เฉลิมพล ตู้จินดา เปิดยุทธศาสตร์ติดปีก "ซอฟต์แวร์ไทย"

เฉลิมพล ตู้จินดา เปิดยุทธศาสตร์ติดปีก "ซอฟต์แวร์ไทย"

บทบาทของซอฟต์แวร์พาร์คคือผลักดันให้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีถูกนำไปใช้ยกระดับอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการ และบุคคลากรด้านไอที

"นายเฉลิมพล ตู้จินดา" ผู้อำนวยการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (ซอฟต์แวร์พาร์ค) คนใหม่ให้สัมภาษณ์พิเศษ "กรุงเทพธุรกิจ" ถึงยุทธศาสตร์ผลักดันซอฟต์แวร์ไทยจากนี้หลังรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 2 ม.ค.2556 แทน "นายธนชาติ นุ่มนนท์" ที่ขอลาออกและผันตัวเองไปทำงานข้อมูลเชิงวิชาการป้อนอุตสาหกรรมไอซีที

นายเฉลิมพล เล่าย้อนถึงประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาว่า หลังเรียนจบปริญญาตรีสาขาแมเนจเมนท์ อินฟอร์เมชั่น ซิสเต็มส์ และปริญญาโทสาขาบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยเซาท์เทิร์น นิวแฮมเชียร์ สหรัฐอเมริกา เริ่มทำงานในบริษัทเอกชนด้านระบบข้อมูลตลาดหลักทรัพย์ จากนั้นย้ายไปที่รอยเตอร์ตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายเทคนิค และเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิก บริษัท รอยเตอร์ ซอฟท์แวร์ (ประเทศไทย) จำกัด ดูแลงานด้านเฟ้นหาบุคลากรไอทีเข้าสู่บริษัท และรับงานจากซิลิคอล วัลเลย์ ยุโรป และอีกหลายประเทศเข้ามาทำในไทย

นอกจากนี้ เคยเป็นรองผู้อำนวยการซอฟต์แวร์พาร์คอยู่ 2 ปี และล่าสุดก่อนถูกดึงตัวมารับตำแหน่งปัจจุบัน รับหน้าที่ผู้อำนวยการฝ่ายบริการพัฒนาผู้ประกอบการทางเทคโนโลยี (ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ) ที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) 2 ปี

“ที่ตัดสินใจมาที่นี่ผมเห็นว่ามีประสบการณ์และความเข้าใจในอุตสาหกรรมซึ่งสามารถทำประโยชน์ได้ ส่วนตัวไม่เคยกลัวเรื่องการทำงาน จะห่วงอยู่บ้างเรื่องความคาดหวังของคน”

ตลอดการสัมภาษณ์ผู้อำนวยการซอฟต์แวร์พาร์คคนใหม่ ย้ำว่า มีความตั้งใจที่จะทำหน้าที่นี้ให้ดีที่สุด พร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย ส่วนว่าจะทำได้มากน้อยแค่ไหนมีหลายปัจจัยเป็นองค์ประกอบ รวมไปถึงทรัพยากรและงบประมาณที่จำกัด ซึ่งคงไม่สามารถทำได้ถูกใจทุกคน
ชูวิทย์-เทคโนฯสร้างฐาน

นายเฉลิมพล มีมุมมองว่า ผู้อำนวยการยุคแรกมีวิสัยทัศน์ยาวไกล วางรากฐานอินฟราสตรักเจอร์ไว้อย่างดี ยุคที่ 2 พัฒนาการตลาดและความร่วมมือระหว่างหลายภาคส่วน ยุคที่ 3 แข็งแกร่งเรื่องเทคนิค สำหรับยุคที่ 4 นี้มองว่าทำอย่างไรให้เกิดการทำงานร่วมกันโดยไม่แบ่งฝ่าย พร้อมสานต่องานของผู้อำนวยการคนก่อน ทำให้สิ่งที่มี ถูกนำไปใช้ตรงความต้องการจริงของอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ดี 3 เดือนที่ผ่านมา ได้เร่งสะสางงานเก่า พร้อมปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ ย้ายทีมหน่วยบ่มเพาะธุรกิจจากสวทช.มาทั้งทีม 9 คน รวมปัจจุบันมีพนักงานทั้งหมด 39 ตำแหน่ง ขณะเดียวกันพูดคุยกับคนที่รู้จัก และผู้ประกอบการปูทางสำหรับการทำงานในเฟสต่อๆ ไป

เขากล่าวว่า ซอฟต์แวร์เฮาส์สัญชาติไทยจำเป็นต้องมองให้กว้างออกไประดับนานาชาติมากขึ้น ดังนั้นแผนงานหลักที่วางไว้แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปช่วยสร้างมูลค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด อีกด้านหนึ่งสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการ

"ธีมของการทำงานระยะ 3 ปีนี้จะมุ่งไปสู่การเป็น “โกลบอล ซอฟต์แวร์ เกทเวย์” ที่ช่วยเชื่อมผู้ประกอบการไทยไปสู่ตลาดต่างประเทศ"

