เม็กซิโก Hola!

เม็กซิโก Hola!

ลบมาดร้ายสไตล์เม็กซิกันออกไปก่อน แล้วเดินทางไปรู้จักเม็กซิโกซิตีแบบถึงเนื้อถึงตัว และถึง‘หัวใจ’

24 ชั่วโมงกับการเดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิ แวะต่อเครื่องที่ฮ่องกงและอเมริกา จนได้มาเหยียบสนามบินนานาชาติ Benito Juarez ถือว่ายาวนานที่สุดในบันทึกการเดินทางของตัวเอง

ความง่วงและล้าจากการเดินทางและเวลาที่ต่างกันถึง 13 ชั่วโมง ทำให้เช้าแรกในเม็กซิโกซิตี ซึ่งตรงกับช่วงค่ำของประเทศไทย แบตเตอรี่ในร่างกายอ่อนลงไปพอประมาณ ถึงอย่างนั้นฉันก็ยังตื่นเต้นที่จะได้ไปทักทาย Hola! กับชาวเม็กซิกันที่ว่ากันว่าเป็นเจ้าของวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่และมีสีสันที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

-1-

ฟ้าใสๆ ของเดือนธันวาคม ทำให้อากาศตอนกลางวันไม่ร้อนไม่หนาว ระหว่างเดินทางฝ่าการจราจรของเมืองเม็กซิโกซิตีที่หนาแน่นสูสีกับมหานครกรุงเทพ ฉันพยายามไล่เรียงสิ่งที่พอรู้เกี่ยวกับประเทศนี้ ...เตกีล่า ทาโก้ ตอติญ่า มาการ์ริต้า ดูเหมือนทุกอย่างจะตกไปอยู่ในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เอาใหม่...คราวนี้ลองค้นลึกลงไปในสมองน้อยๆ (ติ๊กต๊อกๆๆๆ) ไม่ผิดหวัง...มีชื่อของชนเผ่ามายา แอซเทค ผุดขึ้นมาในความคิด ใช่แล้ว...ดินแดนแห่งนี้เคยเป็นที่ตั้งของอาณาจักรโบราณที่รุ่งเรืองทั้งทางด้านวัฒนธรรมและศิลปวิทยาการ

สำหรับนักเดินทางที่หลงใหลในประวัติศาสตร์ หรือแค่อยากรู้ให้มากกว่าแค่กินเที่ยว เพื่อทำความรู้จักกับอดีตของเม็กซิโกให้มากขึ้น เจ้าบ้านแนะนำให้ตรงดิ่งไปที่ พิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยาแห่งชาติ National Museum of Anthropology (Museo Nacional de Antropologia)

ที่นี่นอกจากจะนำเสนอประวัติศาสตร์อารยธรรมสำคัญของโลกเพื่อเชื่อมโยงต้นรากทางวัฒนธรรมของละตินอเมริกา ก่อนจะค่อยๆ ปรับโฟกัสเข้ามาที่เม็กซิโกในปัจจุบัน แล้วขีดวงให้เห็นกันชัดๆ เฉพาะเม็กซิโกซิตี ยังจัดแสดงโบราณวัตถุของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในดินแดนแถบนี้ไว้มากมาย ไฮไลท์ก็คือปฏิทินโบราณของชาวมายา ที่มาของคำร่ำลือวันสิ้นโลก 2012 ซึ่งยังอยู่ในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์

ทว่า ถ้าถามถึงความประทับใจ ต้องยกให้ผู้บรรยายประจำพิพิธภัณฑ์ซึ่งสามารถเล่าเรื่องได้อย่างน่าติดตาม จนอดถามไม่ได้ว่าเธอต้องเล่าอย่างนี้วันละหลายรอบ “ไม่เบื่อเหรอ” เธอบอกว่านี่คืองานที่รักและภาคภูมิใจ ...เป็นอันหมดคำถาม สาวไทยเดินตามเธอไปชมมุมนั้นมุมนี้อย่างว่าง่าย

