ศาลลดโทษจำคุก 7 ปี 'ศุภชัย' ยักยอกเงินคลองจั่น

ศาลลดโทษจำคุก 7 ปี 'ศุภชัย' ยักยอกเงินคลองจั่น

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้โทษจำคุก "ศุภชัย" อดีต ปธ.สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ยักยอกทรัพย์สำนวนแรกเบิกเงินเข้าบัญชีตัวเองปี 56 กว่า 22 ล้าน จากคุก 14 ปี 24 เดือนเหลือ 7 ปี

ที่ห้องพิจารณา 809 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันที่ 14 ก.ย.60 เวลา 09.30 น. ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดียักยอกทรัพย์สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น สำนวนแรกในคดีหมายเลขดำ อ.1739/2558 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อายุ 60 ปี อดีตประธานกรรมการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น เป็นจำเลย ในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ผู้อื่น และจัดการทรัพย์สินผู้อื่นโดยทุจริตในฐานะเป็นผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 353 , 354

โดยอัยการโจทก์ ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 18 พ.ค.58 ระบุความผิดสรุปว่า เมื่อวันที่ 9 เม.ย.56 สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด จัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2555 และที่ประชุมมีมติเลือกนายศุภชัย จำเลย เป็นประธานกรรมการดำเนินการสหกรณ์ชุดที่ 29 อยู่ในตำแหน่ง 2 ปี ต่อมานายทะเบียนสหกรณ์ได้ตรวจสอบพบว่า การเรียกประชุมใหญ่ไม่เป็นไปตามข้อบังคับ และกฎหมาย นายทะเบียน จึงมีหนังสือลงวันที่ 23 เม.ย.56 ไม่รับรองตำแหน่งประธานกรรมการ จากการประชุมดังกล่าว ต่อมาสหกรณ์ยูเนี่ยนฯ ได้ประชุมใหญ่วิสามัญและมีมติให้การรับรองนายศุภชัย จำเลย เป็นประธานกรรมการดำเนินการสหกรณ์อีกครั้ง และยังเปิดประชุมคณะกรรมการดำเนินการชุดที่ 2 สมัยสามัญ ครั้งที่ 1/ 2556 และมีมติแต่งตั้งนายศุภชัย จำเลย ปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการสหกรณ์ฯ อีกตำแหน่งด้วย กระทั่งวันที่ 10 เม.ย. – 8 ต.ค.56 จำเลยซึ่งเป็นประธานกรรมการสหกรณ์ยูเนี่ยนคลองจั่นฯ ได้กระทำการทุจริต โดยให้เจ้าหน้าที่บัญชี เบิกเงินสดของสหกรณ์ ผู้เสียหาย หลายครั้งหลายหนรวม 8 ครั้งๆ ละระหว่าง 184,000 บาท - 6 ล้านบาท รวม 22,132,000 บาทเข้าบัญชีของจำเลยหรือบุคคลที่ 3 โดยทุจริต เหตุเกิดที่ทำการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กทม.

ซึ่งชั้นพิจารณา จำเลยขอกลับคำให้การจากปฏิเสธ เป็นให้การรับสารภาพ และศาลชั้นต้น จึงมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 8 มี.ค.59 ว่าการกระทำของจำเลย เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก ฐานยักยอกทรัพย์ ,353 ฐานเป็นผู้ได้รับมอบหมายจัดการทรัพย์สินฯกระทำการทุจริตต่อหน้าที่โดยทำให้เกิดความเสียหายกับทรัพย์สินนั้น ,354 ฐานกระทำผิดในฐานะผู้จัดการทรัพย์สินนั้นเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้จำคุกทั้งสิ้น 8 กระทงๆละ 3 – 5 ปี จำเลยรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยไว้ 14 ปี 24 เดือน แต่เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่านับเป็นเรื่องร้ายแรง โทษจำคุกจึงไม่มีเหตุให้รอลงอาญา

ต่อมาจำเลย ยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลลดโทษหรือลงโทษสุานเบา ซึ่งระหว่างการอุทธรณ์ ฝ่ายจำเลยได้นำแคชเชียร์เช็คชดใช้เงินคืนกับสหกรณ์ฯผู้เสียหาย ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ประมาณ 27 ล้านบาทเศษ

โดยวันนี้ ศาลเบิกตัวนายศุภชัย จำเลยมาจากเรือนจำยางขวาง เพื่อฟังคำพิพากษาเพราะตลอดการพิจารณาคดีไม่ได้รับการประกันตัวขณะที่อัยการได้ยื่นฟ้องนายศุภชัยความผิดอื่นที่กระทำต่อสหกรณ์อีก 3 สำนวนฐานฉ้อโกงประชาชนและฟอกเงินซึ่งไม่ได้รับการประกันตัว

