สมุนไพรไทยในอาเซียน

สมุนไพรไทยในอาเซียน

สมุนไพรไทยเป็นสินค้าที่มีโอกาสสูงในตลาดโลก สธ.ปั้น 5 พืชเป็นแชมเปี้ยนโปรดักส์ ขณะที่นักวิชาการแนะไทยเจาะตลาดสมุนไพรฮาลาล

กานต์ดา บุญเถื่อน รายงาน

สมุนไพรไทยเป็นสินค้าที่มีโอกาสสูงในตลาดโลก ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศระบุว่า สมุนไพรกลุ่มอาหารเสริมมีมูลค่าการใช้และส่งออกรวมกว่า 80,000 ล้านบาท ส่วนกลุ่มสปาและผลิตภัณฑ์มีมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท และกลุ่มยาแผนโบราณตามภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยมีมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท ทั้งยังมีสมุนไพรกลุ่มสารสกัด กลุ่มที่ใช้ในอาหารสัตว์และกลุ่มที่ใช้ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชด้วย

เช่นเดียวกับโอกาสในตลาดอาเซียน ไทยมียอดส่งออกผลิตภัณฑ์สมุนไพรกว่า 1 แสนล้านบาทให้กับญี่ปุ่นและมาเลเซียซึ่งเป็นลูกค้าหลัก แต่ในเชิงอุตสาหกรรมแล้ว ยังเป็นรองประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย

เนื่องจากสิงคโปร์ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ในด้านการรับรองผลิตภัณฑ์สมุนไพร โดยนำเข้าวัตถุดิบสมุนไพรราคาต่ำจากจีนเข้ามาแปรรูปและสร้างตราสินค้าหรือแบรนด์ แล้วส่งออก ที่สำคัญสิงคโปร์ยังมีศักยภาพทางการค้าและการตลาดสูงด้วย

ส่วนมาเลเซียก็มีโรงงานแปรรูปสมุนไพรที่มีศักยภาพ มีการนำเข้าวัตถุดิบสมุนไพรจากจีนเพื่อแปรรูปเช่นกัน ทำให้ต้นทุนการผลิตของไทยสูงกว่าทั้งสองประเทศ

5 โปรดักต์แชมเปี้ยน

เภสัชกรสมนึก สุชัยธนาวนิช หัวหน้าศูนย์พัฒนาและสมุนไพรยาไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า กรมฯอยู่ระหว่างจัดทำ “แผนยุทธศาสตร์พัฒนาสมุนไพรไทยสู่ผลิตภัณฑ์สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศไทย (พ.ศ.2557-2561)” เพื่อสนับสนุนสมุนไพรไทยสู่ตลาดโลกอย่างเป็นรูปธรรม โดยหยิบสมุนไพรไทย 5 ตัวที่เด่น ยกระดับเป็นโปรดักต์แชมเปี้ยนของประเทศ ได้แก่ กวาวเครือขาว กระชายดำ ลูกประคบ ไพล และบัวบก สองชนิดหลังนี้ได้รับการจัดให้อยู่ในบัญชียาหลักแล้ว ทั้งในรูปของการกินเพื่อรักษาภายในและการใช้เพื่อรักษาภายนอก

การคัดเลือกสมุนไพรสู่การเป็น “โปรดักต์แชมเปี้ยน” ได้พิจารณาจากคุณค่าและสรรพคุณในการใช้เป็นยารักษาโรค เป็นเครื่องสำอาง เป็นอาหาร หรือเป็นผลิตภัณฑ์เชิงเศรษฐกิจได้

กรมฯอยู่ระหว่างผลักดันทั้ง 5 โปรดักต์สู่ภาคอุตสาหกรรมอย่างมีคุณภาพ โดยร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตวัตถุดิบที่มีคุณภาพและเพียงพอกับความต้องการในประเทศและการผลิตเพื่อส่งออก รวมถึงพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน และมีแผนการขายที่ชัดเจน สำหรับนำไปเสนอต่อครม.ในการสนับสนุนให้เป็นนโยบายเร่งด่วนในปีนี้ และจัดสรรงบประมาณระหว่างปี 2557-2561 ยกระดับสมุนไพรไทยสู่ตลาดโลกอย่างจริงจัง

ยกตัวอย่าง เช่น กระชายดำมอบหมายให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ จ.อุดรราชธานี ส่งเสริมการผลิตกระชายดำตั้งแต่ต้นน้ำถึงกลางน้ำ รวมถึงสร้างเครือข่ายระหว่างภาคเกษตรกรกับภาคเอกชน หรือคอนแทรคฟาร์มมิ่ง

