อีอีซี รับทุนจีนตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่มอเตอร์ไซค์อีวี 1.5 แสนคัน/ปี

อีอีซี รับทุนจีนตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่มอเตอร์ไซค์อีวี 1.5 แสนคัน/ปี

อีอีซี รับทุนจีน “SMOGO” ตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ “มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า” กำลังผลิต 1.5 แสนคันต่อปี เตรียมรุกตลาด 3 จังหวัดอีอีซีปีนี้ คาดลงทุน 1 หมื่นล้านใน 5 ปี

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ สกพอ.ได้เข้าร่วมประชุม และหารือกับ บริษัท SMOGO Holding Co.,Ltd. ภายใต้ชื่อ "SMOGO” ผู้ประกอบการธุรกิจผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ และอุปกรณ์การผลิตอัจฉริยะในยานพาหนะพลังงานไฟฟ้า ชั้นนำจากประเทศจีน นำโดยนายหวัง หย่ง เจีย ประธานกรรมการ SMOGO และคณะ เพื่อผลักดันให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายสำคัญในพื้นที่อีอีซี โดยเฉพาะในกลุ่มคลัสเตอร์ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ซึ่งการผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า หรือมอเตอร์ไซค์อีวี 

ทั้งนี้ โครงการลงทุนนี้เริ่มต้นโดย บริษัท Suzhou Harmontronics Automation Technology Co., Ltd. ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ เป็นหนึ่งในบริษัทที่มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมอัตโนมัติ และเทคโนโลยีดิจิทัลในประเทศจีน ได้ตัดสินใจร่วมมือกับ บริษัท GI New Energy Co.,Ltd. ขยายการลงทุนมายังประเทศไทย ภายใต้ชื่อ “SMOGO” 

โดยเบื้องต้นจะเลือกฐานการผลิต และลงทุนที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะหนองใหญ่ ซึ่งเป็นพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายของอีอีซี โดยจะขยายการลงทุนครอบคลุมธุรกิจการผลิตและประกอบมอเตอร์ไซค์อีวี การผลิตแบตเตอรี่ การผลิตและติดตั้งตู้เปลี่ยนแบตเตอรี่สำหรับมอเตอร์ไซค์อีวี (Swap Battery) และการให้บริการทางการเงิน(Leasing) ควบคู่ไปด้วย 

ซึ่งจะเริ่มทำการตลาดในพื้นที่ 3 จังหวัดอีอีซี (ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา) เป็นโครงการนำร่อง (Pilot Project) ในช่วงแรก และจะขยายการจัดจำหน่ายไปยังประเทศอื่นๆ โดยคาดว่าทาง SMOGO จะมีกำลังผลิตมอเตอร์ไซค์อีวี ได้ประมาณ150,000 คันต่อปี และคาดว่าจะเกิดการลงทุนโครงการ ฯ เกี่ยวเนื่องทั้งหมด ในกรอบวงเงินรวมสูงถึง 10,000 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 5 ปี (ช่วงปี 2566 – 2571) 

อีอีซี รับทุนจีนตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่มอเตอร์ไซค์อีวี 1.5 แสนคัน/ปี

พร้อมกันนี้ อีอีซี และ SMOGO ได้ร่วมกันหารือถึงแนวทางเพื่อสนับสนุนการลงทุน อาทิ ด้านการขอรับสิทธิประโยชน์ในพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ด้านการอำนวยความสะดวกขอรับบริการลงทุน การขอใบอนุมัติอนุญาตต่างๆ 

รวมถึงการประสานความร่วมมือการพัฒนาทักษะบุคลากร โดยเฉพาะในด้านการฝึกอบรม และการศึกษาถึงนวัตกรรมด้านการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ที่ผู้ประกอบการจากจีนมีความเชี่ยวชาญ เพื่อเป็นการเตรียมสร้างบุคลากรให้ตรงกับความต้องการต่อยอดการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต

ปัจจุบันมอเตอร์ไซค์อีวีกำลังเป็นที่นิยม และเป็นที่ต้องการของตลาดยานยนต์เพิ่มขึ้นทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย โดยการลงทุนในครั้งนี้จะสร้างโอกาสให้พื้นที่อีอีซีเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์อีวีในภูมิภาค สอดคล้องกับนโยบายหลักของรัฐบาล เพื่อให้เกิดการลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่ยั่งยืน  

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์