ศูนย์เรียนรู้ “กัลฟ์” คุณค่าร่วมเพื่อนชุมชน

ศูนย์เรียนรู้ “กัลฟ์” คุณค่าร่วมเพื่อนชุมชน

ชุมชนรอบข้าง โรงไฟฟ้าคือปราการด่านแรกในการสร้างการยอมรับ เพื่อตอบโจทย์อนาคตสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจ กัลฟ์ จึงยึดหลักเติบโตไปพร้อมกับเป็นมิตรกับเพื่อนบ้าน ชุมชนรอบข้าง ด้วยการสร้างคุณค่าร่วม (Share Value) แบ่งปันรอยยิ้ม ปลูกความเข้มแข็งให้ชุมชน

ย้อนกลับไป ก่อน บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จะเข้าไปตั้งโรงไฟฟ้าเพื่อผลิตไฟฟ้าให้กับชุมชน ต้องฝ่าแรงต้านจากชุมชน ที่กังวลว่าโรงไฟฟ้า จะทำลายสิ่งแวดล้อม ปลูกพืชผลไม่เจริญงอกงาม ส่งผลกระทบต่อสวัสดิภาพชีวิตของชุมชน อาทิ การก่อตั้งโรงไฟฟ้าที่ อ.หนองแซง จ.สระบุรี ต้องใช้เวลา 3-5 ปี เพื่อสร้างความเข้าใจกับชุมชน ก่อนจะสามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้ในปี 2557

ฝ่ายชุมชนสัมพันธ์ของกัลฟ์ ระบุว่า ไม่เพียงแค่ให้ความรู้ข้อมูลรอบด้านกับชาวบ้าน ยังต้องสื่อสารผ่านการทำกิจกรรม สร้างความสัมพันธ์กันดีกับชุมชน สร้างการมีส่วนร่วม โดยกันพื้นที่กว่า 42 ไร้รอบโรงไฟฟ้าเป็นพื้นที่สีเขียว พัฒนาเป็นแหล่งเพาะปลูก สร้างคุณภาพชีวิต และองค์ความรู้ ชุมชนรอบข้าง

กิจกรรมแรกๆ คือการเข้าไปส่งเสริมชาวบ้านปลูกข้าวเกษตรอินทรีย์ และสร้างมูลค่าเพิ่มจากข้าวเป็นของขวัญของชำร่วยให้พันธมิตรธุรกิจ ในโอกาสพิเศษ

กว่า 3 ปีที่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำแปลงนาเกษตรอินทรีย์ พร้อมกับการทดลองปลูกพืชพันธุ์อื่น จึงตกผลึกเป็นศูนย์เรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ ที่พร้อมต่อยอดชีวิตความเป็นอยู่ ด้านเศรษฐกิจ ทำให้ชุมชนมีความรู้ เข้มแข็ง เติบโตยั่งยืนคู่กับธุรกิจ

ธนญ ตันติสุนทร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานองค์กรสัมพันธ์ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ เล่าถึงการตั้งโรงไฟฟ้าที่อ.หนองแซง แรกๆต้องทำความเข้าใจร่วมกับชุมชน พร้อมกับชวนคุย ชวนคิด ชวนทำ พัฒนาคุณภาพชีวิตร่วมกัน โดยใช้ “เกษตร”เป็นตัวเชื่อม ในการขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ระหว่างชุมชนกับโรงไฟฟ้า เพราะชุมชนรอบข้างโรงไฟฟ้ามีอาชีพด้านเกษตรกรรมถึง 80%

เขาเล่าถึงโครงการพัฒนาชุมชนคู่กับโรงไฟฟ้า ถูกพัฒนาขึ้นเป็นแปลงนาสาธิต เพื่อพิสูจน์ถึงการมาของกัลฟ์ว่าไม่ส่งผลกระทบต่อการทำเกษตร โดยในปี 2558 ได้เปิดแปลงนาสาธิต 10 ไร่ รอบโรงไฟฟ้า โดยการทำเกษตรผสมผสาน ตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่มีทั้งพื้นที่ใช้สอย ขุดบ่อเก็บน้ำ และปลูกพืชผสมผสานในนาข้าว พืชไร่ พืชสวน สำหรับสร้างรายได้หมุนเวียน

“เราดึงขุมชนเข้ามา โดยการจ้างชาวบ้านผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ เพื่อพิสูจน์และเห็นผลประจักษ์ด้วยตัวเอง จึงเกิดพื้นที่ทำนาเขียวขจีรอบๆ โรงไฟฟ้า”

ผ่านไป 1 ปี เข้าปี 2559 เมื่อผลพิสูจน์ว่าโรงไฟฟ้าไม่ส่งผลกระทบต่อผืนนาของชุมชนรอบข้าง จึงขยายพื้นที่มาทำนาหลายฤดูกาลเป็นจำนวน 17 ไร่ ส่วนใหญ่ผืนนาแห่งนี้เป็นพื้นที่รับน้ำ จึงปรับพื้นที่เป็นแปลงนาสาธิต 4 ไร่ โดยทำคันนาเพื่อป้องกันน้ำท่วมและวางแผนการปลูกพืชผัก ไม้ยืนต้น

