พิธีเสกสมรส ‘แฮร์รี-เมแกน’ ในมุมมานุษยวิทยา

พิธีเสกสมรส ‘แฮร์รี-เมแกน’ ในมุมมานุษยวิทยา

นักมานุษยวิทยาชื่อดังมองพิธีเสกสมรสระหว่างเจ้าชายแฮร์รีกับเมแกน มาร์เคิลว่า เป็นเทพนิยายของผู้ใหญ่

คาโอริ โอคอนเนอร์ นักมานุษยวิทยาจากยูนิเวอร์ซิตีคอลเลจลอนดอน เจ้าของผลงานโด่งดังหลายชิ้น รวมถึง“The Never-Ending Feast: the Archaeology and Anthropology of Feasting” และ“The English Breakfast” กล่าวว่า พิธีเสกสมรสดังกล่าวเป็นเหมือนงานของเรา เจ้าสาวของเรา

“แน่นอนว่าเราไม่ได้เกี่ยวข้องกับคนเหล่านั้น แต่ยังไงซะพวกเขาก็เป็นสัญลักษณ์ของเราอยู่ดี เป็นตัวแทนของทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับเรา แม้เราไม่สามารถบอกกล่าวได้”

เธอชี้ว่า ในสังคมที่แตกแยกส่วนใหญ่ในเรื่องเบร็กซิท งานพระราชพิธีสำคัญเป็นช่วงเวลาเฉลิมฉลองค่านิยมร่วม ได้สัมผัสถึงบางสิ่งเบื้องลึก อาจจะเรียกว่าค่านิยมของความจงรักภักดี ครอบครัว ประวัติศาสตร์ ศรัทธาในประเทศ ที่นักวิชาการผู้นี้เชื่อว่าจะช่วยหลอมรวมชาวอังกฤษในวันเสกสมรส พระราชพิธีช่วยให้ค่านิยมเหล่านั้นชัดเจนยิ่งขึ้น

“เราอาจไม่เคยคิดถึงเรื่องนี้มาก่อน แต่ก็สัมผัสได้ เวลาคุณเห็นความยิ่งใหญ่ของพิธีการก็เล่นเอาน้ำตารื้น ราชวงศ์ทำให้พวกเรามารวมตัวกัน”

สิ่งที่โอคอนเนอร์จับตาเป็นพิเศษคือ ความตื่นเต้นของบรรดาคนรักราชวงศ์ที่ไปปักหลักกันในเมืองวินด์เซอร์ในคืนก่อนวันพิธี เพื่อจับจองทำเลชมงานที่ชัดเจนที่สุด

“นี่คือพฤติกรรมชนเผ่า”

งานนี้นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกหลั่งไหลเข้ามาเมืองวินด์เซอร์เพื่อร่วมเฉลิมฉลองวันชื่นคืนสุข ผลการสำรวจของอิปโซสพบว่า ความสนใจพิธีเสกสมรสอาจไปไกลมากกว่าแค่ในอังกฤษ ข้อมูลจากประชาชน 21,000 คนใน 28 ประเทศชี้ว่าประชาชนในอังกฤษ 34% อย่างน้อยๆ ก็ค่อนข้างสนใจ ในอินเดียตัวเลขสูงถึง 54% แอฟริกาใต้ 49%

นักมานุษยวิทยาคนดังกล่าวว่า พิธีเสกสมรสเป็นเทพนิยายของผู้ใหญ่จึงเรียกความสนใจได้เป็นวงกว้าง

“เรื่องแบบนี้นานๆ เกิดขึ้นทีและแล้วเทพนิยายก็เป็นจริง เพียงแค่นาทีเดียวเราทุกคนก็เคลิ้มตาม”

เนื่องจากมาร์เคิลเป็นชาวอเมริกัน สัดส่วนประชากรที่สนใจพิธีมีมากถึง 34% สำหรับโอคอนเนอร์มองว่า นี่คือหลักฐานชี้ว่า ชาวอเมริกันต้องการตัวแทนของปู่ย่าตายาย อุดมคติแห่งเสถียรภาพที่เหนือกว่าการทะเลาะเบาะแว้งกันของนักการเมือง มีความหมายถึงการดูแลประเทศ

“สถาบันเป็นเรื่องของโครงสร้างและระเบียบที่อยู่เหนือความโกลาหลของประชาธิปไตย อย่างที่คุณเห็นตัวอย่างจากประธานาธิบดีอเมริกัน พระองค์ทรงอยู่เหนือทุกอย่างและดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง ประธานาธิบดีเปลี่ยนแปลงทุก 4 หรือ 8 ปี แต่สถาบันกษัตริย์อยู่ชั่วนิรันดร์”