ประวัติศาสตร์เม็กซิโกซิตี หรือ Ciudad de Mexico (CDMX) เมืองหลวงของประเทศเม็กซิโก เริ่มต้นเมื่อปี ค.ศ.1325 ในฐานะเมืองหลวงของอาณาจักรแอซเทค (Aztec City) ซึ่งเรียกว่า Tenochtitlan มีความเจริญรุ่งเรืองมากในยุคต้นๆ โดยตั้งอยู่บนเกาะกลางทะเลสาบ Texcoco ชาวแอซเทคสร้างเครือข่ายการคมนาคมทางน้ำเชื่อมต่อคลองสายต่างๆ และหมู่เกาะเข้าด้วยกันทำให้สามารถขยายและพัฒนาเมืองใหม่ได้อย่างต่อเนื่องและดำรงอยู่อย่างสงบสุขยาวนานถึง 200 ปี

กระทั่งในปี ค.ศ. 1519 ปัญหาเริ่มก่อตัวขึ้นพร้อมการมาเยือนของนายพลผู้นำกองเรือชาวสเปนชื่อ เออร์นัน กอร์เตส แม้ไม่ประสบความสำเร็จในการพยายามยึดครองอาณาจักรแอซเทคตลอดระยะเวลาสามปี แต่ในที่สุดหลังจากการสู้รบยืดเยื้อยาวนานถึง 79 วัน กอร์เตสก็สามารถเข้าควบคุมเมืองแอซเทคได้ และทำลายเมืองอย่างราบคาบ

การเข้ามาของสเปนทำให้ในเม็กซิโกซิตีมีสถาปัตยกรรมที่บันทึกทั้งร่องรอยของเจ้าอาณานิคมและบาดแผลของผู้ถูกปกครองไว้หลายต่อหลายแห่ง หนึ่งในนั้นคือ เทมโปเมยอร์ Templo Mayor ซึ่งอดีตเคยเป็นศาสนสถานหลักของแอซเทค สร้างขึ้นระหว่างศตวรรษที่ 14 และ 15 โดยตัวสถาปัตยกรรมโดนทำลายจนหมดสิ้นจากกลุ่มนักล่าอาณานิคมชาวสเปนเมื่อครั้งที่มายึดครองแม็กซิโก และสเปนได้เข้ามาสร้างสิ่งปลูกสร้างทับแทนที่เทมโปเมยอร์

หลังเม็กซิโกได้รับอิสรภาพจากสเปนใน ค.ศ.1821 ล่วงมาจนถึงศตวรรษที่ 20 ก็ได้มีการระดมทุนเพื่อขุดค้นซากโบราณสถานที่ฝังอยู่ใต้ผืนดิน ซึ่งทำให้พบวัดโบราณมากกว่า 6 วัดในบริเวณนี้และกลายเป็นแหล่งโบราณคดีกลางเมืองหลวงที่ห้อมล้อมด้วยอาคารจากยุคอาณานิคมและตึกรามทันสมัย

สำหรับคนที่สนใจสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียล ใกล้ๆ กันคือย่านเก่าที่เต็มไปด้วยอาคารอายุหลายร้อยปี แต่ที่ควรปักหมุดหยุดชมแบบจริงๆ จังๆ คือพระราชวังแห่งชาติ National Palace

ในอดีตพระราชวังแห่งนี้เคยเป็นพำนักของกอร์เตช หลังจากที่เขาพิชิตเม็กซิโกได้สำเร็จ แต่หลังจากที่ได้รับอิสรภาพที่นี่ได้ถูกใช้เป็นที่ทำการประธานาธิบดีและรัฐบาลกลางของเม็กซิโกในระยะเวลาหนึ่ง ตัวสถาปัตยกรรมมีการใช้วงโค้งเป็นองค์ประกอบหลักให้ความรู้สึกขรึมขลังแต่ไม่แข็งกระด้าง แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ชาวเม็กซิกันภูมิใจนำเสนอ

ทีเด็ดซ่อนอยู่ด้านในเริ่มจากโถงบันไดทางขึ้น ภาพจิตรกรรมบนฝาผนังสะท้อนเรื่องราวตั้งแต่อดีตจนถึงยุคสมัยของศิลปิน (ค.ศ.1521-1930) แน่นอนว่าในจำนวนภาพวาดที่เรียงรายอยู่บนผนังอาคาร ภาพความเลวร้ายภายใต้การปกครองของเจ้าอาณานิคมทั้งสเปน ฝรั่งเศส และอเมริกา รวมถึงเหตุการณ์การต่อสู้เพื่อปลดแอกเม็กซิโกจากสเปน ถูกนำเสนออย่างตั้งใจ โดยศิลปินที่มีชื่อเสียงของเม็กซิโกที่ชื่อ ดิเอโก ริเวรา (Diego Rivera) 

