‘วอยซ์ ทีวี’ ขาดทุนกว่า 800 ล้านบาท พนักงานไม่ช็อค! หลังมีข่าวปิดกิจการ

‘วอยซ์ ทีวี’ ขาดทุนกว่า 800 ล้านบาท  พนักงานไม่ช็อค! หลังมีข่าวปิดกิจการ

ธุรกิจสื่อดั้งเดิมหรือ Traditional Media ยังเผชิญการแก้โจทย์ใหญ่ในการหารายได้โฆษณา และการฝ่าพายุดิสรัปชั่นอย่างต่อเนื่อง เมื่อองค์กรที่หาเงินยากยิ่งขึ้น ย่อมนำไปสู่การตัดสินใจโบกมือลา หรือยุติการดำเนินธุรกิจ ปิดกิจการ!

ล่าสุด มีกระแสข่าวช่องวอยซ์ ทีวี(Voice TV) จะปิดกิจการ มีผลวันที่ 31 พฤษภาคม 2567 ทำให้กระทบการเลิกจ้างพนักงานนับ “ร้อยชีวิต”

ทั้งนี้ หากดูเส้นทางการเงินของวอยซ์ ทีวี ภายใต้บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2546 มีทุนจดทะเบียนกว่า 577 ล้านบาท ขนาดธุรกิจเป็นไซส์กลางหรือ M ส่วนคณะกรรมการ มีรายชื่อดังนี้ นายเมฆินทร์ เพชรพลาย นายเฉลิม แผลงศี และนางจตุพร กู้ตลาด

‘วอยซ์ ทีวี’ ขาดทุนกว่า 800 ล้านบาท  พนักงานไม่ช็อค! หลังมีข่าวปิดกิจการ

  • ขาดทุนอ่วมกว่า 800 ล้านบาท

ผลประกอบการของบริษัทช่วง 5 ปีย้อนหลัง คือปี 2565 ไปจนถึงปี 2561 ต้องเผชิญภาวะ “ขาดทุน” อย่างต่อเนื่อง ดังนี้

ปี 2565 รายได้รวมกว่า 97 ล้านบาท และขาดทุนกว่า 106 ล้านบาท

ปี 2564 รายได้รวมกว่า 71 ล้านบาท และขาดทุนกว่า 92 ล้านบาท

ปี 2563 รายได้รวมกว่า 44 ล้านบาท และขาดทุนกว่า 110 ล้านบาท

ปี 2562 รายได้รวมกว่า 160 ล้านบาท และขาดทุนกว่า 157 ล้านบาท

ปี 2561 รายได้รวมกว่า 60 ล้านบาท และขาดทุนกว่า 352 ล้านบาท

เฉพาะ 5 ปีย้อนหลังดังกล่าว วอยซ์ ทีวี ประสบปัญหาการขาดทุนสะสมอย่างหนักมูลค่ารวมกว่า 800 ล้านบาท

 

  • ปิดกิจการ พนักงาน ไม่ช็อค! เอเยนซี มองไม่กระทบธุรกิจสื่อ

ทั้งนี้ หลังจากมีกระแสข่าววอยซ์ ทีวี ปิดกิจการ พนักงานในบริษัทบางคน ไม่ได้ตกใจหรือช็อค! กับเหตุการณ์ดังกล่าว เนื่องจากมีการรับรู้เรื่องราวเป็นการภายในมาระยะหนึ่งแล้ว

‘วอยซ์ ทีวี’ ขาดทุนกว่า 800 ล้านบาท  พนักงานไม่ช็อค! หลังมีข่าวปิดกิจการ ตัวอย่างคอนเทนต์วอยซ์ ทีวี บนสื่อสังคมออนไลน์

สำหรับความเห็นจากแหล่งข่าววงการเอเยนซี ระบุว่า การปิดช่องวอยซ์ทีวี ไม่กระทบกับภาพรวมธุรกิจสื่อ หรือเม็ดเงินโฆษณา โดยการวางแผนซื้อสื่อโฆษณานั้น ลูกค้า เจ้าของสินค้า แบรนด์ต่างๆ และเอเยนซีจะพิจารณาช่องที่มีคนดูมากหรือวัดจากเรทติ้งนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม วอยซ์ ทีวี ถือเป็นสถานีโทรทัศน์ที่ออกอากาศผ่านระบบดาวเทียม และยังรุกคืบสู่การประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัล(ไลเซนส์)ในหมวดหมู่ข่าวสารและสาระ ด้วยราคาประมูล 1,330 ล้านบาท ทว่า ปี 2562 ยังเป็น 1 ใน 7 ช่อง ที่มีการคืนใบอนุญาตฯ และยุติการออกอากาศทีวีดิจิทัลเมื่อ 1 กันยายน 2562 พร้อมได้รับเงินชดเชยกว่า 378 ล้านบาท หลังจากนั้นบริษัทยังประกาศเดินหน้าลุยผลิตคอนเทนต์ ทำสื่อออนไลน์และดาวเทียมเป็นหลัก

 

  • งบโฆษณาทีวีดาวเทียมน้อยนิด โฆษณาออนไลน์ แพลตฟอร์มข้ามชาติกินรวบ!

