‘อีอีซี’ ฐานผลิตมอเตอร์ไซค์อีวี ส่งออกไปตลาดในภูมิภาค

‘อีอีซี’ ฐานผลิตมอเตอร์ไซค์อีวี ส่งออกไปตลาดในภูมิภาค

ปัจจุบันแนวโน้มการเติบโตของตลาดจักรยานยนต์ไฟฟ้า หรือ “มอเตอร์ไซค์อีวี” ในไทยยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จากรายงานของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุว่า สถิติจำนวนรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า (BEV) จดทะเบียนใหม่รวม 9 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-ก.ย.2566) อยู่ที่ 15,935 คัน เพิ่มขึ้น 128.23% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และ ณ วันที่ 30 ก.ย.2565 มียอดจดทะเบียนมอเตอร์ไซค์อีวีสะสม อยู่ที่ 32,309 คัน เพิ่มขึ้น 136.74%

กรกฤช จุฬางกูร ประธานบริหาร บริษัท ซัมมิท โอโต บอดี้ อินดัสตรี จำกัด กล่าวว่า รถมอเตอร์ไซค์ไม่เพียงแต่เป็นยานพาหะประจำบ้านสำหรับคนไทย แต่ยังเป็นพาหนะที่สร้างอาชีพและเป็นแหล่งรายได้ของหลายคนอีกด้วย จึงทำให้ยอดขายรถมอเตอร์ไซค์ในไทยเกือบแตะ 2 ล้านคันในปีที่ผ่านมา 

ทั้งนี้แม้ว่าสัดส่วนยอดขายของมอเตอร์ไซค์อีวียังมีน้อยกว่า 1% แต่อัตราการเติบโตในปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าตลาดมอเตอร์ไซค์อีวียังมีศักยภาพขยายตัวอีกมาก

นอกจากนี้ มีปัจจัยสนับสนุนหลักจากการขับเคลื่อนเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศ และนโยบายการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการผลิตยานยนต์ไร้มลพิษ (ZEV) 30@30 ในปี 2573 ซึ่งทำให้พัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าทั้งอีโคซิสเต็ม โดยผู้บริโภคเข้าใจและให้ความสนใจเกี่ยวเทคโนโลยีขับเคลื่อนแบบใหม่มากขึ้น

รวมทั้งล่าสุดบริษัทได้ลงนามสัญญาร่วมลงทุนกับ บริษัท Sharkgulf Technology (China) ผู้ผลิตมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าแบรนด์ Blueshark จากเซี่ยไฮ้ ที่มียอดขาย 5 แสนคันทั่วโลกในปี 2565 โดยมีสัดส่วนอยู่ที่ ซัมมิท 60% และ Sharkgulf 40% ซึ่งเป็นพันธมิตรธุรกิจทั้งด้านการผลิต การประกอบแบตเตอรี่มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า การติดตั้งสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่ รวมถึงการขายเพื่อผลักดันนวัตกรรมสมัยใหม่ให้ประเทศและเตรียมพร้อมเพิ่มศักยภาพการผลิตชิ้นส่วนในไทย โดยจะสร้างแรงงานและนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มา

“ในเบื้องต้นจะศึกษาตลาด วางแผนกลยุทธ์และการกำหนดจุดยืนการตลาด และทดสอบมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้าในไทยก่อน โดยกลางปี 2567 จะเริ่มดำเนินกิจกรรมทางการตลาดและนำเข้ารถจากจีนมาขายในช่วงแรก" 

ส่วนระยะต่อไปจะเตรียมขึ้นไลน์ประกอบโรงงานที่ จ.พระนครอยุธยา ซึ่งซัมมิทมีประสบการณ์ผลิต OEM ให้แบรนด์มอเตอร์ไซค์อีวีไทย 3 ราย โดยจะใช้ซัพพลายเชนการผลิตในประเทศให้ได้มากที่สุด

ทั้งนี้ การสนับสนุนจากภาครัฐจะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยผลักดันการเติบโตของมอเตอร์ไซค์อีวี โดยเฉพาะการอุดหนุนราคารวมถึงภาษีนำเข้ารถทั้งคันซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 40% เพื่อให้แข่งขันกับรถน้ำมันได้ ซึ่งในตอนนี้มอเตอร์ไซค์อีวียังมีกำแพงด้านราคาอยู่

