การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ขณะขับขี่ | ณิชนันท์ คุปตานนท์

การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ขณะขับขี่ | ณิชนันท์ คุปตานนท์

ผู้ใช้บางส่วนใช้อุปกรณ์สื่อสารแม้กระทั่งในเวลาขับขี่ยานพาหนะ จนเป็นเหตุให้เกิดการขับขี่โดยประมาท หรือขับขี่ในลักษณะที่เป็นอันตรายต่อผู้อื่น อันส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุแก่ผู้ร่วมใช้รถใช้ถนนอยู่บ่อยครั้ง

เทคโนโลยีการสื่อสารในปัจจุบันพัฒนาขึ้นมากจนสามารถใช้ติดต่อสื่อสารระหว่างกันได้สะดวกยิ่งขึ้น แม้อยู่ในระหว่างการเดินทางก็ยังสามารถติดต่อกันได้ ซึ่งทำให้ผู้ใช้บางส่วนใช้อุปกรณ์สื่อสารแม้กระทั่งในเวลาขับขี่ยานพาหนะ

จนเป็นเหตุให้เกิดการขับขี่โดยประมาท หรือขับขี่ในลักษณะที่เป็นอันตรายต่อผู้อื่น อันส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุแก่ผู้ร่วมใช้รถใช้ถนนอยู่บ่อยครั้ง 

หลายประเทศเล็งเห็นถึงอันตรายจากการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในขณะขับขี่รถ จึงได้ตรากฎหมายออกมาในลักษณะเดียวกัน คือห้ามใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในขณะที่ขับขี่ เว้นแต่จะใช้อุปกรณ์เสริมที่ทำให้ผู้ใช้ไม่ต้องจับโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น โดยมีอัตราโทษแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ
 

ประเทศไทยเองก็ตระหนักในปัญหาดังกล่าว ในการแก้ไขพระราชบัญญัติจราจรทางบกเมื่อปี 2551 จึงได้มีการเพิ่มบทบัญญัติข้อห้ามเกี่ยวกับการขับขี่ในมาตรา 43

โดยเพิ่ม (9) ห้ามมิให้ผู้ขับขี่ขับรถในขณะใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ เว้นแต่การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่โดยใช้อุปกรณ์เสริมสำหรับการสนทนาโดยผู้ขับขี่ไม่ต้องถือหรือจับโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น หากฝ่าฝืน ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สี่ร้อยบาทถึงหนึ่งพันบาท

อย่างไรก็ดี เมื่อเวลาผ่านไป เทคโนโลยีก็มีการเปลี่ยนแปลง โทรศัพท์เคลื่อนที่เองก็พัฒนาไปในรูปแบบใหม่ที่เรารู้จักกันในปัจจุบันว่าสมาร์ทโฟนซึ่งทำได้มากกว่าการใช้พูดคุยติดต่อสื่อสาร

เช่น สามารถใช้ถ่ายรูป บันทึกภาพเคลื่อนไหวค้นหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ต เล่นเกมออนไลน์ รวมถึงการใช้เป็นเครื่องนำทางผ่านระบบ GPS อันส่งผลให้เริ่มมีการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ระหว่างขับขี่ในลักษณะที่แตกต่างไปจากเดิม

และที่พบเห็นได้มากในปัจจุบันคือการใช้เป็นเครื่องนำทางให้ผู้ขับขี่ไปยังจุดหมายได้อย่างถูกต้อง ซึ่งในหลาย ๆ ครั้งก็ส่งผลทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุด้วยเช่นเดียวกัน

ด้วยเหตุนี้ ในการแก้ไขพระราชบัญญัติจราจรทางบกเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จึงได้มีการปรับแก้มาตรา 43 (9) ด้วย โดยปรับแก้เป็น การห้ามมิให้ผู้ขับขี่ขับรถ “ในขณะใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ เว้นแต่การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่โดยผู้ขับขี่ไม่ต้องถือหรือ จับโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น ตามที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติประกาศกำหนด”

เพื่อให้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติสามารถกำหนดรายละเอียดเพิ่มเติมและปรับแก้ทันตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปได้ 

การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ขณะขับขี่ | ณิชนันท์ คุปตานนท์

ทั้งนี้ หากผู้ใดฝ่าฝืน ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 4,000 บาท  และเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ ได้ออกประกาศสํานักงานตํารวจแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ขับขี่ขณะขับรถ พ.ศ. 2565 โดยกำหนดให้ผู้ขับขี่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ขณะขับรถได้ถ้า

