มองพันธกิจ ‘ดีอี’ มุม ‘ชัชวลิต สรวารี’

มองพันธกิจ ‘ดีอี’ มุม ‘ชัชวลิต สรวารี’

ถึงยุคนี้อาจไม่จำเป็นต้องแยกเป็นสองกระทรวงแล้วก็ได้ จะลดขนาดของรัฐลง

หากย้อนเวลากลับไป เอ่ยชื่อ “ชัชวลิต สรวารี” แวดวงไอทีคงไม่มีใครไม่รู้จัก อดีตหนึ่งในผู้บริหารแถวหน้าของบริษัทไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด คนนี้ จากผลงานการขับเคลื่อนกฎหมายลิขสิทธิ์ ตลอดจนการเรียกร้องลดภาษีนำเข้าคอมพิวเตอร์ ปรากฎตัวตามหน้าสื่ออยู่บ่อยๆ

ปัจจุบัน ชัชวลิต ไม่ได้ห่างหายจากแวดวงไอซีที โดยดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัททรัสเต็ด รีฟอร์ม จำกัด ที่ปรึกษาด้านการบริหารและพัฒนาคนกับองค์กร สั่งสมประสบการณ์ เป็นผู้เชี่ยวชาญในแวดวงไอซีทีและทรัพยากรมนุษย์มายาวนานกว่า 3 ทศวรรษ

เมื่อสบโอกาสสนทนากัน มีมุมมองที่เฉียบคมต่อแนวนโยบายการขับเคลื่อนดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของรัฐในฐานะผู้คลุกวงใน บทบาทสนับสนุน

นายชัชวลิต มองบริบทของดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และบริบทของ Science & Technology ของประเทศแล้ว เห็นว่า น่าลองขยับ กฏแห่งความสำเร็จ ตามแนวคิดว่าควรจะเล่นบทบาทอะไรดี ในขณะที่หน่วยงานหลักต่างๆ ของประเทศ ยังคงรวมศูนย์งานเศรษฐกิจและสังคมเดิมๆ

หน่วยงานที่จะมีบทบาทและกระจายอำนาจแนวนอน (Horizontal Decentralization) งานบางอย่างให้หน่วยงานอื่นได้นั้นต้องเป็นหน่วยงานหลัก หรืออยู่ใน Core Process ของสายโซ่คุณค่าขององค์กรเท่านั้น เช่น หน่วยงานขายหรือหน่วยงานผลิตตกลงปลงใจในการ Decentralize งานไอซีทีให้หน่วยงานไอซีทีกลางซึ่งเป็นกระบวนการสนับสนุน (Supporting Process) ภายในสายโซ่คุณค่าเดียวกัน โดยในกรณีที่ไม่ได้ทำเช่นนี้ หน่วยงานทั้งสองจะต้องรับผิดชอบในการทำงานด้านนี้เอง ด้วยการเพิ่มขีดความสามารถที่จำเป็นเข้าไปในหน่วยงานของตัวเอง

ดังนี้หมายความว่า หน่วยงานไอซีทีไม่ได้มีหน้าที่ หรือ บทบาท หรืออำนาจใด ๆ ในการรวมศูนย์งานไอซีทีมาเป็นงานของตัวเอง เนื่องจากเป็นงานที่อยู่ในหน่วยงานสนับสนุน ตามกรอบของ Centralization/Decentralization

ไร้อำนาจสั่งการ
หากเปรียบ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นงานสนับสนุน จึงไม่มีบทบาทและอำนาจทั้งด้านนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับไอซีทีของหน่วยงานต่าง ๆ ที่อยู่ในกระบวนการหลัก

ดังนั้น ถ้ากระทรวงเหล่านี้ไม่ได้ยอมตกลงปลงใจที่จะกระจายศูนย์งานของตัวเองมาให้ทั้งสองกระทรวงนี้ แต่กระทรวงสนับสนุนทั้งคู่ใช้ดุลยพินิจของตัวเองเพียงอย่างเดียวแล้ว ก็จะประสบกับอุปสรรคมากมาย เริ่มจากการไม่ได้รับการยอมรับจากกระทรวงเจ้าของงานที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและสังคมโดยตรง ซึ่งเป็นงานหลักของประเทศ