ส่วนบัวบก เครือข่ายเกษตรกร จ.อุบลราชธานี มีพื้นที่การเพาะปลูก 500 ไร่ และ จ.มหาสารคาม 7 ไร่รองรับ ส่วนไพล จ.สระแก้วรับหน้าที่ส่งเสริมการปลูกในเกษตรกรเครือข่าย 5 ชุมชน เพราะมีโรงงานกลั่นน้ำมันไพลอยู่แล้ว 2 แห่ง ส่วนกวาวเครือขาวนั้น จ.ราชบุรีได้ส่งเสริมให้ปลูกรองรับตลาดอยู่แล้ว

ขณะที่ลูกประคบ ตอนนี้มีเครือข่ายงานวิจัยที่พร้อมจะต่อยอดมากมาย โดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (วว.) เป็นศูนย์กลางองค์ความรู้ ซึ่งมีทั้งแผ่นปิดตา แผ่นรองข้อมือขณะใช้เมาส์คอมพิวเตอร์ แผ่นประคบส่วนต่างๆ ของร่างกาย

ชู"วิถีออร์แกนิก"เป็นจุดขาย

“ไทยเป็นประเทศที่เก่งด้านการส่งออกผลิตภัณฑ์เสริมความงามและอาหารเสริมรายใหญ่ของภูมิภาคอาเซียน เพราะมีวัตถุดิบเกรดเออยู่ในมือเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านอย่างลาว เวียดนาม พม่า แต่ปัญหาที่ทำให้สมุนไพรไทย ยังไม่เกิดในเวทีโลก คือ นโยบายของภาครัฐที่ขาดการสนับสนุนที่ชัดเจนในการผลักดันให้เกษตรกรเปลี่ยนวิถีชีวิตจากสารเคมีเป็นออร์แกนิก” เภสัชกรสมนึกกล่าว

ส่วนสถานการณ์การผลักดันสมุนไพรไทยสู่ตลาดโลกยังขาดเจ้าภาพหลัก ต่างฝ่ายต่างทำต่างวิจัย ขาดการบูรณาการร่วมกันอย่างจริงจัง ฉะนั้น ภาครัฐคือหน่วยงานที่สำคัญที่ต้องออกโรงผลักดันให้ผลิตผลทางการเกษตรของไทยมีคุณภาพ เช่น การสร้างโรงงานกลางเพื่อรองรับการผลิต การจัดตั้งตลาดกลาง การจัดการวัตถุดิบที่ดีในระดับประเทศ เมื่อวัตถุดิบดีป้อนโรงงานต่อเนื่อง ผลผลิตก็ออกมาดีได้เองในที่สุด

“นักวิจัยต้องลงพื้นที่ไปหาเกษตรกร ซึ่งเป็นผู้ที่ทำหน้าที่ผลิตวัตถุดิบมาช้านาน เพื่อช่วยแก้ปัญหาให้เขา ยกระดับคุณภาพสินค้าให้เขา เพื่อที่จะมีวัตถุดิบที่ดีมีคุณภาพส่งต่อให้ภาคการผลิต แทนที่จะตั้งโจทย์วิจัยเพื่อพิสูจน์สมมติฐานตัวเองอยู่แต่เพียงในแล็บแล้วสุดท้ายก็เป็นเพียงงานตีพิมพ์ที่อยู่บนหิ้ง”

แนะหาจุดเด่น-แปรรูปผลิตภัณฑ์

เภสัชกรหญิงกฤษณา ไกรสินธุ์ ศาสตราจารย์พิเศษด้านเภสัชศาสตร์ และคณบดีคณะการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ประชากรในอาเซียนมากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นชาวมุสลิม ฉะนั้น ผลิตภัณฑ์ฮาลาลน่าจะเป็นอีกทางออกสำหรับสมุนไพรไทย ไม่ว่าจะเป็น เครื่องสำอาง ยา ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ไทยเองก็ล้วนมีภูมิปัญญาดั้งเดิมที่สามารถทำตลาดได้ไม่แพ้ชาติใด

ทั้งนี้ควรหาและสร้างจุดเด่นให้กับสมุนไพรไทย เช่น การแปรรูปวัตถุดิบให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีคุณภาพ การเปลี่ยนวิถีจากสารเคมีเป็นออร์แกนิก และการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัย

"ทุกวันนี้การทำตลาดแทบจะไร้พรมแดนแล้ว อะไรก็หาซื้อได้ง่ายขึ้น การจะทำให้ตลาดสมุนไพรของไทยเข้มแข็ง ควรเริ่มจากการรวมตัวกันของคนในชุมชน ปลูกสมุนไพรคนละอย่างสองอย่าง แล้วเอามารวมกันเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนป้อนภาคอุตสาหกรรม เช่น พื้นที่หนึ่งปลูกกระเจี๊ยบมาก อีกพื้นที่หนึ่งปลูกกระชายมาก ก็ต่างฝ่ายต่างทำ ไม่ต้องเหมือนกันทั้งหมด เป็นการกระจายการผลิตในสิ่งที่ถนัดและป้องกันปัญหาผลผลิตล้นตลาด"