‘หุ่นยนต์’ท้าทายศักยภาพมนุษย์

‘หุ่นยนต์’ท้าทายศักยภาพมนุษย์

ไคลม์เบอร์- หุ่นยนต์เคลื่อนที่ต้านแรงโน้มถ่วงต้นแบบ จากโครงการพัฒนาลิฟต์ขนส่งจากโลกสู่สถานีอวกาศ (Space Elevator) แสดงศักยภาพให้คนไทยได้ประจักษ์ ณ ยอดอาคารภิรัชทาวเวอร์ แอท ไบเทค ร่วมสร้างสถิติระยะการเดินทางขึ้นได้สูงสุดครั้งแรกในอาเซียน

JSEA ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2551 มุ่งมั่นพัฒนาลิฟต์อวกาศเช่นเดียวกับประเทศเทคโนโลยีอื่นๆ ถือเป็นกุญแจดอกสำคัญแห่งโครงสร้างขั้นพื้นฐานของมวลมนุษยชาติ เพื่อไปสู่อวกาศ ไม่เพียงแต่มาแทนที่จรวดอวกาศเท่านั้น แต่ยังสามารถเป็นระบบขนส่งขนาดใหญ่ภายในระบบสุริยะจักรวาล

พาหนะสู่อวกาศ

“ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการคิดค้นชิ้นส่วนหุ่นยนต์ที่จะเคลื่อนที่จากภาคพื้นสู่อากาศ ซึ่งระยะการเดินทางขึ้นได้สูงสุดขณะนี้อยู่ที่ 1.25 กิโลเมตรจากพื้นดิน ในปี 2561 สมาคม JSEA จะร่วมกับโครงการ Space Elevator ของสหรัฐอเมริกาและยุโรป ในการจัดการแข่งขันระดับนานาชาติขึ้น ตั้งเป้าพัฒนาศักยภาพให้ได้สูงถึง 10 กิโลเมตรจากพื้นดิน ซึ่งเป็นระยะทางที่เข้าสู่ชั้นบรรยากาศ” ชูอิจิ โอโน่ นายกสมาคมลิฟต์อวกาศญี่ปุ่น (JSEA) กล่าว

หุ่นยนต์ที่จะทำหน้าที่เป็นลิฟต์อวกาศนี้ จะขนส่งวัสดุรวมถึงคนไปยังสถานีอวกาศ โดยในส่วนของหุ่นยนต์ไคลม์เบอร์จะเป็นระบบลิฟต์เคลื่อนที่แนวดิ่งขึ้นไปบนอวกาศโดยไม่มีเชือกหรือเข็มขัดใดๆ หากประสบความสำเร็จนอกจากจะท้าทายความสามารถและศักยภาพของมนุษย์แล้ว ยังสามารถประยุกต์ใช้กับระบบคมนาคมอื่นๆ ก่อให้เกิดธุรกิจใหม่ เช่น การท่องเที่ยวในอวกาศ

“แม้ต้องใช้เวลาในการพัฒนาหุ่นยนต์ แต่เชื่อว่าในช่วงครึ่งศตวรรษหลังจะสำเร็จพร้อมใช้งานจริง” ชูอิจิ กล่าว

โครงการ Space Elevator จำเป็นต้องผสานเทคโนโลยีต่างๆ โดยเฉพาะการผลิตยานยนต์ ที่ญี่ปุ่นและไทยมีความโดดเด่น หากมีความร่วมมือกันก็จะทำให้การวิจัยและพัฒนาไปได้เร็วขึ้น ด้วยเหตุนี้ สมาคม JSEA จึงเชิญวิศวกรหุ่นยนต์ในประเทศไทย ส่งทีมพัฒนาเข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ ซึ่งนับเป็นประเทศแรกในอาเซียน ทั้งยังจัดการแสดงความสามารถของหุ่นยนต์ Climber ในงานแมนูแฟกเจอร์ริ่ง เอ็กซ์โป 2017 ระหว่างวันที่ 21-24 มิ.ย.นี้ วันละ 2 รอบ เวลา 11.30 น. และ 15.30 น. ณ ไบเทค บางนา


รัฐพร้อมผลักดัน

“สำหรับประเทศไทย เทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์และออโตเมชั่นเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมอย่างมาก” ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้ก่อตั้งสถาบันหุ่นยนต์ภาคสนาม (FIBO) และกรรมการซูเปอร์คลัสเตอร์อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ กล่าวและว่า นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เรียกให้หารือในวันนี้ (20 มิย.) เกี่ยวกับคลัสเตอร์อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ โดยมีภาคอุตสาหกรรม 5 รายเป็นกลุ่มนำร่อง ปูนซิเมนต์ไทย พีทีที ซีพี โฮมโปรและดับบริวเอชเอ ทั้ง 5 บริษัทใหญ่นี้จะลงทุนอย่างต่ำ 3-4 หมื่นล้านในปี 2561
นัยยะการหารือครั้งนี้จะเป็นการรวบรวมข้อมูลเพื่อเสนอที่ประชุมคณะรัฐมตรีในสัปดาห์ต่อไป จะทำให้เห็นภาพรวมของโรโบติกส์และออโตเมชั่นในอุตสาหกรรมว่า จะมีนโยบายจูงใจอย่างไรบ้าง

“เราทำงานด้านหุ่นยนต์มานานแล้ว มีการศึกษาวิจัยและการแข่งขันมากมาย สามารถสร้างนักวิชาการหรือด๊อกเตอร์ด้านหุ่นยนต์มากกว่า 200 คน เป็นจำนวนมากพอสมควรที่จะแข่งได้ สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือ การตั้งคลัสเตอร์อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ แล้วดึงบุคลากรคุณภาพเหล่านี้เข้ามาช่วย" ดร.ชิตกล่าว

ที่สำคัญคือ พนักงานเดิมของอุตสาหกรรมนั้นจะมีการพัฒนาเพิ่มหรือ ReTrain อย่างไร และเนื่องจากจะมีการทำ Joint Venture และความร่วมมือจากนานาประเทศ โดยเฉพาะเรื่องระบบออโตเมชั่นและแอโรสเปซ จึงจำเป็นต้องมีหลักสูตรสร้างบุคลากรสายพันธุ์ใหม่สำหรับ 10 คลัสเตอร์เป้าหมาย

“นายกรัฐมนตรีเอาจริงมาก ต้องการให้คนไทยหลุดพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ขณะที่รองนายกฯ สมคิด ก็คิดเรื่องอีอีซี และ 10 คลัสเตอร์ที่ตอบโจทย์ รับลูกนายกรัฐมนตรี ตอนนี้เรื่องของนโยบายจูงใจให้เกิดการลงทุนด้านหุ่นยนต์และออโตเมชั่นในภาคเอกชนนั้นคือ การลดหย่อนภาษี 50% ที่จะออกมาแน่นอน รัฐบาลสนับสนุนเต็มที่แล้ว บุคลากรพร้อม ตอนนี้เหลือเพียงรอดูภาคเอกชนว่าจะลงมาเล่นด้วยไหม เราไม่ได้ขาดเรื่องคน ขอเพียงอย่าเป็นไฟไหม้ฟาง” ดร.ชิตกล่าว