ซอฟต์แวร์ไทยเริ่มฟื้นคาดเติบโต 4%

ซอฟต์แวร์ไทยเริ่มฟื้นคาดเติบโต 4%

“ซิป้า” เปิดผลสำรวจตลาดซอฟต์แวร์ไทย คาดปี 2559 แนวโน้มโต 4% มูลค่าแตะ 5.4 หมื่นล้าน รับอานิสงส์เศรษฐกิจเริ่มฟื้น

นางสุวิมล เทวะศิลชัยกุล รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (ซิป้า) กล่าวว่า ภาพรวมตลาดซอฟต์แวร์ประเทศไทยปี 2559 ซึ่งรวมการผลิตซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์มีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง คาดว่าจะเติบโตราว 4.4% มูลค่ากว่า 54,893 ล้านบาท ขณะที่ปี 2560 จะเติบโต 4.3% มูลค่ากว่า 57,257 ล้านบาท


ปัจจัยหลักผลักดันโดยภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวดีขึ้นกว่าปีก่อนหน้า รวมถึงการปรับตัวรับการมาของเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างคลาวด์ อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ บิ๊กดาต้า ดาต้าอนาไลติกส์ การเติบโตของอีคอมเมิร์ซ รวมถึงการขยายตัวของการนำไอซีทีไปยกระดับธุรกิจในภาพรวม


อย่างไรก็ดี ที่ตัวเลขการเติบโตไม่ได้สูงมาก เนื่องจากรูปแบบการใช้งานซอฟต์แวร์เปลี่ยนไปจากการลงทุนเองไปเป็นเช่าใช้บนคลาวด์ หรือซอฟต์แวร์แอสอะเซอร์วิสมากขึ้น


หากแบ่งตามประเภท ปี 2559 ซอฟต์แวร์สำเร็จรูปจะมีมูลค่า 14,940 ล้านบาท โต 6.2% บริการซอฟต์แวร์ 39,953 ล้านบาท โต 3.8% ปี 2560 ซอฟต์แวร์สำเร็จรูป 15,738 ล้านบาท โต 5.3% บริการซอฟต์แวร์ 41,519 ล้านบาท โต 3.9%


ข้อมูลระบุว่า ปี 2558 อีคอมเมิร์ซไทยมีมูลค่า 31,274 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 1.1% ของตลาดรวมค้าปลีกในประเทศ


ส่วนสถานะการใช้ไอซีทีในประเทศไทย สิ้นปี 2558 มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 38 ล้านราย บรอดแบนด์ 6.2 ล้านราย โทรศัพท์เคลื่อนที่ 126% ผู้ใช้สมาร์ทโฟน 17.9 ล้านราย ตลาดสื่อสารมีมูลค่า 535,989 ล้านบาท อินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง 11.9 ล้านบัญชี โมบายแบงกิ้ง 10.4 ล้านบัญชี


สำหรับการผลิตซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์ประจำปี 2558 มีมูลค่ารวม 52,561 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากปี 2557 เพียง 1.2% สาเหตุเนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจซึ่งทำให้การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ทั้งในภาครัฐและเอกชนชะลอตัวตาม

นอกจากนี้ ตลาดกำลังปรับเปลี่ยนทั้งมุมผู้ใช้และผู้ผลิต มีทางเลือกให้ใช้บริการโดยไม่ต้องลงทุนเอง รวมถึงการเข้ามาของซอฟต์แวร์แอสอะเซอร์วิส ซึ่งทำให้ราคาซอฟต์แวร์ลดลงไปมาก แม้ว่าผู้ใช้จะมากขึ้น

ทั้งนี้ยกเว้นในกลุ่มธุรกิจขนาดกลางรายได้ระหว่าง 100 - 500 ล้านบาทที่เติบโตได้ต่อเนื่อง เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่ได้พึ่งพิงโครงการขนาดใหญ่

นายธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการสถาบันไอเอ็มซี ผู้ดำเนินโครงการสำรวจเผยว่า คลาวด์ส่งผลกระทบต่อมูลค่าการบริการซอฟต์แวร์ ส่วนไอโอทีกระทบต่อมูลค่าอุตสาหกรรมสมองกลฝังตัว เทรนด์ดังกล่าวมีนัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาด และเป็นปัจจัยหลักที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงการพัฒนานวัตกรรม รวมถึงการเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจในอนาคต

จากการสำรวจพบด้วยว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่กล่าวถึงการขาดแคลนบุคลากร หวังให้มีการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาให้ทันสมัย สอดรับกับความต้องการของอุตสาหกรรม

นอกจากนั้นรัฐควรเข้ามาสนับสนุนด้านการตลาดให้ผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างโอกาส รวมถึงเปิดช่องทางให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน ขณะเดียวกันเปิดช่องทางให้ซอฟท์แวร์เป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่สามารถตีมูลค่าได้

ด้านเทคโนโลยี หน่วยงานกำกับดูแลควรมีบทบาททำให้เทคโนโลยีเกิดการใช้งาน ควรมีซอฟต์แวร์ตั้งต้นให้นำไปต่อยอด มีบทบาทด้านการออกใบรับรอง ช่วยเหลือโดยวางนโยบายงดเว้นภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการวิจัยและพัฒนา พร้อมปรับปรุงกฏระเบียบให้สอดคล้อง วางโรดแมพชัดเจน ต่อเนื่อง สอดรับกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล

ปัจจุบันในประเทศไทยมีเทคสตาร์ทอัพจำนวน 348 ราย มูลค่าการลงทุนรวมที่เปิดเผยได้อยู่ที่ 1,188 ล้านบาท

การสำรวจปีนี้ได้ขยายประเภทการสำรวจเพิ่มขึ้นในกลุ่มสถาบันการศึกษาที่ผลิตบัณฑิตด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์และสารสนเทศ พร้อมรวบรวมข้อมูลกลุ่มผู้ประกอบการรายใหม่ด้านเทคโนโลยี (Tech Startup) สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐและทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และบริการซอฟต์แวร์