-2-

แม้จะเป็นความงามที่ซ่อนความเจ็บช้ำเอาไว้ แต่เม็กซิโกก็ยังใช้มรดกของเจ้าอาณานิคมเป็นแม่เหล็กทางการท่องเที่ยว หนึ่งในสถานที่ที่มีนักท่องเที่ยวไปเยือนมากที่สุดแห่งหนึ่งก็คือ พระราชวังอันหรูหรา Chapultepec Castle (Castillo de Chapultepec)

ปราสาทแสนสวยหลังนี้ตั้งอยู่บนเนินเขา Chapultepec Hill เหนือกรุงเม็กซิโกซิตี สร้างขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 18 เพื่อเป็นสถานที่พำนักของผู้สำเร็จราชการสเปน ปัจจุบันจัดแสดงภาพเขียนและข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ตั้งแต่ยุคที่ตกเป็นอาณานิคมของสเปนในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ไปจนถึงยุคปฏิวัติเม็กซิโกในปี ค.ศ.1910 รวมทั้งเหตุการณ์สุดสะเทือนใจในปีค.ศ. 1847 ที่เม็กซิโกซิตีถูกรุกรานจากอเมริกา

ครั้งนั้นได้เกิดการต่อต้านโดยเด็กหนุ่มชาวเม็กซิกัน พวกเขาห่อหุ้มตัวเองด้วยธงชาติและพร้อมใจกระโดดลงมาจากด้านบนของพระราชวังแห่งนี้เพื่อฆ่าตัวตายประท้วง ที่นี่จึงมีทั้งงานจิตรกรรมและอนุสาวรีย์เพื่อระลึกถึงวีรชนที่เสียชีวิตและความสูญเสียอีกครั้งของประเทศนี้

เราเดินผ่านบางหน้าที่โหดร้ายต่อไปยังชั้นบนของปราสาท บริเวณนี้ได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างดี เนื่องจากเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระจักรพรรดิแม็กซีมีเลียนที่หนึ่งและสมเด็จพระจักรพรรดินีคาร์ล็อทตาจากฝรั่งเศส ห้องต่างๆ ทั้งห้องนอน ห้องทรงดนตรี ห้องอาหารล้วนแล้วตกแต่งอย่างหรูหราและถูกจัดแสดงให้เหมือนเมื่อครั้งทั้งสองพระองค์ยังพำนักอยู่ที่นี่ จากระเบียงด้านนอกเมื่อมองลงไปจะเห็นทัศนียภาพของเมืองเม็กซิโกซิตีได้เกือบ 360 องศา ฉันมโนว่า...นี่คงเป็นมุมโปรดของผู้ปกครองจากต่างแดน

เม็กซิโกซิตี ใช่ว่าจะมีแต่ประวัติศาสตร์บาดแผล การสร้างสรรค์งานศิลปะก็ถือเป็นความภูมิใจของคนประเทศนี้ ที่ Palace of Fine Arts (Palacio de Bellas Artes) ศูนย์ศิลปะของเม็กซิโกซิตีภายใต้อาคารสไตล์อาร์ต นูโว เป็นที่รวบรวมผลงานทั้งจิตรกรรมฝาผนัง ออกแบบตกแต่ง รวมถึงการแสดงบัลเลต์ โอเปรา และดนตรีคลาสสิก

ที่นี่คือสถาบันศิลปะชั้นนำของเม็กซิโกและเป็นหนึ่งในสถานที่สำคัญทางสถาปัตยกรรมของเมือง สถาปัตยกรรมอาร์ตนูโวแห่งนี้สร้างขึ้นในปีค.ศ.1934 ตัวอาคารประกอบด้วยหลังคารูปโดมขนาดใหญ่และเสาหินอ่อน ห้องโถงด้านในมีพื้นที่กว้างขวาง สว่างด้วยแสงจากธรรมชาติที่ส่องลงมาจากโดมกระจกด้านบน ชั้นบนทั้งสามชั้นจัดแสดงงานศิลปะโดยเฉพาะ รวมถึงผลงานของนักวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังที่มีชื่อเสียงของเม็กซิโกด้วย

