เทศกาลแข่ง“เรืองู”ลำยาวที่สุดในโลก

เทศกาลแข่ง“เรืองู”ลำยาวที่สุดในโลก

การแข่งเรือยาวในทะลสาบวัมบานาถ ทะเลสาบใหญ่ที่สุดในอินเดีย ประเพณีที่ตื่นเต้นท้าทายและจริงจังพอๆ กับการชนวัวในสเปน

ถ้าเอ่ยชื่อเมือง “โคชิ” (Kochi) คงไม่ค่อยมีใครรู้จัก  ทั้งที่แอร์เอเชียมีเที่ยวบินตรงเพียงสามชั่วโมงกว่าจากกรุงเทพฯ จะบอกให้ว่าทางใต้ของอินเดียมีอะไรให้เที่ยวชมมากมาย และทริปนี้ของเรายิ่งตื่นตาตื่นใจกว่าทุกครั้งในชมพูทวีป เพราะได้ไปเจอกับการแข่งเรือยาวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศ กับภูมิทัศน์รายทางที่ด้านหนึ่งเป็นทะเลอาหรับ อีกด้านเป็นแผ่นดินปรุพรุนเว้าแหว่งด้วยแอ่งทะเลสาบและสายน้ำลำคลอง ชุมชนแถวนี้ก็แตกต่างจากในท้องถิ่นอินเดียทั่วไป คือส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก เนื่องจากพวกโปรตุเกสและดัทช์เดินเรือมาตั้งหลักแหล่งค้าเครื่องเทศเมื่อหลายร้อยปีก่อน ทำให้อาคารบ้านเรือนโบสถ์วิหารเก่าแก่แถวนี้ดูไม่เป็น”แขก”เลยในสายตาเรา

การแข่งเรือยาวในทะลสาบวัมบานาถ ทะเลสาบใหญ่ที่สุดในอินเดีย เป็นประเพณีที่ตื่นเต้นท้าทายและจริงจังพอๆ กับการชนวัวในสเปน ทุกหมู่บ้านจะต้องมีเรือประจำถิ่น ต่างฝึกซ้อมเตรียมการล่วงหน้าหลายเดือน จนถึงช่วงเดือนส.ค.- ก.ย. ใกล้ฤดูเก็บเกี่ยว จะมีการแข่งเรือทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่นถึง 20 กว่าสนาม  เรืองู (snake boat) ของถิ่นนี้ถือเป็นเรือยาวที่ยาวที่สุดในโลก ใช้ฝีพายตั้งแต่ 100 ถึง 140 นาย ซึ่งหมายความว่า คนยิ่งมากก็ยิ่งต้องฝึกความพร้อมเพรียงอย่างหนักก่อนการแข่งขัน (เรือยาวที่แข่งกันในแม่น้ำน่านของเรา มีฝีพายประมาณ 60 นาย ก็ถือว่ายาวมากแล้ว)

ประวัติการแข่งเรืองู: ราว 400 ปีก่อน ราชาแห่งแว่นแคว้นต่างๆ ในปริมณฑลที่เรียกว่า “ทราวันคอร์” (Travancore) มีการสู้รบทางน้ำกันบ่อยครั้ง ราชาแห่งจัมปากาสะรี(Chempakasserry) ต้องปราชัยสูญเสียกำลังพลไปมากมาย จนพระองค์เริ่มเห็นประจักษ์ว่า สาเหตุสำคัญคือ กองเรือรบของพระองค์นั่นเอง เพราะแต่ละลำมีรูปทรงอุ้ยอ้าย อืดอาดล่าช้า จึงทรงบัญชาให้นายช่างออกแบบใหม่ จนได้เรือยาวที่บรรทุกทหารได้ถึงร้อยนาย และมีรูปร่างเพรียวลมแหวกน้ำได้รวดเร็ว ทั้งยังง่ายต่อการซุ่มซ่อนหลังแนวไม้ริมตลิ่งเพื่อบุกโจมตีข้าศึกที่ไม่ไหวทันด้วย เรือแบบใหม่ทำให้ราชาองค์นี้สามารถพิชิตศึกหลายครั้งติดต่อกัน และกลายเป็นรูปทรงเรือที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันกินเนสบุ๊คได้บันทึกว่า เรือยาวที่ยาวที่สุดในโลกชื่อเรือ Vellankulangara snake boat มีความยาวถึง 140 ฟุต

