‘ทะเลเดือด’ จาก ‘ภาวะโลกร้อน’ อุณหภูมิน้ำพุ่งสูงทำลายสถิติต่อเนื่อง

‘ทะเลเดือด’ จาก ‘ภาวะโลกร้อน’ อุณหภูมิน้ำพุ่งสูงทำลายสถิติต่อเนื่อง

“อุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเล” ยังคงทำลายสถิติอย่างต่อเนื่องมานานกว่า 1 ปีแล้ว และมีแนวโน้มว่าปี 2024 จะทำลายสถิติไปเรื่อยๆ เพราะ “ภาวะโลกร้อน” ยังคงรุนแรง เข้าสู่ยุค “ทะเลเดือด” เต็มตัว ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลทั่วโลก

KEY

POINTS

  • เดือนมีนาคม 2567 กลายเป็นเดือนที่อุณหภูมิรายเดือนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 10 ด้วยอุณหภูมิ 21.07 องศาเซลเซียส โดยอุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกถึงสามเท่า
  • ปรากฏการณ์ “ทะเลเดือด” ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล จะทำให้โลกสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ โดย 1 ใน 3 ของสัตว์ทะเลพื้นเมืองในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนอาจเปลี่ยนแหล่งที่อยู่อาศัย ย้ายอยู่ในน้ำที่ลึกกว่าและเย็นกว่า
  • การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ก๊าซเรือนกระจกปริมาณมากลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ โดยในขณะนี้ “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงขึ้น กอปรกับเกิดปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” ที่ทำให้อุณหภูมิมหาสมุทรอุ่นขึ้นผิดปรกติ เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ทะเลเดือดจนถึงปัจจุบัน

“อุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเล” ยังคงทำลายสถิติอย่างต่อเนื่องมานานกว่า 1 ปีแล้ว และมีแนวโน้มว่าปี 2024 จะทำลายสถิติไปเรื่อยๆ เพราะ “ภาวะโลกร้อน” ยังคงรุนแรง เข้าสู่ยุค “ทะเลเดือด” เต็มตัว ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลทั่วโลก

สถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโคเปอร์นิคัสของสหภาพยุโรป หรือ C3S ระบุว่า เดือนมีนาคม 2567 กลายเป็นเดือนที่อุณหภูมิรายเดือนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 10 ด้วยอุณหภูมิ 21.07 องศาเซลเซียส

“เดือนมีนาคม 2024 มีอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งอุณหภูมิอากาศ และอุณหภูมิพื้นผิวมหาสมุทร” ซาแมนทา เบอร์เกสส์ รองผู้อำนวยการของ C3S กล่าวในแถลงการณ์

นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐโคโลราโด คาดการณ์ว่ามหาสมุทรเขตร้อนในมหาสมุทรแอตแลนติกมีอากาศอบอุ่นกว่าปกติ ซึ่งจะทำให้เกิดฤดูพายุเฮอริเคนที่รุนแรง เพราะยิ่งอุณหภูมิในมหาสมุทรสูงขึ้นเท่าใด ก็จะยิ่งทำให้พายุมีพลังมากขึ้นเท่านั้น

กาวิน ชมิดต์ นักอุตุนิยมวิทยา และผู้อำนวยการสถาบันก็อดดาร์ด เพื่อการศึกษาอวกาศ ของนาซา ระบุว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นจนทำลายสถิติใหม่ที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา และลากยาวมาจนปีนี้ เป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือความคาดหมายของนักวิทยาศาสตร์ แม้จะคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้วก็ตาม

อุณหภูมิโลกมีแนวโน้มจะสูงขึ้นในระยะยาว เนื่องจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ก๊าซเรือนกระจกปริมาณมากลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ โดยในขณะนี้ “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงขึ้นกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยยุคก่อนอุตสาหกรรมประมาณ 1.2 องศาเซลเซียส ส่งผลให้มหาสมุทรที่มืดกว่าจะยิ่งดูดซับความร้อนจากก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น จึงเป็นสาเหตุให้มหาสมุทรร้อนขึ้นเรื่อยๆ 

“ทะเล” ในเอเชียร้อนกว่าทั่วโลก

ข้อมูลจาก องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก หรือ WMO ระบุว่า อุณหภูมิพื้นผิวทะเลของฝั่งเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นฝั่งกระแสน้ำญี่ปุ่น หรือกระแสน้ำคุโรชิโอะ ซึ่งอยู่ฝั่งตะวันตกของแอ่งมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ รวมถึง ทะเลอาหรับ ทะเลแบเรนตส์ตอนใต้ ทะเลคาราตอนใต้ และทะเลลัปเตฟทางตะวันออกเฉียงใต้ สูงกว่าอุณหภูมิผิวน้ำทะเลเฉลี่ยทั่วโลกถึง 3 เท่า

ทะเลแบเรนตส์กลายเป็นจุดความร้อนของมหาสมุทร เนื่องจากภาวะโลกร้อนที่พื้นผิวมหาสมุทรส่งผลกระทบสำคัญต่อธารน้ำแข็งในน้ำทะเล ซึ่งเร่งให้เกิดการสูญเสียน้ำแข็งในทะเลให้เร็วยิ่งขึ้น และทำให้ดูดกลืนก๊าซเรือนกระจก และแสงอาทิตย์ได้มากกว่าธารน้ำแข็งที่เป็นสีขาวที่สะท้อนแสงได้ดีกว่า

