‘ปุ๋ยเจลบีด’ พลังเพิ่มไซส์หัวมัน-ลดต้นทุน

‘ปุ๋ยเจลบีด’ พลังเพิ่มไซส์หัวมัน-ลดต้นทุน

“ปุ๋ยเม็ดบีดสำหรับไร่มันสำปะหลัง” เป็นคำตอบจากโจทย์วิจัยเพื่อเกษตรกรชาวไร่มันสำปะหลัง ชูจุดเด่นเคลือบโพลีเมอร์จากสาหร่าย ช่วยการปลดปล่อยสารอาหารอย่างช้าๆ ใน 45 วัน ทำให้พืชดูดซึมธาตุอาหารได้เต็มประสิทธิภาพ ทดแทนการใส่ปุ๋ย 2 ครั้ง

“ปุ๋ยเม็ดบีดสำหรับไร่มันสำปะหลัง” เป็นคำตอบจากโจทย์วิจัยเพื่อเกษตรกรชาวไร่มันสำปะหลัง ชูจุดเด่นเคลือบโพลีเมอร์จากสาหร่าย ช่วยการปลดปล่อยสารอาหารอย่างช้าๆ ใน 45 วัน ทำให้พืชดูดซึมธาตุอาหารได้เต็มประสิทธิภาพ ทดแทนการใส่ปุ๋ย 2 ครั้ง ขณะที่เอกชนสนใจยื่นขอรับถ่ายทอดเทคโนโลยี

ปัญหาที่มักพบในแปลงมันสำปะหลังคือ รากมันดูดซับสารอาหารจากปุ๋ยมาใช้ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ทำให้หัวมันมีขนาดเล็ก ผลผลิตน้อยกว่าที่ต้องการ “ผศ.ณัฐบดี วิริยาวัฒน์” อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต มองเป็นโจทย์ที่ต้องการคำตอบให้แก่เกษตรกร โดยปกติแล้ว แปลงมันจะใส่ปุ๋ยเคมี 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อต้นมันอายุ 1.5-2 เดือน และใส่อีกครั้งเมื่อครบ 5 เดือน เนื่องจากปุ๋ยสูตร NPK นั้น ธาตุไนโตรเจน (N) ละลายเร็วมากเมื่อโดนน้ำหรือน้ำฝน อาจทำให้รากมันดูดซึมไม่ทัน ขณะที่ฟอสฟอรัส (P) ถูกตรึงไว้ด้วยอนุภาคดินเหนียวทำให้รากพืชดึงไปใช้ได้ยาก


งานวิจัยปุ๋ยเจลบีดควบคุมการปลดปล่อยธาตุอาหาร ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยพัฒนาเป็นปุ๋ยเคมีอินทรีย์ที่เคลือบด้วยสารโพลีเมอร์ธรรมชาติจากสาหร่าย มีความหนาและความเข้มข้นที่เหมาะสมกับการปลดปล่อยปุ๋ยผ่านโพลีเมอร์เคลือบนี้อย่างช้าๆ โดยทดสอบสูตรที่ได้จากการใช้กล้อง SEM ถ่ายภาพพื้นผิวของปุ๋ยที่ผ่านการเคลือบ เพื่อดูระยะการปลดปล่อยทั้งในน้ำ ในดิน รวมถึงเก็บตัวอย่างน้ำและดินไปตรวจสอบปริมาณธาตุอาหารที่ปุ๋ยปลดปล่อยออกมา เพื่อเทียบสูตรเคลือบแต่ละสูตรและความต้องการใช้ธาตุอาหารของมันสำปะหลัง กระทั่งได้สูตรโพลีเมอร์เคลือบปุ๋ยที่ดีที่สุด


ผลทดสอบระดับห้องปฏิบัติการเป็นไปในทิศทางบวก ปุ๋ยเม็ดบีดสามารถปลดปล่อยธาตุอาหารทีละน้อย และหมดภายใน 45 วัน จากนั้นทีมวิจัยได้นำทดสอบกับแปลงมันสำปะหลังในสภาวะจริง สภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ เปรียบเทียบกับแปลงที่ใส่ปุ๋ยเคมีทั่วไป พบว่า แปลงที่ใส่ปุ๋ยเม็ดบีดให้ผลผลิตที่มากกว่า น้ำหนักหัวมันสำปะหลังสดและหัวแห้งมีมากกว่า ปริมาณแป้งก็มากกว่า ขณะที่ต้นทุนปุ๋ยต่างกับปุ๋ยเคมีทั่วไปไม่มาก เนื่องจากโพลีเมอร์ที่ใช้เคลือบราคาไม่สูง และการทยอยปลดปล่อยธาตุอาหารใน 45 วัน ทำให้เกษตรกรใส่ปุ๋ยเพียงครั้งเดียว จากปกติที่ต้องใส่ 2 ครั้ง จึงลดต้นทุนค่าจ้างแรงงานใส่ปุ๋ย ทำให้ต้นทุนการทำไร่ถูกลงและเป็นประโยชน์ให้แก่เกษตรกร นอกจากนี้ องค์ความรู้ที่ได้ยังทำให้สามารถวิจัยสูตรโพลีเมอร์ที่มีความหนาหลากหลายรูปแบบ ประยุกต์ใช้กับปุ๋ยเคมีสูตรอื่นๆ ที่ต้องการการปลดปล่อยธาตุอาหารให้เหมาะกับการดูดซึมของพืชอื่นๆ


ปัจจุบัน ปุ๋ยเม็ดบีดของมหาวิทยาลัยสวนดุสิตอยู่ระหว่างการยื่นจดสิทธิบัตร นอกจากปุ๋ยเม็ดบีดควบคุมการปลดปล่อยสารอาหารได้นาน 45 วันแล้ว ผศ.ณัฐบดี ยังมีผลงานวิจัยปุ๋ยชีวภาพอัดเม็ดผสมแบคทีเรีย มีคุณสมบัติ 3 อิน 1 ทั้งบำรุงดินในแปลงมันสำปะหลัง ป้องกันแมลงศัตรูพืชและย่อยสลายสารกำจัดวัชพืชตกค้างในดิน แก้ปัญหาปริมาณสารตกค้างในดิน ส่งผลให้คุณสมบัติของดินเปลี่ยนไปโดยกลายเป็นดินเหนียวมากขึ้น ผลผลิตมันสำปะหลังลดลง เพราะรากเจริญเติบโตไม่ดี และผลงานปุ๋ยนาโนซิลิคอนที่ทำให้ใบและลำต้นแข็งแรง เพลี้ยแป้งมันสำปะหลังสีชมพูซึ่งเป็นศัตรูสำคัญเจาะดูดไม่ได้ สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับนาข้าวหรือพืชชนิดอื่นๆ ได้ด้วย เช่น ไม้ประดับในอาคาร หรือพืชใบเลี้ยงเดี่ยวอย่างเช่น อ้อย