-3-

หากอดีตคือฉากหลังอันเขร่งขรึมของเม็กซิโก สีสันของวัฒนธรรมร่วมสมัยก็คือเสน่ห์ของปัจจุบันที่ถูกปรุงอย่างกลมกล่อมผ่านความกลมกลืนทางวัฒนธรรมของคนหลากหลายชาติพันธุ์

บนถนนสายเก่า สถาปัตยกรรมยุคอาณานิคมถูกประดับด้วย 'ปีญาตา' กระดาษอัดรูปทรงต่างๆ ที่ซ่อนของเล่นหรือลูกอมไว้ข้างใน ซึ่งจะถูกตีให้แตกเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของพิธีเฉลิมฉลอง

พิพิธภัณฑ์และสถานที่ประวัติศาสตร์ที่มีอยู่มากมาย เล่าเรื่องน่าตื่นตาตื่นใจไม่แพ้ตลาด ร้านอาหาร และย่านการค้า การแสดงข้างถนนทั้งดนตรีแบบดั้งเดิมและ Street Performance เติมความมีชีวิตชีวาให้เมืองนี้ไม่มีคำว่าเงียบเหงา

ว่ากันว่าถ้าอยากจะเห็นบรรยากาศแบบโบฮีเมียนของเม็กซิโกซิตี ต้องไปที่เมืองโคโยอะกัน (Coyoacan) เมืองเล็กๆ นี้เป็นพื้นที่เก่าแก่ที่สุดในเมืองหลวง ร่มรื่นไปด้วยต้นไม้และตึกรามบ้านช่องมรดกจากยุคอาณานิคมในศตวรรษที่ 16 ถนนบางสายยังปูด้วยหินขนาดใหญ่ ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์มีการจัดตลาดนัดงานศิลป์ มีผู้คนมาเปิดร้านแผงลอยขายสินค้าหัตถกรรม ท่ามกลางเสียงดนตรีสุดรื่นรมย์

สำหรับสายอาร์ต สายติสต์ เมืองนี้ยังเป็นบ้านเกิดของศิลปินหญิงที่โด่งดังที่สุดในเม็กซิโก ฟริดา คาห์โล (Frida Kahlo) ศิลปะเหมือนจริงและเหนือจริง ผลผลิตจากละครชีวิตจริงของเธอถูกร้อยเรียงอยู่ในบ้านสีฟ้า (Blue House) หรือ La Casa Azul บ้านหลังใหญ่ที่บันทึกทุกความรู้สึกนึกคิดของเธอ

ฟริดา เกิดวันที่ 6 กรกฎาคม ค.ศ.1907 บิดามีเชื้อสายเยอรมันฮังกาเรียน มารดาเชื้อสายสเปนกับอเมอริเดียน เธอป่วยเป็นโปลิโอตั้งแต่ 6 ขวบ ส่งผลให้ขาซ้ายลีบเล็กกว่าขาขวา เมื่ออายุ 18 ปีรถโดยสารที่เธอนั่งมาประสบอุบัติเหตุชนกับรถราง เธอบาดเจ็บสาหัสจนกระดูกสันหลังและกระดูกไหปลาร้าหัก ราวเหล็กทิ่มเข้าไปในมดลูก ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลนานถึง 9 เดือน ได้รับการผ่าตัดถึง 35 ครั้ง ซึ่งนั่นส่งผลให้เธอไม่สามารถมีลูกได้

แม้จะโชคร้ายต้องนอนอยู่เป็นเตียงเป็นเวลานาน แต่ช่วงเวลานั้นเองที่ได้มอบพรอันแสนวิเศษให้ เธอฝึกฝนการวาดภาพซึ่งส่วนใหญ่เป็นการวาดรูปตัวเองบนเตียงโดยดูจากกระจกที่ติดอยู่ด้านบน จนสร้างสรรค์ผลงานที่น่าทึ่งออกมามากมาย หลังจากนั้นเธอก็ได้รู้จักกับ ดิเอโก ริเวรา (Diego Rivera) ศิลปินมีชื่อของเม็กซิโกที่เธอชื่นชม ซึ่งอายุมากกว่าถึง 20 ปี ทั้งคู่สานสัมพันธ์จนตกลงแต่งงานกันในปีค.ศ.1932

