“โฟตอน” ปักหมุด “ไทย” เปิดโรงงานนอกจีนแห่งแรก ฐานผลิตพวงมาลัยขวา

“โฟตอน” ปักหมุด “ไทย” เปิดโรงงานนอกจีนแห่งแรก ฐานผลิตพวงมาลัยขวา

โฟตอน ประกาศชูไทยตลาดเชิงยุทธศาสตร์สำคัญ เปิดตัวโรงงานแห่งแรกนอกประเทศจีน วางเป้าฐานการผลิตรองรับระบบโลจิสติกส์ และส่งออกตลาดพวงมาลัยขวา

“โฟตอน” ผู้ผลิตรถรายใหญ่จากประเทศจีน ซึ่งมียอดขายรถเชิงพาณิชย์เป็นอันดับที่ 1 ติดต่อกัน 19 ปี ร่วมกับ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) จัดตั้งบริษัทร่วมทุนแห่งที่ 2  เปิดโรงงานผลิตรถบรรทุก โฟตอน”แห่งแรกนอกประเทศจีน ภายใต้ชื่อ “โฟตอน ซีพี มอเตอร์” (FOTON CP Motor)  

โรงงาน โฟตอน ซีพี มอเตอร์ ตั้งอยู่ในเขตอำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา  มูลค่าการลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท 

เป้าหมายของการตั้งโรงงานในไทย เพื่อใช้เป็นฐานการผลิตรถบรรทุกโฟตอนพวงมาลัยขวา รองรับตลาดในประเทศ 80% และส่งออก 20% รองรับการเติบโตอย่างมั่นคงในตลาดรถยนต์เมืองไทยและตลาดเอเชียแปซิฟิก

โรงงานมีกำลังการผลิต 1,800 คัน/ปี คาดว่าภายใน 3 ปี จะสามารถผลิตรถเข้าสู่ตลาดได้ไม่ต่ำกว่า 7,200 คัน  

สำหรับยอดขายโฟตอนในไทยปีที่ผ่านมา ขยายตัว 38% จากปีก่อนหน้า และการขยายงานในไทยจเป็นการขับเคลื่อนวงการโลจิสติกส์ไทยมากขึ้น 

ชาง รุ่ย (Mr.Chang Rui) ประธาน โฟตอน มอเตอร์ กรุ๊ป กล่าวว่า การเปิดสายการผลิตโรงงานแห่งแรกนอกประเทศจีน เป็นการต่อยอดความร่วมมือในการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่าง 2 บริษัท หลังจากได้เห็นผลลัพธ์การเติบโตอย่างมั่นคงภายในเวลา 5 ปีของ บริษัท ซีพี โฟตอน เซลส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนแห่งแรกในการดำเนินธุรกิจจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์

โดยปัจจุบัน ซีพี โฟตอน จำหน่ายรถยนต์หลากหลายรุ่นในประเทศไทย ทั้งยานยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engine หรือ ICE)  และพลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle หรือ EV) 

โดยยอดจดทะเบียนถึงสิ้นเดือนตุลาคมเพิ่มขึ้น 38% จาก 436 คัน ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วเป็น 603 คัน 

“โฟตอน” ปักหมุด “ไทย” เปิดโรงงานนอกจีนแห่งแรก ฐานผลิตพวงมาลัยขวา

“ประเทศไทยยังเป็นตลาดเชิงยุทธศาสตร์สำคัญที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมยานยนต์และยานยนต์พลังงานใหม่ในระดับโลก จึงเป็นความเหมาะสมทุกประการในการตั้งโรงงานขึ้นในประเทศไทย”

นพดล เจียรวนนท์ รองประธานกรรมการ กลุ่มธุรกิจยานยนต์และอุตสาหกรรม (จีน) เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) กล่าวเสริมว่า การตั้งโรงงาน จะช่วยผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย และตลาดแรงงานให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจมหภาคระดับโลก และสามารถเป็นฐานปฏิบัติการรถเพื่อการพาณิชย์ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในอนาคต

นอกจากนี้ยังเป็นการขยายความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับกลุ่มพันธมิตรชิ้นส่วนชั้นนำให้มาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น เช่น Foton Cummins, Yuchai, Fangsheng และ Fast  เพื่อเสริมศักยภาพด้านกำลังการผลิต ความรวดเร็วในการสนับสนุนทางเทคนิค บริการ อะไหล่ รวมถึงการขยายขอบเขตธุรกิจเพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ เช่น การประกอบแบตเตอรี่ เป็นต้น