'อินสตาแกรม' บูมโซเชียลคอมเมิร์ซไทย

'อินสตาแกรม' บูมโซเชียลคอมเมิร์ซไทย

“เฟซบุ๊ค” เผย ผู้ใช้งาน “อินสตาแกรม” ในไทยโตไม่หยุด คนไทยฮิตถ่ายรูป ค้นหาเทรนด์แฟชั่น แชร์เรื่องราวบนโลกออนไลน์ แนะผู้ประกอบการใช้เป็นช่องทางสร้างตัวตน เพิ่มการเข้าถึงลูกค้า เปิดทางทำเงินบนโซเชียลคอมเมิร์ซ

นางสาวชวดี วงศ์พยัต หัวหน้าฝ่ายธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เฟซบุ๊ค ประเทศไทย กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศที่การใช้งานอินสตาแกรม(ไอจี) เติบโตอย่างแข็งแกร่งและต่อเนื่อง สาเหตุที่ทำให้ได้รับความนิยมเนื่องจากคนไทยชื่นชอบการถ่ายภาพและแบ่งปันเรื่องราวบนโลกออนไลน์

นอกจากนี้ เข้าไปมีส่วนร่วมและสื่อสารกับศิลปิน นักร้อง นักแสดงที่ชื่นชอบ รวมไปถึงค้นหาเทรนด์แฟชั่นและสินค้าผ่านการใช้แฮชแท็กต่างๆ เช่น #เสื้อผ้าเกาหลี #เสื้อผ้าแนวสตรีท #เสื้อผ้าแฟชั่น #เสื้อผ้าราคาถูก #พร้อมส่ง ฯลฯ

“สมองของคนเราสามารถประมวลผลภาพได้เร็วกว่าข้อความถึง 6 หมื่นเท่า ภาพเป็นภาษาที่คนทั่วโลกสามารถเข้าใจและเข้าถึงได้ ดังนั้นเป็นโอกาสที่ธุรกิจไทยใช้แพลตฟอร์มไอจีสร้างความชื่นชอบต่อแบรนด์ ทำให้ผู้ติดตามกลายมาเป็นลูกค้าเพื่อขยายการเติบโต”

ปัจจุบัน ประเภทธุรกิจที่คนไทยนิยมค้นหาบนอินสตาแกรมมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ ผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนตัว แฟชั่น และความงาม วงการแฟชั่นได้ใช้ไอจีในการแสดงออก ทั้งเบื้องหลังการทำงาน พัฒนาการของคอลเลคชั่นเสื้อผ้า ไปจนถึงเปิดตัวสินค้าใหม่ด้วยการใช้ฟีเจอร์ไลฟ์(Live) เพื่อถ่ายทอดสดบรรยากาศ

เฟซบุ๊คเผยว่า ทั่วโลกมีจำนวนผู้ใช้งานไอจีกว่า 1 พันล้านคน จากจำนวนดังกล่าว 80% มีการติดตามโปรไฟล์ธุรกิจ แต่ละวันมีผู้ใช้งานมากกว่า 200 ล้านบัญชีเยี่ยมชมโปรไฟล์ธุรกิจอย่างน้อย 1 โปรไฟล์ แต่ละสัปดาห์มีผู้ใช้งานกว่า 150 ล้านคนสร้างบทสนทนาและพูดคุยถึงธุรกิจความงามและแฟชั่น เมื่อเดือนม.คที่ผ่านมา ผู้ใช้งานฟีเจอร์สตอรี่(Stories) บนไอจีมีจำนวนสูงถึง 500 ล้านคนต่อวัน ขณะนี้ทั่วโลกมีจำนวนธุรกิจอยู่บนไอจีมากกว่า 25 ล้านราย

“วิธีการสื่อสารของผู้คนกำลังเปลี่ยนไป การมีกล้องถ่ายภาพบนมือถือทำให้ภาพถ่ายกลายเป็นภาษาในรูปแบบใหม่ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นเพื่อการพูดคุยกัน สื่อสารว่าทำอะไรอยู่ เล่าเรื่องราว แสดงออกถึงความชื่นชอบ ช่วยเชื่อมต่อกับคนอื่นๆ กระทั่งซื้อขายสินค้าและต่อยอดทางการตลาด”

อย่างไรก็ดี อีกความโดดเด่นของแพลตฟอร์มไอจีคือ การที่มีการนำอัลกอริธึมมาใช้เพื่อตรวจจับความสนใจของผู้ใช้งานแต่ละรายและนำเสนอรูปภาพที่ตรงกับความสนใจ แบรนด์สามารถเริ่มต้นการตลาดได้ด้วยการสร้างโปรไฟล์ทางธุรกิจ ใส่รายละเอียดสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ และโพสต์คอนเทนท์รูปแบบต่างๆ ผ่านโปรไฟล์ หน้าฟีด สตอรี่ และไอจีทีวี(IGTV)

ทั้งนี้ ภายในโปรไฟล์ธุรกิจทางไอจีมีสถิติข้อมูลเพื่อให้สามารถนำมาวิเคราะห์ความชื่นชอบของผู้บริโภคได้ ทั้งการดูผลการตอบรับของผู้บริโภคในแต่ละคอนเทนท์ การเลือกดูรายละเอียดของกลุ่มผู้ติดตามต่างๆ

นอกจากนี้ ได้เพิ่มเครื่องมือสำหรับให้แบรนด์ใช้งานเพิ่มเติม สำหรับแจ้งรายละเอียดราคาสินค้าและลิงก์ไปยังหน้าขายของที่เชื่อมกับทางเฟซบุ๊ค ในอนาคตทางไอจียังมีแผนที่จะเพิ่มทางลัดในการติดต่อสื่อสารเพิ่มเติมจากอีเมล เบอร์ติดต่อ รวมถึงขยายสู่การเปิดให้ร้านอาหารรับจองโต๊ะ หรือสร้างกิจกรรมอื่นๆ ที่เชื่อมโลกออนไลน์สู่ออฟไลน์ได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีแผนที่จะเปิดให้บริการชำระเงินผ่านทางไอจีโดยตรง แต่สามารถใช้ระบบชำระเงินที่มีอยู่บนเฟซบุ๊คร่วมด้วยได้ ในไทยบริษัทให้ความสำคัญอย่างมากกับการสนับสนุนและพัฒนาด้านโซเชียลคอมเมิร์ซ