ด้วยความเจ้าชู้ของริเวรา เขาแอบมีความสัมพันธ์กับสาวๆ อีกหลายคน ซึ่งฟริดาได้เขียนรูปที่แสดงการนับจำนวนชู้รักของสามีไว้ด้วย แต่ที่เลวร้ายก็คือ เธอจับได้ว่าหนึ่งในนั้นเป็นน้องสาวแท้ๆ ของตัวเอง ฟริดาจึงตัดสินใจแยกทางกับริเวลา ก่อนจะกลับมาอยู่ด้วยกันอีกครั้งในภายหลัง

ช่วงหนึ่งของชีวิตชัดเจนว่าเธอและสามีต่างเลื่อมใสในลัทธิคอมมิวนิสต์ โดยสร้างผลงานที่แสดงออกถึงแนวคิดฝ่ายซ้ายอย่างชัดเจน ที่สำคัญยังเชื้อเชิญสหายสนิทอย่าง ลีออน ทรอตสกี (Leon Trotsky) ผู้ลี้ภัยทางการเมืองจากสหภาพโซเวียตมาอาศัยอยู่ที่บ้านด้วย และเขาผู้นี้เองที่ร่ำลือกันว่ามีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับฟริดา

จะเป็นเพราะความทุกข์ แรงกดดัน หรืออะไรก็แล้ว ผลงานส่วนใหญ่ของฟริดาล้วนแสดงให้เห็นถึงชีวิตที่ขมขื่นทั้งจากสภาพร่างกาย อุบัติเหตุ ความสัมพันธ์กับสามี และการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ทว่า ที่น่าทึ่งคือชีวิตของผู้หญิงคิ้วเข้มคนนี้ หรือแม้กระทั่งเครื่องแต่งกายที่ต้องมีคลอเซ็ทใส่ไว้ตลอดเวลาเพื่อพยุงร่างกายที่ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ กลับเป็นแรงบันดาลใจให้กับศิลปินนักออกแบบชื่อดังระดับโลกอีกหลายคน

ฟริดาเสียชีวิตในปี ค.ศ.1954 หลังจากมีอาการกล้ามเนื้อขาตาย เธอต้องนอนนิ่ง ๆ อยู่บนเตียงเป็นเวลานาน สำหรับศิลปินหญิงที่เป็นทั้งเฟมินิสต์และคอมมิวนิสต์ เมื่อพูดถึงงานศิลปะของตนเองแล้ว เธอออกตัวว่า...

พวกเขาคิดว่าฉันเขียนภาพแนวเหนือจริง แต่จริงๆ แล้ว มันไม่ใช่ เพราะฉันไม่เคยเขียนภาพจากความฝันแต่เขียนจากความจริง

...........

แม้จะเป็นห้วงเวลาสั้นๆ ในเมืองที่ไม่เคยฝันอย่างเม็กซิโกซิตี แต่ฉันก็รู้สึกเหมือนได้ไปนั่งอยู่ในหัวใจนักสู้ของคนเม็กซิกัน ได้สัมผัสเรื่องราวที่เต็มไปด้วยสีสันของเมืองนี้ ...“Chau” เม็กซิโก 

การเดินทาง

การเดินทางไปเม็กซิโกซิตี ทำได้โดยนั่งเครื่องบินไปลงที่สนามบินนานาชาติ Benito Juarez ซึ่งรองรับเที่ยวบินที่มาจากยุโรปและสหรัฐอเมริกา และเนื่องจากสนามบินอยู่ไม่ไกลจากใจกลางเมือง สามารถใช้บริการขนส่งสาธารณะในเมืองที่มีทั้งระบบรถไฟใต้ดินครอบคลุมทั่วถึงทุกพื้นที่ รถโดยสารสาธารณะ รถแท็กซี่ รวมถึงรถรับจ้าง

สำหรับนักเดินทางชาวไทยที่ถือหนังสือเดินทางธรรมดา ต้องขอวีซ่าเพื่อเดินทางเข้าประเทศเม็กซิโกก่อน แต่ถ้ามีวีซ่าสหรัฐอเมริกาอยู่แล้ว สามารถเดินทางเข้าเม็กซิโกได้โดยไม่ต้องขอวีซ่าเม็กซิโกอีก โดยสามารถพำนักอยู่ได้ไม่เกิน 30 วัน