dayขอเชิญชวนให้ช่วยกันช่วยซื้อหนังสือดีบริจาคให้ห้องสมุด เฟซ-มูลนิธิหนังสือเพื่อสังคม โทร 094 - 2037475)