การขายถุงนำโชคและประเด็นทางกฎหมาย | ณิชนันท์ คุปตานนท์

การขายถุงนำโชคและประเด็นทางกฎหมาย | ณิชนันท์ คุปตานนท์

มื่อพูดถึงปีใหม่ สิ่งหนึ่งที่นักชอปปิงหลายคนจะนึกถึงคือ fukubukuro (福袋) ของญี่ปุ่นหรือที่บางครั้งในภาษาอังกฤษใช้คำว่า lucky bag หรือ mysterious bag และอาจพอเรียกเป็นภาษาไทยได้ว่า “ถุงนำโชค”

“ถุงนำโชค” เป็นที่นิยมกันมากของนักชอปปิง โดยเฉพาะชาวญี่ปุ่นที่จะไปจับจองคิวรอหน้าห้างสรรพสินค้าใหญ่ ๆ ในช่วงต้นปีเพื่อรอซื้อถุงนำโชคนี้ เหตุที่ถุงนำโชคเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย แม้ในกรณีทั่วไปจะไม่ทราบก่อนว่าด้านในถุงบรรจุสินค้าอะไรบ้างนั้น ก็เนื่องจากภายในถุงดังกล่าวบรรจุสินค้าคุณภาพดีจำนวนมาก และมีราคาขายที่ต่ำกว่าราคาสินค้าในถุงรวมกัน 
    ผู้ซื้อจึงมีความรู้สึกว่าได้สินค้าในราคาที่คุ้มเกินคุ้ม การขายถุงนำโชคของญี่ปุ่นนี้เริ่มมีมาตั้งแต่ยุคสมัยเอโดะ (พ.ศ.2146 - 2406)  ซึ่งเป็นช่วงที่ญี่ปุ่นมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมาก ร้านค้าต่าง ๆ จึงเริ่มจัดแคมเปญประจำปีเพื่อแสดงความเคารพต่อเทพเจ้าแห่งโชคลาภทั้งเจ็ดของญี่ปุ่น (七福神) 

และโดยได้รับแรงบันดาลใจจากเทพเจ้าแห่งความโชคดี จึงมีการวางขายถุงนำโชคในช่วงปีใหม่เพื่อให้ลูกค้ามีความสุขกับโชคดีในตอนต้นปี โดยผู้ซื้อก็จะได้ลุ้นว่าของด้านในมีอะไรบ้าง และเมื่อได้เริ่มต้นกับโชคดีตอนปีใหม่แล้ว ลูกค้าก็จะคาดว่าจะได้รับโชคดีตลอดปี

หลังจากวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา ได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินชีวิตและรูปแบบของเศรษฐกิจการค้ามากมาย หนึ่งในเรื่องที่มีการปรับตัวและพัฒนาขึ้นมาก คือการซื้อขายออนไลน์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีที่ผ่านมา มีร้านค้าจำนวนมากเสนอขายสิ่งที่เราเรียกกันว่า “กล่องสุ่ม” กันมากขึ้น และมีหลายกรณีที่เป็นประเด็นร้อนถูกวิพากษ์วิจารณ์มากมาย


กล่องสุ่มนี้ น่าจะพอเปรียบได้กับถุงนำโชคของญี่ปุ่นที่ได้กล่าวถึงข้างต้น 


แม้ญี่ปุ่นจะไม่มีกฎหมายที่บังคับใช้กับการขายถุงนำโชคโดยตรง แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีกฎหมายที่ต้องนำมาพิจารณาประกอบเสียเลย


กฎหมายห้ามการผูกขาดภาคเอกชนและการรับประกันการค้าที่เป็นธรรม (私的独占の禁止及び公正取引の確保に関する法律 - Act on Prohibition of Private Monopolization and Maintenance of Fair Trade) หรืออาจเรียกสั้น ๆ ว่ากฎหมายต่อต้านการผูกขาด  ซึ่งตราขึ้นเพื่อให้แน่ใจว่า จะไม่เกิดการผูกขาดในตลาด การผูกขาดราคา หรือใช้ข้อจำกัดทางการค้าที่ไม่สมเหตุสมผล อันจะส่งผลให้ไม่สามารถเกิดการแข่งขันที่เหมาะสมในตลาดได้ และเพื่อป้องกันการกระทำเหล่านี้ กฎหมายต่อต้านการผูกขาดจึงห้าม "วิธีการค้าที่ไม่เป็นธรรม" ไว้ด้วย

การค้าที่ไม่เป็นธรรมรูปแบบหนึ่งคือ กรณีการขายแบบรวม (抱合せ販売) ซึ่งได้แก่ การขายที่กำหนดเงื่อนไขให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าหรือบริการอื่นร่วมด้วย เช่น การขายสินค้ายอดนิยมที่ผู้บริโภคต้องการร่วมกับสินค้าที่ผู้บริโภคไม่ต้องการ (เช่น ของที่ขายไม่ออก)