นอกจากนี้ อุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเล (ระดับความลึกตั้งแต่ 0-700 เมตร) ในทะเลอาหรับตะวันตกเฉียงเหนือ ทะเลฟิลิปปินส์ และทะเลทางตะวันออกของประเทศญี่ปุ่น สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกถึงสามเท่า

สำหรับคลื่นความร้อนที่เกิดในทะเลอาหรับตะวันออก และทางตอนเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิก จะกินเวลานานถึง 3-5 เดือน โดยความร้อนที่ยืดเยื้อยาวนานนี้จะส่งผลกระทบต่อมหาสมุทรอย่างรุนแรง

“ทะเลเดือด” ทำร้ายสิ่งมีชีวิตในทะเล

ปรากฏการณ์ “ทะเลเดือด” ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล จะทำให้โลกสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ โดย 1 ใน 3 ของสัตว์ทะเลพื้นเมืองในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนอาจเปลี่ยนแหล่งที่อยู่อาศัย ย้ายอยู่ในน้ำที่ลึกกว่า และเย็นกว่า เช่น “ปลาค็อด” ที่อพยพย้ายไปยังน่านน้ำใกล้รัสเซีย และนอร์เวย์ 

ในขณะที่ สัตว์ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน เช่น ปูม้า และปลาสิงโตจะเจริญเติบโตในน้ำอุ่น บุกรุกที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตเฉพาะถิ่น

“สิ่งนี้อาจส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล และการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศในภูมิภาค เนื่องจากพวกมันสามารถแข่งขันกับสายพันธุ์พื้นเมืองได้” เวอร์จินิยุส ซินเควิชิอุส สมาชิกคณะกรรมาธิการยุโรปด้านสิ่งแวดล้อม มหาสมุทร และการประมง ให้สัมภาษณ์กับ Financial Times

นอกจากนี้ ซินเควิชิอุสยังตั้งข้อสังเกตว่า สิ่งมีชีวิตในท้องทะเลมีจำนวนลดลง เป็นเพราะว่าน้ำเสียที่ไม่ผ่านการบำบัด และการปนเปื้อนมลพิษจากภาคการเกษตร ทำให้สาหร่ายในน้ำแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็ว จนแหล่งน้ำไม่มีออกซิเจน ทำให้สิ่งมีชีวิตไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ รวมไปถึงการประมงเกินขีดจำกัดก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้สิ่งมีชีวิตในท้องทะเลลดลงอย่างน่าใจหาย 

 

สาเหตุที่ทำให้ “ทะเลเดือด”

ในปี 2023 เกิดปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” (El Niño) ที่ทำให้อุณหภูมิมหาสมุทรอุ่นขึ้นผิดปกติ ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา และปัจจุบันเอลนีโญกำลังเริ่มอ่อนกำลังลง จากนั้นจะเข้าสู่ปรากฏการณ์ “ลานีญา” (La Niña) เป็นช่วงที่อุณหภูมิมหาสมุทรเย็นลงผิดปกติ 

อย่างไรก็ตามเอลนีโญ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ใช่แค่ 2 ปัจจัยที่ทำให้น้ำทะเลเดือด ยังมีปัจจัยอื่นๆ ประกอบอีก ไม่ว่าจะเป็นการระเบิดของภูเขาไฟใต้น้ำฮันกาตองกาฮันกาฮาพาย (Hunga-Tonga-Hunga-Haapai) ในตองกา เมื่อปี 2022 ทำให้เกิดเขม่า และฝุ่นละอองปกคลุมแสงแดด จนชั้นบรรยากาศเย็นลงชั่วคราว 

แต่เนื่องจากภูเขาไฟลูกนี้จมอยู่ใต้น้ำใต้มหาสมุทรแปซิฟิก การปะทุของมันจึงพ่นไอน้ำหลายล้านตันขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศชั้นบนด้วย และไอน้ำเป็นก๊าซเรือนกระจกที่ทรงพลัง

ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนจากการปะทุของภูเขาไฟมีมากกว่าที่นักวิทยาศาสตร์เคยประมาณการไว้ก่อนหน้านี้ โดยชอน เบิร์กเคิล ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของมหาวิทยาลัยเมน ตั้งข้อสังเกตว่าการปะทุอาจส่งผลกระทบต่อการไหลเวียนของบรรยากาศ และช่วยขยายขอบเขตปรากฏการณ์เอลนีโญในช่วงปี 2023 แต่เขาเสริมว่าจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติม

อีกหนึ่งประเด็นคือ มาตรการลดมลภาวะจากละอองลอยจากเรือคอนเทนเนอร์ที่เดินทางข้ามมหาสมุทร ตามมาตรฐานเชื้อเพลิงสากลใหม่ที่มีผลบังคับใช้ในปี 2020 กลับทำให้เกิดการระบายความร้อนในชั้นบรรยากาศตอนกลาง และตอนบน อีกทั้งช่วยปกปิดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาจนถึงปัจจุบัน

 

ที่มา: Financial TimesThe New York Times

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์