Grand Opening IAM พร้อมเปิดบูธแก้หนี้

Grand Opening IAM พร้อมเปิดบูธแก้หนี้

เปิดบูธให้คำปรึกษาการเจรจาหนี้ให้กับลูกหนี้ของบริษัทฯ ภายใต้โครงการ “ไม่เป็นหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ” ตั้งแต่วันที่ 9 ถึง 11 พฤศจิกายน 2561

เปิดตัวกันอย่างเป็นทางการแล้วกับบริษัท บริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด (ไอแอม) เมื่อวันศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2561 ณ ศูนย์การค้าเอ็มบีเค เซ็นเตอร์ ชั้น 5 โซน Outlet In Town หลังจากที่ซุ่มทำงานมาเกือบ 3ปีตามนโยบายปลดหนี้ของรัฐบาล โดยนอกจากงานเปิดตัวแล้ว ภายในงานยังได้มีการเปิดบูธให้คำปรึกษาการเจรจาหนี้ให้กับลูกหนี้ของบริษัทฯ ภายใต้โครงการ “ไม่เป็นหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ” ตั้งแต่วันที่ 9 ถึง 11 พฤศจิกายน 2561 และนำทรัพย์สินรอการขาย (NPA) ของบริษัทฯ ออกมาจำหน่ายในงานนี้อีกด้วย

พรรณขนิตตา บุญครอง” ประธานกรรมการ บริษัท บริหารทรัพย์สิน ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวในพิธีเปิดว่า บริษัท บริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด หรือไอแอม จัดตั้งขึ้นตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 กันยายน พุทธศักราช 2559 และได้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัทจำกัด โดยมีสถานะเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์แห่งเดียวที่กระทรวงการคลังถือหุ้น 100% ถือเป็นรัฐวิสาหกิจ ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เพื่อทำหน้าที่รับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยมาบริหารจัดการ

ธงรบ ด่านอำไพ” ผู้จัดการบริษัท บริหารทรัพย์สิน ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวว่าบริษัท บริหารสินทรัพย์ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำกัด (ไอแอม) เป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงการคลัง ทำหน้าที่รับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยมาบริหารจัดการ โดยมีภารกิจหลักคือ การบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย มาบริหารจัดการภายใต้หลักชะรีอะฮ์ตามสัญญาสินเชื่อที่ได้รับโอนมา มีมูลค่ากว่า 48,000 ล้านบาท จากจำนวนลูกหนี้กว่า 27,000 ราย แบ่งเป็นลูกหนี้รายใหญ่ที่มีสินทรัพย์เกินกว่า 20 ล้านบาท มีจำนวน 174 ราย มีมูลค่ามากกว่า 42,000 ล้านบาท และลูกหนี้รายย่อยที่มีมูลหนี้ต่ำกว่า 20 ล้านบาท มีจำนวนรายมากกว่า 27,000 ราย คิดเป็นมูลค่าประมาณ 6,000 ล้านบาท

ทั้งนี้การเรียกเก็บหนี้ตั้งแต่ได้รับโอนมาจากธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ในเดือนมิถุนายน 2560 ไอแอม สามารถเรียกเก็บหนี้รวมทั้งสิ้นกว่า 3,000 ราย เป็นจำนวนเงินกว่า 500 ล้านบาท และคาดว่าจนถึงสิ้นปี 2561 จะสามารถเรียกเก็บหนี้ได้กว่า 2,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ บริษัทฯยังเตรียมนำทรัพย์สินรอการขาย (NPA) ออกจำหน่าย โดยขณะนี้มี NPA อยู่ในมือจำนวน 116 รายการ คิดเป็นมูลค่าทรัพย์สินกว่า 400 ล้านบาท”

ทั้งนี้บริษัทฯ ยังได้เชิญพันธมิตรจากหลากหลายธุรกิจเข้าร่วมออกบูธในงานดังกล่าว ได้แก่ บมจ.ทิพยประกันภัย, บมจ.หลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย), บมจ.เวนเจอร์ อินคอร์ปอเรชั่น, บริษัท สำนักกฎหมาย ซี.เอ.แอล. จำกัด และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาลัยนวัตกรรมการจัดการ, ธนาคาร ธนชาติ จำกัด (มหาชน) ทำให้งานครั้งนี้จะเป็นการให้บริการและให้คำปรึกษาจากหลากหลายธุรกิจ ได้แก่ การบริหารทรัพย์สินและเลือกชมทรัพย์สินรอการขาย (NPA), การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ด้านประกันภัย - ประกันชีวิต, การให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีทางการเงิน (Financial Technology), การให้ความรู้ด้านการบริหารหนี้ และด้านนวัตกรรมทางการเงินต่างๆ เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไป

นายธงรบ ยังได้กล่าวทิ้งท้ายอีกว่า การแก้ไขปัญหาหนี้สิน หรือบริหารสินทรัพย์ มีวัตถุประสงค์ก็เพื่อให้ลูกค้าหรือลูกหนี้ ได้กลับคืนสู่อิสรภาพทางการเงินและเศรษฐกิจของครอบครัวและ/หรือกิจการอีกครั้งหนึ่ง สามารถประกอบอาชีพการงาน เลี้ยงดูตนเองและครอบครัว ประเทศชาติบ้านเมืองได้อย่างเต็มกำลังความสามารถ อันเป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและการพัฒนาประชาชนให้มีคุณภาพชีวิต เป็นการคืนความสุขให้กับประชาชนอย่างถูกต้องแท้จริง