จึงเป็นการบังคับให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าที่ตนไม่ได้ต้องการไปด้วย  ซึ่งอาจสร้างความเสียหายต่อผลประโยชน์ของผู้บริโภค ทั้งยังเป็นการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม กรณีการขายถุงนำโชคซึ่งเป็นการขายสินค้าหลายชิ้นพร้อมกันนั้น  จึงมีประเด็นทางกฎหมายที่ควรพิจารณาว่าจะตกอยู่ภายใต้การขายแบบรวมหรือไม่


นอกจากนี้ ยังมีประเด็นทางกฎหมายในกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการจัดให้มีของสมนาคุณและการแสดงที่ไม่เป็นธรรม (不当景品類及び不当表示防止法 - Act against Unjustifiable Premiums and Misleading Representations) หรืออาจเรียกว่ากฎหมายของสมนาคุณ ซึ่งเป็นกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคฉบับหนึ่ง 


แม้การแข่งขันในด้านคุณภาพ ราคาสินค้าและบริการเป็นผลดีต่อทั้งภาคธุรกิจและผู้บริโภค แต่การที่ผู้ประกอบธุรกิจเสนอของสมนาคุณชิ้นใหญ่ อาจทำให้ผู้บริโภคหลงซื้อสินค้าที่มีคุณภาพต่ำหรือราคาแพงและนำไปสู่ความเสียเปรียบในทางเศรษฐกิจของผู้บริโภคได้  ด้วยเหตุนี้ กฎหมายของสมนาคุณจึงกำหนดเกณฑ์เกี่ยวกับมูลค่าของรางวัลไว้ด้วย เพื่อปกป้องทั้งผลประโยชน์ของผู้บริโภคและป้องกันการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม


ในกรณีดังเช่นที่ลูกค้าซื้อถุงนำโชคเพราะอยากได้สินค้าเพียงบางอย่าง สิ่งของในถุงนำโชคที่ไม่ใช่ของที่ต้องการ  อาจถูกจัดเป็นของสมนาคุณหรือของแถม จึงต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของกฎหมายของสมนาคุณ


กรณีการขายสินค้ารวมกันในราคาที่ต่ำกว่าราคารวมของสินค้าเหล่านั้น อาจถือได้ว่าเป็นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่รับรู้เป็นส่วนลดจากการดำเนินธุรกิจตามปกติ ดังนั้นจึงอาจไม่เข้ากรณีที่ต้องแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้าดังกล่าวภายใต้กฎหมายของสมนาคุณ

อย่างไรก็ดี ในกรณี เช่น มีการผลิตสินค้าเพื่อขายในถุงนำโชคเป็นการเฉพาะนั้น สินค้าดังกล่าวอาจถูกมองว่าเป็นของสมนาคุณหรือของแถมได้เช่นกัน  ซึ่งในกรณีนี้ หากราคาถุงนำโชคไม่เกินห้าพันเยน กฎหมายกำหนดให้ราคาของสินค้าแต่ละชิ้นดังกล่าวต้องไม่เกิน 20 เท่าของราคาถุงนำโชค

หรือหากราคาถุงนำโชคเกินห้าพันเยน ราคาของสินค้าแต่ละชิ้นดังกล่าวต้องไม่เกินหนึ่งแสนเยน และทั้งสองกรณี  ราคารวมต้องไม่เกิน 2% ของราคาขายถุงนำโชค


ดังนั้น ในการขายถุงนำโชค ก็มีประเด็นที่ต้องพิจารณาเพื่อไม่ให้การขายถุงนำโชคดังกล่าวเป็นการขายแบบรวม หรือละเมิดข้อจำกัดตามกฎหมายของของสมนาคุณ เป็นต้น 
สำหรับประเทศไทย ต้องรอดูกฎกระทรวงที่ทางคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณาของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคร่างออกมา  เพื่อควบคุมการโฆษณาขายกล่องสุ่ม ซึ่งต้องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขต่าง ๆ ให้ชัดเจน

เพื่อช่วยคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรมและไม่ถูกเอาเปรียบ หรือถูกทำให้หลงเชื่อการยั่วยุที่เกินจริง  

เพราะหากมองในมุมของกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภคให้ต้องได้รับข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งคำพรรณนาของสินค้าที่ถูกต้องครบถ้วน

เพื่อประกอบการพิจารณาตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคแล้วนั้น จะเห็นได้ว่าการขายกล่องสุ่มในปัจจุบันยังขัดกับหลักกฎหมายดังกล่าวนี้
คอลัมน์ : กฎหมาย 4.0 
ผศ.ณิชนันท์ คุปตานนท์
อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์