‘อีอีซี’ ฐานผลิตมอเตอร์ไซค์อีวี ส่งออกไปตลาดในภูมิภาค

จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า สกพอ.หารือกับบริษัท สโมโก้ โฮลดิ้ง จำกัด ภายใต้แบรนด์ "SMOGO” ผู้ประกอบการธุรกิจผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ และอุปกรณ์การผลิตอัจฉริยะในยานพาหนะพลังงานไฟฟ้า ชั้นนำจากจีน

ทั้งนี้ โครงการลงทุนนี้เริ่มต้นโดย บริษัท Suzhou Harmontronics Automation Technology Co., Ltd. ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมอัตโนมัติ และเทคโนโลยีดิจิทัลในจีน ได้ตัดสินใจร่วมมือกับ บริษัท GI New Energy Co.,Ltd. ขยายการลงทุนมาไทย ภายใต้ชื่อ “SMOGO”

ในเบื้องต้นบริษัทจะเลือกฐานการผลิต และลงทุนที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะหนองใหญ่ ซึ่งเป็นพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายของอีอีซี โดยจะขยายการลงทุนครอบคลุมธุรกิจการผลิตและประกอบมอเตอร์ไซค์อีวี การผลิตแบตเตอรี่ การผลิตและติดตั้งตู้เปลี่ยนแบตเตอรี่สำหรับมอเตอร์ไซค์อีวี (Swap Battery) และการให้บริการทางการเงิน (Leasing) ควบคู่ไปด้วย

ซึ่งจะเริ่มทำการตลาดในพื้นที่ 3 จังหวัดอีอีซี ประกอบด้วย ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา เป็นโครงการนำร่อง (Pilot Project) ในช่วงแรก และจะขยายการจำหน่ายไปประเทศอื่น โดยคาดว่าทาง SMOGO จะมีกำลังผลิตมอเตอร์ไซค์อีวี ได้ 150,000 คันต่อปี และคาดว่าจะเกิดการลงทุนโครงการฯ เกี่ยวเนื่องทั้งหมด ในกรอบวงเงินรวม 10,000 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 5 ปี (ปี 2566-2571)

พร้อมกันนี้ สกพอ.และ SMOGO ร่วมกันหารือแนวทางสนับสนุนการลงทุน อาทิ ด้านการขอรับสิทธิประโยชน์ในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ด้านการอำนวยความสะดวกขอรับบริการลงทุน การขอใบอนุมัติอนุญาต

รวมถึงการประสานความร่วมมือการพัฒนาทักษะบุคลากร โดยเฉพาะการฝึกอบรมและการศึกษาถึงนวัตกรรมด้านการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ที่ผู้ประกอบการจากจีนมีความเชี่ยวชาญ เพื่อเตรียมสร้างบุคลากรให้ตรงความต้องการต่อยอดการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต

ปัจจุบันมอเตอร์ไซค์อีวีกำลังเป็นที่นิยม และเป็นที่ต้องการของตลาดยานยนต์เพิ่มขึ้นทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย โดยการลงทุนในครั้งนี้จะสร้างโอกาสให้พื้นที่อีอีซีเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์อีวีในภูมิภาค สอดคล้องกับนโยบายหลักของรัฐบาล เพื่อให้เกิดการลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่ยั่งยืน

อาวีมาศ สิริแสงทักษิณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สวอพ แอนด์ โก จำกัด กล่าวว่า แนวโน้มการใช้รถขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้ากำลังเติบโตขึ้นทั้งรถยนต์นั่งและมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า โดยเฉพาะกลุ่มไรเดอร์ในธุรกิจเดลิเวอรี่ที่หันมาใช้รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ามากขึ้น เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานที่พัฒนาและพร้อมใช้งานมากยิ่งขึ้น อาทิ โซลูชั่นการใช้งานในรูปแบบบริการสลับเปลี่ยนแบตเตอรี่ (Battery Swapping) รวมถึงการพัฒนาโมเดลรถซึ่งตอบโจทย์ผู้ขับขี่มากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคเริ่มมีความเข้าใจในเทคโนโลยีใหม่ มีประสบการณ์การใช้อีวีที่ดี จึงทำให้มองว่าแนวโน้มการใช้งานอีวีจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

รายงานจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ระบุว่า คณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติเห็นชอบมาตรการสนับสนุนใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระยะที่ 2 หรือ EV 3.5 ใน 4 ปี (2567-2570) เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าขยายตัวต่อเนื่อง สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าราคาไม่เกิน 150,000 บาท ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 3 kWh จะได้รับเงินอุดหนุน ระหว่าง 5,000-10,000 บาทต่อคัน