ปี 2560 ได้ปลูกพืชหลากหลายมากขึ้น ทั้งไม้ยืนต้น ไม้เศรษฐกิจเพื่อใช้ในระยะยาว รวมไปถึงผลไม้ประจำท้องถิ่น เช่น มะม่วงมันหนองแซง และยังนำไม้ผลมาทดลองปลูกพันธุ์ใหม่ หลากหลายชนิดมาปลูกให้ชุมชนได้เรียนรู้ เช่น อินทผลัม ทุเรียน ฝรั่ง ลิ้นจี่ ลำไย ฯลฯ เริ่มกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ ให้คนในชุมชน เยาวชน นักเรียนเข้ามาศึกษาเรียนรู้และสร้างแรงบันดาลใจในการแสวงหาอาชีพทางเลือก และพัฒนาคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม

“3 ปีที่ผ่านมาทำให้ชุมชนและครอบครัวข้างโรงงานมีพัฒนาการเพาะปลูกและพึ่งพาตัวเองได้ จากที่ขายเป็นข้าวเปลือกไม่ได้ราคา ก็หันมาขายเองไม่ผ่านพ่อค้า โดยการบรรจุใส่ถุงเป็นกิโลกรัม ตอบโจทย์ด้านเศรษฐกิจของชาวบ้านเพื่อให้ไว้วางใจและเปิดใจ เห็นกัลฟ์เป็นเพื่อน เป็นพันธมิตรที่ชุมชนไว้วางใจ” เขากล่าว

ทำให้ในปี 2561 บริษัทเข้าไปพัฒนาให้เกิดความยั่งยืนขึ้นด้วยการ พลิกจากแปลงนาสาธิต ให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียว สำหรับเป็นศูนย์เรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ ที่มีการผสมผสานความรู้ด้านการเกษตรหลากหลายด้านมีทั้งแปลงนาสาธิต ทำโรงปุ๋ยอินทรีย์ เลี้ยงไส้เดือนเพื่อผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือน ทำปุ๋ยหมักจากวัชพืชในแหล่งน้ำของชุมชน รวมถึงน้ำหมักจากหน่อกล้วยสำหรับใช้ในกิจกรรมพืชผักอินทรีย์

อนาคตต้องการให้องค์ความรู้ทฤษฎีดังกล่าว เกิดผลสัมฤทธิ์ สร้างให้คนในชุมชนมาเรียนรู้แล้วนำไปขยายผลในพื้นที่นาไร่ของตัวเอง จากชุมชนข้างเคียงโรงไฟฟ้าขยายไปสู่ชุมชนที่กระจายตัวโดยรอบ หากทุกคนหันมาพัฒนาเกษตรอินทรีย์ พื้นที่โดยรอบก็จะกลายเป็นแหล่งผลิตพืชผล เกษตรอินทรีย์ได้ 100% ภายใน 5 ปี

เขากล่าวต่อไปว่า ขึ้นสู่ปีที่ 4 ยังคงพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้าให้เกิดความยั่งยืน ผ่านการสร้างศูนย์เรียนรู้ โดยน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พร้อมกันกับนำพันธุ์ข้าว ทับทิมชุมแพ ซึ่งเป็นข้าวสายพันธุ์ใหม่ที่ตลาดกำลังต้องการ เพราะมีความหอม นุ่ม และอุดมไปด้วยสารอาหาร เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตในชุมชน

“การตั้งศูนย์เรียนรู้ เป็นจุดที่ทำให้เห็นผลลัพธ์ของการพัฒนาเกษตรทฤษฎีผสมผสาน และเกิดการต่อยอดไปสู่การสร้างรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิต ทำให้คนสนใจอยากเข้ามาเรียนรู้และขยายความรู้ไปสู่ชุมชนอื่นๆ ”

ผู้บริหารกัลฟ์ เล่าว่าหลังจากเกษตรเป็นจุดเชื่อมในการดึงคนพัฒนาร่วมกัน ทำให้เกิดมิติที่ดีในการสร้างความเข้าใจระหว่างโรงไฟฟ้ากับชุมชน ลดความขัดแย้ง เพื่อในอนาคตเป็นเพื่อนบ้านที่ดี เปิดใจ ร่วมกันพัฒนาสิ่งแวดล้อม และสังคมไปด้วยกัน

“จากที่เข้าไปพูดคุยกับชุมชนความรู้สึกร่วมน้อย เมื่อใช้เกษตร มาเป็นตัวเชื่อม ทำให้ร่วมมือกันทำให้สิ่งดีๆ ร่วมกัน ลดความขัดแย้งลงได้ มีโอกาสชวนกันคุย ช่วยกันคิด ”

จากเดิมที่ภาครัฐ องค์กรเอกชน พูดคุยกับกัลฟ์อย่างเพื่อนอยู่แล้ว แต่ระดับครอบครัวเป็นโจทย์ที่เริ่มเข้าไปสร้างคุณค่าร่วมในการพัฒนาด้วยกัน ขั้นต่อไปจะต้องสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนโดยการเพิ่มคุณภาพชีวิต และสร้างความเข้มแข็ง

“หากชุมชนมีระบบการบริหารจัดการดี ส่วนชาวบ้านมีองค์ความรู้ในการสร้างรายได้เพิ่ม รู้จักรักษาสิ่งแวดล้อม ทำให้คุณภาพชีวิตในสังคมดี ความยั่งยืนก็เกิดขึ้น ไปพร้อมกันการพัฒนาธุรกิจของกัลฟ์”