  1. ใช้อุปกรณ์เชื่อมต่อแบบไร้สาย อุปกรณ์เสริมสําหรับการสนทนาหรือระบบกระจายเสียง จากเครื่องโทรศัพท์ โดยผู้ขับขี่ไม่ต้องถือหรือจับโทรศัพท์เคลื่อนที่
  2. ใช้อุปกรณ์เสริมพิเศษสําหรับยึดหรือติดโทรศัพท์เคลื่อนที่ไว้กับส่วนหน้าของตัวรถทุกครั้ง ก่อนการขับรถ ทั้งนี้ ต้องไม่บดบังทัศนวิสัยหรือเสียความสามารถในการขับรถ

กรณีผู้ขับขี่มีความจําเป็นต้องถือ จับ หรือสัมผัสโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อใช้งานโดยประการใด ๆ ให้ผู้ขับขี่หยุดหรือจอดรถในสถานที่สําหรับจอดรถอย่างปลอดภัย ก่อนใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าว

ดังนั้น หากจะสรุปสั้น ๆ แล้ว หลักการยังคงเดิมคือ ขณะขับขี่ ห้ามมิให้ผู้ขับขี่สัมผัสโทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ   

หากจำเป็นต้องสัมผัส ก็ต้องหยุดรถหรือจอดรถในสถานที่สำหรับจอดรถอย่างปลอดภัยก่อน ซึ่งไม่รวมถึงการหยุดรถระหว่างรอสัญญาณไฟจราจร และหากจะใช้เป็นเครื่องมือในการนำทาง ก็ต้องใช้อุปกรณ์เสริมพิเศษเพื่อยึดติดโทรศัพท์ไว้กับส่วนหน้าของตัวรถในลักษณะที่ยังคงทำให้สามารถขับขี่โดยมีสมาธิและสามารถขับขี่ในลักษณะที่ปลอดภัยได้

ประเทศอังกฤษก็เพิ่งปรับแก้ไขกฎหมายจราจรในหลายเรื่อง โดยในส่วนของการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ขณะขับรถนั้น ได้กำหนดเงื่อนไขที่เข้มงวดขึ้น จากเดิมที่เคยห้ามมิให้ผู้ขับขี่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในการสื่อสารไม่ว่าจะโดยการพูดคุยหรือส่งข้อความ แต่ไม่ได้ห้ามใช้ในกรณีอื่น

เช่น ค้นหาเพลงเพื่อที่จะฟังหรือใช้ในการถ่ายรูป กฎหมายใหม่กำหนดห้ามไม่ให้ผู้ขับขี่สัมผัสโทรศัพท์เคลื่อนที่ขณะขับขี่ไม่ว่าในเวลาใด ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายรูป เลือกเพลง เล่นเกม หรือบันทึกภาพเคลื่อนไหวขณะขับขี่ หากฝ่าฝืนจะโดนโทษปรับ 200 ปอนด์ (ประมาณแปดพันห้าร้อยบาท) หรือสูงสุดไม่เกิน 2,500 ปอนด์

กรณีขับขี่รถบรรทุกหรือรถโดยสารประจำทาง และโทษปรับ 6 แต้ม ซึ่งหากฝ่าฝืนสองครั้งก็จะเป็นผลให้ถูกยึดใบอนุญาตขับขี่ได้ และหากเป็นผู้ที่เพิ่งได้ใบขับขี่มาไม่ถึงสองปี อาจถูกเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ได้หากฝ่าฝืนแม้เพียงครั้งเดียว  

อย่างไรก็ดี กฎหมายดังกล่าวยังกำหนดข้อยกเว้นการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ขณะขับขี่ได้ อาทิ ในกรณีใช้เพื่อนำทางหากใช้อุปกรณ์เสริมติดกับรถหรือสามารถใช้งานได้โดยไม่ต้องใช้มือสัมผัส แต่หากจำเป็นต้องสัมผัส

เช่น เพื่อเปลี่ยนแปลงเส้นทาง ก็จำเป็นต้องดำเนินการหลังจากจอดรถในที่ปลอดภัยแล้ว หรือในกรณีที่จำเป็นต้องโทรเบอร์ฉุกเฉินในสถานการณ์ที่ไม่อาจจอดรถโดยปลอดภัยได้ หรือในกรณีการใช้โทรศัพท์ในการชำระเงินแบบไร้สัมผัสสำหรับการซื้อสินค้าแบบ drive-through และในการจ่ายค่าผ่านทาง แต่ไม่รวมถึงกรณีการซื้อของออนไลน์ทั่วไป

จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายจราจรของไทยหรือของอังกฤษต่างก็เป็นไปในทางเดียวกันคือ การห้ามสัมผัสโทรศัพท์เคลื่อนที่ขณะขับขี่

ทั้งนี้ ก็เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนน โดยของประเทศอังกฤษมีข้อยกเว้นที่มากกว่าไทยอยู่บ้าง ซึ่งน่าสนใจที่จะนำไปพิจารณาในการปรับแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติมต่อไป