ดันสตาร์ทอัพโกอินเตอร์

สำหรับแนวทางการทำงาน เขากล่าวว่า ส่วนของผู้ประกอบการหน้าใหม่เริ่มบ่มเพาะตั้งแต่เรียนจบ ให้เรียนรู้ว่าสนใจทำงานในวงการนี้จริงหรือไม่ ปีนี้เตรียมเปิดให้บริษัทสตาร์ทอัพเข้าอบรม 70 ราย จากเดิมรับ 50 ราย พร้อมกันนี้ จะร่วมมือกับภาคเอกชนปั้นเถ้าแก่น้อยอายุ 20-25 ปี ภายใน 3 ปีนี้ตั้งเป้าสร้างผู้ประกอบการที่เข้มแข็ง 200 ราย แต่ละรายมีรายได้รายละ 10 ล้านบาท หรือรวมกันทำได้ปีละ 2 พันล้านบาท

ขณะที่บริษัทรายเก่าเข้าไปช่วยด้านการตลาด ส่งเสริมให้เกิดการจับคู่ธุรกิจกับคู่ค้าต่างประเทศ รวมถึงยกระดับการทำมาตรฐานซีเอ็มเอ็มไอให้ใช้งานจริง ไม่ใช่มีไว้เพียงเป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์องค์กร

“ผู้ประกอบการต้องมีความคิดใหม่ๆ เข้าใจกระบวนการทางธุรกิจ การเงิน การลงทุน และความต้องการของตลาด การเตรียมความพร้อมควรเริ่มตั้งแต่วางบิสสิเนสโมเดล คิดว่าจะทำตลาดอย่างไร ลูกค้าเป็นใคร ที่สำคัญสร้างเอกลักษณ์ของตัวเองที่ไม่ต้องถึงกับแปลกแต่มีจุดขายที่เข้มข้น โดยไม่ลืมที่จะตามติดสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงและเป็นไปของโลก”

นอกจากนี้ ด้านบุคลากร เน้นไปที่ระดับกลางหรือผู้จัดการขึ้นไปมากกว่าแค่แรงงาน ด้านความร่วมมือกับภาคส่วนอื่นๆ จะสนับสนุนให้มีการนำงานวิจัยไปเชื่อมโยงกับบริการภาครัฐโดยทำในแนวดิ่งเจาะไปเฉพาะทางของแต่ละอุตสาหกรรม

ข้อมูลสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ หรือ ทีดีอาร์ไอ ชี้ว่า ปัจจุบันการส่งออกซอฟต์แวร์ไทยมีมูลค่าเพียง 3 พันกว่าล้านบาท ส่วนใหญ่บริโภคภายในมากกว่า จากตัวเลขนี้นับว่ามีโอกาสการเติบโตสูงมาก แง่ประสิทธิภาพงานบริษัทคนไทยไม่ได้เป็นรองชาติอื่น ทว่าไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในตลาด

ดังนั้นในภาพรวมอิงไปตามแพลตฟอร์มที่ตลาดต้องการ สอดรับกับกระแสเทคโนโลยีโมบิลิตี้ และคลาวด์คอมพิวติ้ง เชื่อว่าทีมหน่วยบ่มเพาะธุรกิจที่เข้ามาเสริมซึ่งมีจุดแข็งด้านความเชี่ยวชาญแหล่งเงินทุน ภาษี และบีโอไอจะมีส่วนช่วยงานของซอฟต์แวร์พาร์คได้มาก

ไม่หวั่นงบประมาณจำกัด

นายเฉลิมพล กล่าวอีกว่า งบประมาณที่ได้มาแต่ละปีมีอยู่ประมาณไม่เกิน 100 ล้านบาท ไม่มากนักแต่พอให้ทำโครงการที่วางไว้ได้ ต่อประเด็นที่นโยบายภาครัฐกำหนดให้ซอฟต์แวร์พาร์ค หารายได้เพื่อสนับสนุนการทำโครงการต่างๆ ด้วยตัวเอง โดยกำหนดไว้เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดการทำงาน (เคพีไอ) มองว่าเป็นความท้าทายอย่างมาก และจะพยายามทำให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ทั้งนี้ไม่ได้วางไว้เป็นงานที่สำคัญที่สุด เพราะที่สำคัญกว่านั้นคือการสร้างความแข็งแกร่งให้กับผู้ประกอบการ

“เราควรเล่นบทบาทให้ถูกต้อง ถ้าผลงานออกมาดี สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมได้ ผมก็หวังว่าจะช่วยเป็นส่วนที่ชดเชยกันไป"

ปัจจุบันซอฟต์แวร์พาร์คมีรายได้จากการบริหารพื้นที่เช่าสำหรับผู้ประกอบการลักษณะคล้ายนิคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ การทำกิจกรรมอบรมต่างๆ การส่งเสริมการจับคู่ธุรกิจ และงบสนับสนุนจากหน่วยงานที่ทำโปรเจคร่วมกัน

พร้อมระบุว่า มีแผนสร้าง “บิสสิเนส อินเทลลิเจนซ์” ที่เป็นมากกว่าฐานข้อมูลทางธุรกิจ แผนปีแรกและปีที่สองเตรียมรวบรวมข้อมูลที่ขาดอยู่ในแวดวงทั้งแง่การลงทุน การตลาด เทคโนโลยี ความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ภายในปีที่ 3 ตั้งเป้าทำให้เสร็จสมบูรณ์เพื่อช่วยเสริมความแข็งแกร่งผู้ประกอบการอีกทางหนึ่ง

"ความท้าทายของผม คือ วางไดเร็คชั่นอย่างไรให้เกิดประโยชน์เต็มที่กับอุตสาหกรรม สอดคล้องกับสิ่งที่ลงมือทำ เราจะเดินกันไปทีละก้าวแต่ต้องเร็วพอสมควรเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง พร้อมรับมือเออีซี” เขากล่าว