พรรคการเมืองไทยเมินประเด็นสิทธิมนุษยชน

พรรคการเมืองไทยเมินประเด็นสิทธิมนุษยชน

สื่ออาเซียนรายงาน 81 พรรคการเมืองไทยที่ลงสู้ศึกเลือกตั้งวันอาทิตย์นี้ ส่วนใหญ่ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับประเด็นสิทธิมนุษยชน

เว็บไซต์อาเซียนโพสต์รายงานว่า พรรคการเมืองไทยไม่ค่อยให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน ทั้งๆ ที่เสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุมอย่างสงบ และสิิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนไทยตกอยู่ในภาวะเสื่อมถอย นับตั้งแต่ประเทศตกอยู่ภายใต้การนำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ( คสช.) ซึ่งเป็นยุคที่นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน และกลุ่มที่คัดค้านต่อต้านรัฐบาล ถูกเรียกว่า เป็นภัยคุกคามความมั่นคงประเทศ และยังต้องเผชิญหน้ากับข้อหาอาญาที่ร้ายแรง เช่น การปลุกระดม อาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

คสช.ร่างรัฐธรรมนูญฉบับทหารและจัดตั้งโครงสร้างการบริหารประเทศ ที่ขัดขวางการปฏิบัตินโยบายด้านสิทธิมนุษยชน ดังนั้นแม้ได้รัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้ง วันที่ 24 มี.ค.สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของไทยก็ไม่น่าจะดีขึ้น

นายเติมศักดิ์ เฉลิมพลานุภาพ หัวหน้านักวิจัยสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ กล่าวว่า ในเวทีหาเสียงของพรรคการเมือง เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องปากท้อง ปัญหาค่าครองชีพสูงแต่รายได้ต่ำ ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ เงินเดือนค่าแรงน้อย ระดับหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น การไร้กรรมสิทธิ์ที่ดิน และปัญหาการว่างงาน

“สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจริงกับคนทั่วไปในสังคม ส่งผลต่อวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่ ขณะที่ประเด็นสิทธิมนุษยชนเป็นนามธรรม ซึ่งการปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่รอได้”นักวิชาการระบุ

เมื่อวันที่ 14 มี.ค.สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล เผยแพร่รายงานชื่อ “เงาดำเหนือแสงสว่าง” สำรวจความคิดเห็นจากพรรคการเมืองไทยจำนวน 32 พรรค พบว่า ประเด็นสิทธิมนุษยชนไม่ใช่เรื่องสำคัญในอันดับต้นๆของพรรคการเมืองเหล่านี้ การสนับสนุนมาตรการยกระดับเสรีภาพในการพูดและแสดงความคิดเห็นจึงมีจำกัด

ผลการสำรวจชี้ว่า รัฐบาลใหม่ให้ความสำคัญกับนโยบายแก้ไขปัญหาสังคมและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ มากที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 71.9% ต่อต้านปัญหาคอรัปชั่น 50%ยกระดับมาตรฐานการศึกษาไทย 43.8%ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศและสิทธิสตรี 9.4% การปฏิรูปตำรวจและทหาร 6.3% และไม่ขอออกความคิดเห็น 3.1%

อย่างไรก็ตาม อาเซียนโพสต์ระบุว่า ไม่ยุติธรรมนักหากจะชี้ว่า รัฐบาลไทยมีประวัติสิทธิมนุษยชนย่ำแย่ สมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศล้วนมีปัญหาด้านนี้ โดยใช้กฎหมายยุยงปลุกปั่นและความมั่นคงไซเบอร์จัดการกับคนคิดต่างเหมือนกันทั้งภูมิภาค

ประเด็นอื่นๆ เช่น ขาดเสรีภาพสื่อ เสรีภาพศาสนา สิทธิแอลจีบีพี ไม่เคารพความเป็นส่วนตัว และการวิสามัญฆาตกรรมก็มีให้เห็นมาก พร้อมกันนั้นนักการเมืองบางคนปากบอกว่าสนับสนุนกฎหมายแก้ปัญหาสิทธิเหล่านี้ แต่ก็ไม่ได้ทำนโยบายที่ปฏิบัติได้จริงเพื่อปกป้องคนกลุ่มเสี่ยงถูกละเมิดสิทธิ

ด้วยเหตุนี้นอกเหนือจากการเลือกตั้งของไทยแล้ว การเลือกตั้งอินโดนีเซียในเดือนหน้า และการเลือกตั้งกลางเทอมของฟิลิปปินส์ในเดือน พ.ค. ผู้สนับสนุนสิทธิมนุษยชนจึงต้องจับตาวาทกรรมทางการเมืองของสองประเทศอย่างใกล้ชิดด้วย