อาร์เจนตินามาอีกแล้ว !

อาร์เจนตินามาอีกแล้ว !

ในช่วง 2 สัปดาห์นี้ มีเหตุการณ์น่าสนใจเกิดขึ้นในอาร์เจนตินา แต่สื่อส่วนใหญ่ไม่นำมาเสนอ ทั้งนี้คงเพราะต่างมองว่า

มีเหตุการณ์สำคัญกว่าที่น่านำมาเสนอก่อน อย่างไรก็ดี เริ่มมีนักเศรษฐศาสตร์ออกมาเตือนว่า อย่านอนใจเนื่องจากเหตุการณ์ในอาร์เจนตินาอาจลุกลามต่อไปคล้ายเหตุการณ์ในเมืองไทยเมื่อปี 2540 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สื่อบางแห่งรายงานว่า แม้แต่ชาวอาร์เจนตินาเองยังดูฉงนใจ เพราะคาดไม่ถึงว่ารัฐบาลจะไปขอความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) หลังจากเพิ่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึง 3 ครั้งเมื่อสัปดาห์ก่อนจาก 30.25% เป็น 40%

สำหรับชาวไทยที่ใส่ใจเรื่องการบ้านการเมืองแบบกว้าง ๆ อยู่บ้างในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เมื่อเอ่ยถึงอาร์เจนตินา คงนึกต่อไปถึงเรื่องประชานิยมและส่วนหนึ่งคงรู้สึกเอือมระอาจนไม่สนใจในเรื่องราวของอาร์เจนตินาอีกแล้ว นอกจากนั้น เมื่อเอ่ยถึงไอเอ็มเอฟ ส่วนหนึ่งคงรู้สึกว่าจะเกิดปัญหาต่อไปถึงขั้นถูกบังคับขายสมบัติของชาติ ขอเรียนว่าอย่าเพิ่งเอือมระอา ประวัติศาสตร์มีความสำคัญมาก หากเราไม่ตระหนักและติดตามต่อไป เราจะปล่อยให้มันเกิดซ้ำรอยไม่รู้จบรวมทั้งการถูกบังคับโดยปริยายให้ขายสมบัติของชาติด้วย

ขอทบทวนเรื่องราวของอาร์เจนตินาซึ่งทำให้มองได้ว่า เหตุการณ์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นอาการหนึ่งของความล้มลุกคลุกคลานอันยาวนาน สืบเนื่องมาจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งปี 2459 ในตอนนั้น อาร์เจนตินาร่ำรวยกว่าแคนาดาและผู้สันทัดกรณีมักมองว่าไม่ล้าหลังฝรั่งเศสและเยอรมนี แต่อาร์เจนตินาถูกครอบงำด้วยคนรวยกลุ่มเล็ก ๆ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำสูงสาหัส ฉะนั้น เมื่อนักการเมืองคนหนึ่งสัญญาว่าจะพาชาวอาร์เจนตินาตีฝ่าออกจากความครอบงำของคนรวยเหล่านั้นได้ด้วยนโยบายประชานิยม ชาวอาร์เจนตินาส่วนใหญ่จึงเทคะแนนให้แก่เขา แต่นโยบายประชานิยมของเขามิใช่ชนิดในอุดมการณ์ หากเป็นชนิดเลวร้ายที่นำอาร์เจนตินาไปสู่ความล้มละลายครั้งแรกเมื่อปี 2499 ตั้งแต่นั้นมา อาร์เจนตินาก็ตกอยู่ในสภาวะล้มลุกคลุกคลานอย่างต่อเนื่องและล้มละลายหลายครั้ง พร้อมทั้งเกิดวิกฤติทางสังคมและการเมืองเป็นระยะๆ ชาวอาร์เจนตินาถูกรัฐบาลเผด็จการทหารเข่นฆ่าบ่อย ๆ โดยบางครั้งถูกฆ่าเป็นหลักหมื่น

ทางด้านเศรษฐกิจ นอกจากความล้มละลายและต้องไปขอความช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟหลายครั้งแล้ว อาร์เจนตินามักประสบปัญหาภาวะเงินเฟ้อสูงโดยบางปีมีเงินเฟ้อนับ 1,000% และค่าของเงินตราตกต่ำจนใช้ซื้อสินค้าไม่ได้ ส่งผลให้ต้องเปลี่ยนเป็นเงินใหม่ โดยผูกค่าไว้กับเงินดอลลาร์สหรัฐ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็น 40% เมื่อสัปดาห์ก่อนเกิดจาก 3 ปัจจัยได้แก่ (1) อัตราเงินเฟ้อมีทีท่าว่าขยับสูงขึ้นจากระดับ 20% (2) ค่าเงินเปโซซึ่งครั้งหนึ่งตั้งไว้ที่ 1 ดอลลาร์ตกต่อไปอยู่ที่ 25 เปโซต่อ 1 ดอลลาร์ และ (3) ทุนต่างชาติทำท่าว่าจะขาดความเชื่อมั่นโดยการเริ่มขนเงินออกนอกประเทศ รัฐบาลประเมินว่า การขึ้นดอกเบี้ยไม่น่าจะพอ จึงไปขอความช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟ อาร์เจนตินาจะต้องทำอะไรจนถึงกับขายสมบัติของชาติหรือไม่ต้องรอดูไปอีกชั่วระยะหนึ่ง

ผลของประชานิยมชนิดเลวร้ายทำให้อาร์เจนตินาล้มลุมคลุกคลานมานาน แต่ผลที่ร้ายยิ่งกว่านั้นเกิดขึ้นในเวเนซุเอลาซึ่งต่างกับอาร์เจนตินาที่มีน้ำมันปิโตรเลียมมากที่สุดในโลก แทนที่จะเป็นความโชคดี เวเนซุเอลากลับถูกสาปด้วยน้ำมัน ขณะนี้มีชาวเวเนซุเอลาพยายามหนีความอดตายไปพึ่งประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งที่ประเทศเหล่านั้นก็มิได้ร่ำรวยนัก กระบวนการเดินเข้าสู่ความล้มละลายและตายแบบผ่อนส่งของสองประเทศนี้มีอยู่ในหนังสือชื่อ “ประชานิยม ทางสู่ความหายนะ” ซึ่งขณะนี้ไม่มีวางขาย แต่น่าจะหาอ่านได้ตามห้องสมุดของมหาวิทยาลัยหลายแห่ง

เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา สื่อต่าง ๆ พาดหัวว่ารัฐบาลไทยตรากฎหมายห้ามประชานิยมแล้วโดยตีความหมายจากข้อความในพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ตอนหนึ่งที่ว่า “คณะรัฐมนตรีต้องไม่บริหารราชการแผ่นดินโดยมุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิด ความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว”

หากสื่อและประชาชนโดยทั่วไปสรุปว่าเมืองไทยจะไม่มีโอกาสล้มลุกคลุกคลานคล้ายอาร์เจนตินาเพราะมีกฎหมายฉบับนี้แล้ว ขอเรียนว่าอย่าด่วนสรุปเช่นนั้นและยุติการคัดค้านมาตรการประชานิยมต่าง ๆ ที่รัฐบาลดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง หากทำเช่นนั้น วันหนึ่งข้างหน้า น้ำตาจะเช็ดหัวเข่า