‘แอนตี้เอจจิ้ง’หัวข้อวิจัยมาแรง

‘แอนตี้เอจจิ้ง’หัวข้อวิจัยมาแรง

แนวโน้มทิศทางงานวิจัยด้านสุขภาพทั้งในไทยและต่างประเทศ จะเน้นประเด็นการดูแลและป้องกันก่อนเกิดโรค ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากสังคมสูงอายุที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ

ก้าวสู่ปีที่ 18 ของการเปิดรับสมัครผลงานวิจัยไทยร่วมชิงทุน “แบรนด์ เฮลธ์ รีเสิร์ช อวอร์ด” หรือชื่อเดิม “เซเรบอส อวอร์ด” วงเงินไม่เกิน 5 แสนบาทต่อทุน ไม่มีข้อผูกมัดใดๆ วัตถุประสงค์เพื่อมุ่งพัฒนาองค์ความรู้ของคนไทยสู่นานาชาติและยกระดับวงการสาธารณสุขไทย ที่ผ่านมาให้การสนับสนุนไปแล้วกว่า 56 ผลงาน

กลุ่มแบรนด์ ซันโทรี่ เป็นองค์กรผู้นำด้านอาหารเสริมสุขภาพของเอเชีย ทำการตลาดภายใต้เครื่องหมายการค้า “แบรนด์” มีผลิตภัณฑ์จำหน่าย 19 ประเทศ ซึ่งตลาดหลักอยู่ที่ประเทศไทย ไต้หวัน สิงคโปร์ ฮ่องกงและมาเลเซีย ได้สนับสนุนให้มี “แบรนด์ เฮลธ์ รีเสิร์ช อวอร์ด” เฉพาะในประเทศไทยเพียงแห่งเดียวเท่านั้น

วิจัยไทยไม่แพ้ชาติใดๆ

น.ส.พุดตาน พงศ์พัฒนาไพบูลย์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท แบรนด์ ซันโทรี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ทุนวิจัยนี้จัดขึ้นเฉพาะประเทศไทย เนื่องจากเล็งเห็นความสำคัญในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพของนักวิจัยไทย ที่มีความสามารถไม่แพ้นักวิจัยต่างประเทศ จึงเข้ามาช่วยสนับสนุนและผลักดันผลงานวิจัยไทยให้มีโอกาสต่อยอดสูงเชิงพาณิชย์มากขึ้น

“ในอดีตนักวิจัยไทยขาดโอกาสและขาดทุนที่จะนำเสนอผลงานความรู้ให้ออกมาเป็นรูปธรรม ขณะที่ 17 ปีที่ผ่านมาทางโครงการสนับสนุนงานวิจัยไปแล้วกว่า 56 ผลงานที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการทั้งในประเทศและต่างประเทศ กระทั่งสามารถต่อยอดเชิงพาณิชย์ หรือนำไปใช้ประโยชน์แก่สังคมได้ในวงกว้าง”

สำหรับแนวโน้มทิศทางงานวิจัยด้านสุขภาพทั้งในไทยและต่างประเทศ จะเน้นประเด็นการดูแลและป้องกันก่อนเกิดโรค ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากสังคมสูงอายุที่ทั่วโลกกำลังเผชิญผู้บริโภคเริ่มตระหนักว่าสุขภาพดีปราศจากโรคภัยนั้นเป็นสิ่งจำเป็น โดยการบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย

ทั้งนี้ ทุนวิจัยแบรนด์เฮลธ์ฯ กำหนดเปิดรับสมัครผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับทางด้านโภชนศาสตร์ เภสัชศาสตร์ และสาขาที่เกี่ยวข้อง เช่น ผลิตภัณฑ์อาหาร สมุนไพร และยา รวมทั้งพฤติกรรมการบริโภคที่มีผลต่อโภชนบำบัดและการส่งเสริมสุขภาพ เพื่อชิงทุนวิจัยรวม 5 แสนบาทจำนวน 5 โครงการต่อปี โดยไม่มีข้อผูกมัด ตั้งแต่บัดนี้จนถึง 31 ก.ค.นี้

ต่อยอดผ่านเท็ดฟันด์

ตัวอย่างผลงานที่เคยได้รับทุนวิจัยแบรนด์เฮลธ์ฯ ปี 2559 “การพัฒนาและประเมินประสิทธิภาพของอุปกรณ์ถุงมือพาร์กินสันลดสั่น ในการลดอาการมือสั่นของผู้ป่วยโรคพาร์กินสันที่อาการสั่นนั้นไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยารับประทาน” โดยศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันและกลุ่มอาการเคลื่อนไหวผิดปกติ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

พญ.อรอนงค์ โพธิ์แก้ววรางกูล ผู้ร่วมทีมวิจัยจากภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หลังจากที่ได้รับทุนก็ได้ทำการวิจัยพัฒนาอุปกรณ์ถุงมืออย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเป็นเวอร์ชั่น 3 มีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา เพื่อเป็นต้นแบบในการผลิตใช้ในอนาคต ถือเป็นนวัตกรรมแรกในโลกที่ยังไม่มีใครทำมาก่อน และได้จดสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว

ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอขอทุนจากกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (TED Fund) ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นกองทุนสำหรับผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน พร้อมเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการเทคโนโลยีฯ และผลักดันการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ โดยให้การอนุมัติไม่เกิน 2 ล้านบาทต่อโครงการ

“อุปกรณ์ถุงมือลดสั่นถือเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่เป็นทางเลือกให้กับผู้ป่วยโรคพาร์กินสันที่อาการสั่นนั้นไม่ตอบสนองต่อยากินและไม่ต้องการผ่าตัดฝังชิพในสมอง ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 1 ล้านบาทและอาจมีผลข้างเคียงตามมาได้ อย่างไรก็ตาม ถุงมือนี้ไม่ได้มาทดแทนการผ่าตัด”

ปัจจุบันต้นแบบอุปกรณ์ถุงมือมีต้นทุน 7.5 หมื่นบาทต่อชุด ในอนาคตหากผลิตได้ในจำนวนมากน่าจะทำให้ราคาต่อชุดไม่เกิน 6หมื่นบาท แต่จะเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยพาร์กินสันในโรงพยาบาลเป็นหลักมากกว่าการผลิตและจำหน่ายเชิงพาณิชย์ นอกจากนี้ ในอนาคตมีแผนการที่จะพัฒนาเครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อด้วยไฟฟ้าเพื่อลดอาการเดินติดของผู้ป่วยพาร์กินสันโดยใช้หลักการเดียวกับถุงมือลดอาการสั่นอีกด้วย