รัฐดัน พ.ร.บ.คุ้มครองขายฝากที่ดินเพื่อการเกษตรฯ

รัฐดัน พ.ร.บ.คุ้มครองขายฝากที่ดินเพื่อการเกษตรฯ

รัฐดัน พ.ร.บ.คุ้มครองขายฝากที่ดินเพื่อการเกษตรฯ แก้ปัญหาที่ดินรายย่อยหลุดมือ หลังพบที่ดินการเกษตรเปลี่ยนมือจากการขายฝากเป็นจำนวนมาก

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล (กขร.) ที่ทำเนียบรัฐบาลวานนี้ (30 เม.ย.) ว่าที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการให้เร่งรัดการออก พ.ร.บ.คุ้มครองประชาชนในการทำสัญญาขายฝากที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัย พ.ศ....

เนื่องจากในปัจจุบันพบว่าเกษตรกรจำนวนมากประสบปัญหาที่ทำกินหลุดมือไปสู่นายทุนเนื่องจากมีการทำสัญญาขายฝากที่ดินอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งข้อมูลล่าสุดพบว่าจากที่ดินของประเทศไทย 300 ล้านไร่ เป็นที่ดินเกษตรกรรมประมาณ 150 ล้านไร่ ปัจจุบันมีที่ดินเกษตรกรรมที่ยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของเกษตรกรเองเพียงประมาณ 40 ล้านไร่ ขณะที่อีก 70 ล้านไร่เกษตรกรเช่าทำการเกษตรโดยไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ขณะที่อีก 30 ล้านไร่เป็นที่ดินติดสัญญาจำนองหรือสัญญาขายฝาก เฉพาะในส่วนที่มีการติดสัญญาขายฝากพบว่ามีเกษตรกรหลายแสนรายอยู่ในกลุ่มนี้ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียที่ดิน

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้มีการกำหนดสาระสำคัญใน 4 ส่วนได้แก่ 1.การกำหนดให้การขายฝากที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัย เป็นธุรกิจที่ต้องควบคุมสัญญาตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค โดยการการทำสัญญาขายฝากที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัยต้องทำเป็นหนังสือและต้องได้รับการตรวจสอบเนื้อหาของสัญญาโดยนิติกร/พนักงานที่ดิน ก่อนนำไปจดทะเบียน ณ สำนักงานที่ดิน

2.หากมีการแก้ไขข้อตกลงเพิ่มเติมเกี่ยวกับสัญญาขายฝากในภายหลัง ต้องได้รับการตรวจสอบจากนิติกร/เจ้าพนักงานที่ดิน หากมีการกำหนดข้อตกลงให้ผู้ขายยินยอมสละสิทธิการไถ่ถอนที่ดินให้ข้อตกลงเช่นนั้นเป็นโมฆะ 3.กำหนดให้ระยะเวลาในการทำสัญญาขายฝากที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมหรือที่อยู่อาศัยกำหนดระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปีหรือ 1 ปี 6 เดือน เพื่อให้มีความสอดคล้องกับระยะเวลาการทำการเกษตรซึ่งต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 1 ปีจึงจะถึงเวลาเก็บเกี่ยว และพบว่าการทำสัญญาขายฝากที่ผ่านมามีการกำหนดระยะเวลาทำสัญญาเพียง 3 – 4 เดือน เพื่อต้องการเอาเปรียบเกษตรกรที่จะต้องมาทำสัญญาใหม่และเรียกเก็บเงินค่าทำสัญญาใหม่ด้วยมูลค่าที่สูงเกินจริง

4.กรณีที่ผู้ขายฝากได้แสดงเจตนาไถ่ทรัพย์สินต่อผู้ซื้อฝากภายในกำหนดเวลาไถ่ แต่ผู้ซื้อฝากบอกปัดหรือหลีกเลี่ยง หรือมีเหตุขัดข้องไม่อาจรับไถ่ได้ ให้ผู้ขายฝากวางสินไถ่ไว้ ณ สำนักงานวางทรัพย์ ซึ่งเดิมจะต้องเดินทางไปวางทรัพย์ยังตัวจังหวัด แต่ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนดให้ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เป็นสำนักงานวางทรัพย์ด้วยเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ขายฝากมายื่นหลักทรัพย์ไถ่ถอนที่ดินและไม่ให้นายทุนใช้เป็นข้ออ้างในการยึดที่ดินได้โดยง่าย

“กฎหมายขายฝากที่มีอยู่ไม่สามารถป้องกันให้เกษตรกรสูญเสียที่ดินได้ รัฐบาลจึงมีความตั้งใจที่จะยกร่างกฎหมายขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหานี้ ซึ่งเดิมมีความพยายามจะแก้ไขกฎหมายนี้มากว่า 50 ปี แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ แต่ขณะนี้มีความคืบหน้าไปมากและนายกรัฐมนตรีให้เร่งดำเนินการคาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ภายใน 1 – 2 เดือน และคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในปีนี้ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้จะดำเนินการควบคู่กับการดำเนินงานควบคู่ไปกับการจัดทำธนาคารที่ดินซึ่งกระทรวงการคลังดำเนินการอยู่ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาการสูญเสียที่ดินของเกษตรกรได้มาก” นายกอบศักดิ์กล่าว