หากดูสถานการณ์เม็ดเงินโฆษณาที่ภาพรวมถดถอยหลัง มูลค่ารวมต่ำกว่า 1 แสนล้านบาทมาหลายปีแล้ว ทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวี มีเม็ดเงินโฆษณาสะพัดกว่า 1,000 ล้านบาทเท่านั้น ขณะที่ขุมทรัพย์เม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์ที่โตวันโตคืน และปี 2567 สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย)หรือ DAAT คาดการณ์มูลค่าสะพัดกว่า 3.1 หมื่นล้านบาท เติบโต 8%

ทว่า บรรดาสื่อออนไลน์ที่โกยเม็ดเงิน ล้วนเป็น “แพลตฟอร์มข้ามชาติ” ไม่ว่าจะเป็น “เมตา”(Meta: Facebook Instagram ad) ยังครองเม็ดเงินมากสุด 8,870 ล้านบาท สัดส่วน 28% ยูทูป 4,477 ล้านบาท สัดส่วน 14% ติ๊กต๊อก 3,070 ล้านบาท สัดส่วน 10% เป็นต้น สะท้อนภาพ 4 ยักษ์ใหญ่กินเค้กก้อนโตถึง 52%

‘วอยซ์ ทีวี’ ขาดทุนกว่า 800 ล้านบาท  พนักงานไม่ช็อค! หลังมีข่าวปิดกิจการ งบโฆษณาสื่อดิจิทัล แพลตฟอร์มข้ามชาติโกยเงินอื้อ!

  • บ๊ายบายคนดูอย่างเป็นทางการ

ล่าสุด วอยซ์ ทีวี ได้ออกประกาศอย่างเป็นทางการ ดังนี้ 

ประกาศอำลาผู้ชมจากทีมงานวอยซ์

ตลอด 15 ปี ที่ผ่านมา วอยซ์เป็นสื่อมืออาชีพที่สร้างสรรค์แนวทางการนำเสนอใหม่ๆ ผลักดันให้สังคมตั้งคำถามกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ และกระตุ้นให้เกิดการตื่นรู้ มีความหวัง และเลือกใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ เพื่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และประชาธิปไตย

เราผ่านภาวะวิกฤตมามากมาย ผ่านเหตุการณ์สำคัญ ผ่านความรัก และความปลุกปั่นเกลียดชัง ทั้งทางการเมือง การชุมนุมและการรัฐประหาร ผ่านวิกฤตโควิด และวิกฤต disruption ของวงการสื่อ จากดาวเทียม สู่ดิจิทัลทีวี สู่ออนไลน์และแพลตฟอร์มโซเชียล

เราฝ่าฟันอุปสรรค เพื่อมุ่งสร้างกิจการให้มั่นคงตลอดมา ทุกครั้งที่เราเห็นผู้ประกอบการหลายรายพยายามฝ่าภาวะวิกฤตจากผลประกอบการ และหยุดกิจการไป เราก็ยังปักหลักปรับเปลี่ยนการบริหาร จัดการจากข้อจำกัดต่างๆ เพื่อมุ่งสู่การแสวงหากำไรความยั่งยืนให้กับ Voice TV เพื่อเป็นหลักให้ผู้สื่อข่าวและผู้ปฏิบัติงานทุกคนได้มีโอกาสทำหน้าที่ตามปรัชญาสื่อมวลชน ท่ามกลางการลดขนาดกิจการ เราประเมินสถานการณ์ตัวเองและเลือกที่ฝ่าฟันเดินหน้า

วันนี้ ผู้บริหาร ผู้ถือหุ้น ประเมินกิจการและภาวะวิกฤตในอุตสาหกรรมอย่างรอบด้านแล้ว มีความเห็นสรุปปิดกิจการ เนื่องจากกลไกตลาด เทคโนโลยีแพลตฟอร์มมีผู้ผลิตมากมายและหลากหลาย ที่สามารถสานต่อภาระกิจสังคมต่างๆ ได้ ขณะที่ประชาธิปไตยกำลังลงหลักเพื่อเริ่มต้นต่อไปได้ จากนี้ทางบริษัทจะมีการจ่ายชดเชยให้พนักงานทุกคนตามกฎหมายอย่างเป็นธรรม โดยเราจะทยอยหยุดออกอากาศทั้งบนทีวีและออนไลน์ภายในเดือนพฤษภาคมนี้

ตลอด 15 ปี เราภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมผลิตผลงานเพื่อสังคม รวมถึงผู้ถือหุ้น กรรมการ ผู้บริหาร พนักงาน อดีตพนักงาน ผู้สื่อข่าว ผู้ดำเนินรายการ ทั้งที่อยู่ปัจจุบัน และที่เคยมีส่วนร่วมสร้างมาด้วยกัน เราภาคภูมิใจในการสร้างคุณประโยชน์ต่อสังคม เราภูมิใจในสิ่งที่เราเป็นและสิ่งที่เราทำตลอดมา

26 เมษายน 2567

‘วอยซ์ ทีวี’ ขาดทุนกว่า 800 ล้านบาท  พนักงานไม่ช็อค! หลังมีข่าวปิดกิจการ

 

อ่าน งบโฆษณาดิจิทัลโตวันโตคืน แต่แพลตฟอร์มข้ามชาติโกยเงิน

อ่าน เม็ดเงินโฆษณาปี 67 ยังโตต่ำ