เมื่อนายกรัฐมนตรี เยาห์ราล เนห์รูเดินทางมาเยือน อะเลปเป้ (Alleppey 60 ก.ม. ทางใต้ของเมืองเก่าโคชิ) โดยทางเรือ เมื่อปี ค.ศ.1952  มีการจัดแข่งเรืองูต้อนรับเป็นที่ประทับใจจนนายกรัฐมนตรีกลับไปเดลลีแล้วสั่งทำถ้วยรางวัลเป็นรูปเรือเงินส่งมามอบให้ทีมชนะเลิศ และหลังจากนั้นก็ถือเป็นประเพณีแข่งเรือชิงถ้วยเนห์รูสืบมา จนถึงครั้งที่ 46  ในปี 2016 นี้

ทีมเราสิบคนไปเดินหามุมถ่ายภาพจับจองที่นั่งกันตั้งแต่สี่ชั่วโมงก่อนเริ่มการแข่งขัน โดยคาดคะเนว่าผู้ชมที่เส้นชัยคงแออัดยัดเยียดเกินไป จึงมุ่งมายังจุดสตาร์ทซึ่งอยู่ห่างจากเส้นชัย 1750 เมตร (ระยะทางที่เหล่าฝีพายจะต้องจ้ำสุดกำลัง!) แม้ริมตลิ่งแถวนั้นจะเป็นบ้านสวนรกๆ  ผู้คนจากทุกสารทิศก็ทยอยมานั่งรอใต้ร่มไม้อย่างสบายอารมณ์ และเราก็ได้เจรจาวิสาสะกับพวกเขาเป็นที่สนุกสนาน อัธยาศัยไมตรีของคนแถวนี้ทำให้รู้สึกสำนึกผิดกับอคติแบบไทยๆ ที่เคยมีต่อ “แขก” ทั้งยังสังเกตเห็นว่าแม้ถิ่นนี้จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ มีเกสต์เฮาส์และ boat house หรือเรือโรงแรมมากมาย แต่วิถีชนบทยังคงเรียบง่ายไร้มายา สุขอนามัยก็ไม่เห็นจะเป็นเหมือนเมืองใหญ่ในอินเดียที่ชาวไทยชอบเก็บมานินทากัน ไม่ค่อยมีป้ายไวนีลรกตาตามทิวทุ่งคุ้งน้ำ  ร้านอาหารยังคงเปิบข้าวแกงด้วยมือ จะไปไหนมาไหนถ้าไม่ใช้เรือก็รถตุ๊กๆ และค่าครองชีพถูกอย่างเหลือเชื่อ

“ปรี๊ด!” เสียงนกหวีดสัญญาณดังขึ้น เรือยาวที่เข้าซองประจำที่รอบละ 4 ลำ (แต่ละรอบมีการจับเวลาเพื่อเข้ารอบชิงชนะเลิศ) ต่างพุ่งปราดราวธนูหลุดจากแล่ง เสียงตะโกนเชียร์ เป่าแตรพลาสติกดังสนั่นแสบแก้วหู เราตื่นตะลึงตาค้างกับความว่องไวสง่างามของเรืองู ฝีพายนับร้อยจ้วงงัดพายพร้อมเพรียงเป็นหนึ่งเดียวกัน สนุกตื่นเต้นเสียจนการแข่งขันรอบแล้วรอบเล่าผ่านไปอย่างไม่รู้ตัว จนในที่สุดก็มาถึงรอบของเรือที่ฝีพายเป็นหญิงล้วนในชุดส่าหรี แต่ละทีมมีทั้งสาวรุ่นและคุณป้า เรียกเสียงกรี๊ดให้กำลังใจจากผู้ชมเป็นอันมาก

ได้มาชมการแข่งเรือชิงถ้วยเนห์รูที่อะเลปเป้ เหมือนได้ท่องเที่ยวประเทศอินเดียที่เราไม่เคยรู้จัก และหลงรักหมดใจ เสน่ห์ของอินเดียใต้ยังมีอีกหลายมิติ แต่ขอนำเสนอแค่เรื่องเรือก่อน เพราะกลางเดือนกันยายนนี้ ยังมีเทศกาลโอนัม (Onam) ที่มีทั้งแข่งเรือ ประดับดอกไม้ตามอาคารบ้านเรือน และขบวนแห่คาร์นิวาล ใครอยากเห็น unseen อินเดีย ไม่ควรพลาดโอกาสนี้ (สำหรับเรื่องวีซ่า ยื่นขอออนไลน์ ถ้าหลักฐานครบก็ได้ทันใจ ไม่ต้องรอลุ้นนานเหมือนพวกประเทศฝรั่งตะวันตก)

ยังไม่จบเรื่องอินเดีย คราวหน้าจะขอนำเสนอเรื่องนาฏศิลป์ถิ่นใต้ที่แปลกตาประทับใจพอๆกับเรืองู