เมื่อถึงเวลาศาลจึงได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ซึ่งศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้ว ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าได้ชดใช้ค่าเสียหายก่อนถูกฟ้องและสหกรณ์ผู้เสียหายได้รับเงินคืนแล้ว ถือเป็นเรื่องทางแพ่งที่มีการชดใช้ครบถ้วนแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ส่วนที่อุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาจากการที่ได้ชดใช้ค่าเสียหายเมื่อปี 2557 ขอให้ปราณีจากการที่ศาลชั้นต้นลงโทษสูงไปนั้น อุทธรณ์ข้อนี้ฟังขึ้น

แต่ที่อุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยเป็นประธานสหกรณ์ฯ เป็นที่ไว้วางใจของประชาชน การที่จำเลยยักยอกทรัพย์มีผลกระทบต่อกิจการของสหกรณ์ ทำให้ขาดความไว้วางใจ การยักยอกทรัพย์ดังกล่าวยังทำให้เกิดความเสียหายร้ายแรง จนต้องฟื้นฟูกิจการ แม้มีการชดใช้ค่าเสียหายแล้ว ก็ไม่มีเหตุสมควรรอการลงโทษ

ศาลอุทธรณ์ จึงพิพากษาแก้เป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา 353 ประกอบ 354 ให้จำคุก 8 กระทงๆละ 1-2 ปี รวมจำคุก 14 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยทั้งสิ้น 7 ปี

ภายหลัง นายวันชัย บุนนาค ทนายความของนายศุภชัย เปิดเผยว่า เดิมศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยตามมาตรา 352 วรรคแรก, 353, 354 แต่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าการกระทำของนายศุภชัยเป็นการกระทำความผิดฐานเป็นผู้มีหน้าที่จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นฯ แต่ศาลก็ยังเห็นว่าที่จำเลยมีการชดใช้เงินที่ยักยอกจำนวน 27 ล้านบาท คืนแก่ผู้เสียหาย เป็นการบรรเทาความร้ายแรง จึงเป็นเหตุให้ลดโทษเหลือ 14 ปี ประกอบกับจำเลยรับสารภาพ ลดโทษจำคุกเหลือ 7 ปี ซึ่งในส่วนการชดใช้ตนเคยหยิบยกมาให้มีการขอถอนฟ้องคดีเพราะความผิดยักยอกทรัพย์ยอมความกันได้ แต่ศาลอุทธรณ์ยกคำขอร้องในประเด็นนี้เนื่องจากเห็นว่าการขอถอนฟ้องคดีเป็นอำนาจของนายทะเบียนสหกรณ์ ซึ่งตนจะนำข้อโต้แย้งดังกล่าวขึ้นสู่ศาลฎีกาพิจารณาวินิจฉัยต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานสำหรับคดีที่เหลือของนายศุภชัย ประกอบด้วย 1.คดีหมายเลขดำ อ.3339/2559 ที่อัยการสำนักงานคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ ฟ้องนายศุภชัย กับพวกรวม 11 ราย ฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 , 343 กรณีระหว่างเดือน ม.ค. 51- ธ.ค.55 พวกจำเลยร่วมกันหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ โดยจำเลยทั้งหมดทำสัญญากู้ยืมเงินระหว่างสหกรณ์ฯ กับสมาชิกสมทบซึ่งเป็นนิติบุคคลหรือคณะบุคคลที่ไม่ได้ถือหุ้นในสหกรณ์ จำนวน 28 ราย รวมเงินสัญญากู้ยืม 11,858,440,000 บาท โดยมิได้มีการกู้ยืมเงินกันจริง ซึ่งโจทก์ขอให้ศาลสั่งจำเลยทั้งหมดร่วมกันคืนเงินให้ผู้เสียหาย รวม 2,254 รายด้วย โดยคดีนี้อัยการยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 11 พ.ย.59

2.คดีหมายเลขดำ ฟย.47/2559 อัยการคดีพิเศษ 4 ยื่นฟ้อง นายศุภชัย , น.ส.ศรัณยา มานหมัด อดีตรองผู้จัดการสหกรณ์ , นางทองพิน กันล้อม อดีตกรรมการ ฐานสมคบกันฟอกเงินและร่วมกันฟอกเงินกับพระธัมมชโย อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 โดยอัยการยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 30 พ.ย.59

3.คดีหมายเลขดำ ฟย.6/2560 อัยการคดีพิเศษ 4

ยื่นฟ้องนายศุภชัย , น.ส.ศรัณยา , นางทองพิน และนายสถาพร ฐานร่วมกันฟอกเงิน

โดยคดีนี้อัยการยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 28 ก.พ.60