อย่างไรก็ตามหากจะดูกรณีศึกษาของ Horizontal Decentralization ในประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จแล้วจะพบโครงการเอทีเอ็ม พูล ที่ธนาคารต่างๆ ได้กระจายศูนย์งานบางส่วนให้หน่วยงานไอซีทีที่เป็นศูนย์รับส่งการทำรายการเอทีเอ็มของลูกค้าต่างธนาคาร รวมทั้งกระทบยอดต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างกัน ทั้งนี้ด้วยความตกลงปลงใจของธนาคารทั้งหลายเหล่านั้นในการกระจายอำนาจและบทบาทของตัวเองบางส่วนให้ศูนย์ดังกล่าว ซึ่งศูนย์นี้ก็ทำหน้าที่เป็นเพียงผู้สนับสนุนธนาคารเหล่านี้เท่านั้น

ทั้งนี้ภาคเอกชน หากมองตามหลักการแล้ว ก็เป็นหน่วยงานหลักที่อยู่ในกระบวนการหลักของสายโซ่คุณค่าของประเทศ ที่รัฐต้องให้การสนับสนุนตามกรอบของการที่รัฐได้รับการกระจายศูนย์งานบางส่วนมาจากภาคเอกชน เช่น การพัฒนาขีดความสามารถของแรงงานให้เหมาะสมและเพียงพอ การลดภาระในการลงทุนเริ่มแรก การลดขั้นตอนในเชิงราชการเพื่อลดค่าโสหุ้ยต่างๆ การหาตลาดในต่างประเทศ เป็นต้น

แนะรวมกระทรวง
ลองวิเคราะห์พันธกิจของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับ ของกระทรวงดีอี เห็นว่าเป็นการสร้างผลผลิตให้ประเทศในด้านเดียวกันคือมี Key Result Areas เดียวกัน เพียงแต่ดิจิทัล เป็น Subset ของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งน่าจะมารวมกันทำ ซึ่งเมื่อมาถึงยุคนี้อาจไม่จำเป็นต้องแยกเป็นสองกระทรวงแล้วก็ได้ จะลดขนาดของรัฐลงได้


กลายพันธุ์หนุนอสังหา
นายชัชวลิต เห็นว่า การส่งเสริมดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม อาจกลายเป็นการดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ หากตีโจทย์ยังไม่แตก

เนื่องจากในสภาวะปัจจุบัน กำลังมี 2 ทางเลือกในการส่งเสริม โดยจะเลือกทางใดนั้น ขึ้นอยู่กับการตีโจทย์ของผู้รับผิดชอบ

ทางเลือกที่ 1 คาดการณ์ถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและเครือข่ายสื่อสารในชีวิตประจำวัน บ่งชี้ กฏ ระเบียบ ข้อกำหนดต่าง ๆ ทั้งด้านพิธีการราชการ ภาษีอากร และผลกระทบต่อผู้ประกอบการแบบเดิม ที่เกิดจากการนำวิธีการใหม่ๆ เหล่านั้นมาใช้กับสินค้าและบริการ หรือการมีธุรกิจแบบใหม่ขึ้นแทนแบบเดิม ต่อจากนั้นดำเนินการปรับปรุงแก้ไขปัจจัยสู่ความสำเร็จที่ล้าสมัยและเป็นอุปสรรคต่อการก้าวสู่สังคมดิจิทัล อย่างเร่งด่วน

ทางเลือกที่ 2 กำหนดพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นศูนย์กลาง สร้างอาคาร และสาธารณูปโภค และสิ่งอำนวยความสะดวกขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบการเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศและเครือข่ายสื่อสารมาเช่าใช้ กำหนดสิทธิประโยชน์ด้านภาษี การขนส่ง และการส่งออก ให้แก่ผู้เช่า ซึ่งทางเลือกนี้ยังต้องรออีกหลายๆ ปี หรืออาจไม่เกิดขึ้นได้เลย

“ผมเห็นว่า สองทางเลือกนี้มีความแตกต่างกันมาก ในแง่ของบทบาทของผู้รับผิดชอบ โดยหากเลือกผิด ผู้ส่งเสริมดิจิทัลฯ อาจมุ่งจะไปเล่นบทบาทของผู้ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ยังไม่เกิดขึ้น และที่สำคัญคือต้องรออีกหลายปี ซึ่งผมเห็นว่าบทบาทนี้ เป็นบทบาทของหน่วยงานอื่นที่มิใช่นักส่งเสริมดิจิทัลฯ ครับ นอกจากนั้นช่วงนี้ยังไม่เห็นการแถลง Action Plan ในการส่งเสริมดิจิทัลฯ ใดๆ ออกมา นอกจากวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ระดับมหภาคเท่านั้น ผมเลยรู้สึกเป็นห่วง”